เชื่อว่าคุณแม่ท้องหลาย ๆ คนคงพอจะทราบกันมาบ้างว่าถ้าเราท้องอ่อน ๆ ต้องทำอะไรให้ช้าลง ช้าลง และช้าลง ช้าจนไม่มั่นใจว่าท้องอ่อน ๆ จะเดินเยอะได้ไหม ยืนนานได้ไหม ถ้าเผลอทำไปจะมีผลอะไรกับลูกน้อยในครรภ์หรือเปล่า วันนี้เราจะมาเจาะลึกในเรื่องนี้กันค่ะ
สารบัญ
คนท้องเดินเยอะ ๆ ได้ไหม?
ต้องบอกว่ายังมีคุณแม่ท้องอีกหลายคนที่แม้จะท้องแต่ก็ยังต้องไปทำงานอยู่ ต้องเดินเยอะ เดินนาน ยืนนาน และนั่งนาน ซึ่งการเดินเยอะคงจะไม่น่ากังวลเท่ากับการเดินที่ผิดวิธี ซึ่งการเดินที่เหมาะกับคุณแม่ท้องมีดังนี้
- เปิดไหล่ให้ผายออก ไม่ต้องเกร็งนะคะ เดี๋ยวจะกลายเป็นเมื่อยมากกว่าเดิม
- ยืดหน้าท้องขึ้น เหล่านี้จะช่วยให้กระดูกช่วงหน้าอกและไหล่ขยายออก
ซึ่งเมื่อคุณแม่ยืนได้ถูกต้องแล้ว กล้ามเนื้อก็จะจำตำแหน่งที่ร่างกายเคยทำ หลังจากนั้นก็ค่อย ๆ เดินไปข้างหน้าช้า ๆ และมั่นคง
สิ่งที่ควรระวังสำหรับการเดินของคนท้อง
การขึ้น-ลงบันได
คุณแม่ท้องควรวางเท้าให้เต็มขั้นบันได เนื่องจากเวลาที่ขึ้น-ลงบันไดนั้น คุณแม่ต้องใช้กล้ามเนื้อขาในการช่วยยกตัว โดยที่ไม่เอนไปข้างหน้า
รองเท้าสำหรับคนท้อง
เก็บรองเท้าส้นสูงใส้ตู้เอาไว้ก่อนค่ะ เพราะรองเท้าที่เหมาะกับคุณแม่ท้องมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้น คือ รองเท้าส้นเตี้ย ควรเลือกที่นุ่มสบาย รองรับรูปทรงเท้า และรองรับน้ำหนักของคุณแม่และลุกในครรภ์ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ ควรพิจารณาพื้นรองเท้าให้มียางและดอกยางกันลื่น ไม่หกล้มง่าย การล้มไม่ว่าจะล้มไปด้านหน้าหรือด้านหลังก็อันตรายทั้งนั้นค่ะ
คนท้องนั่งท่าไหนถึงสบาย?
ท่านั่งของคนท้องก็มีความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะคุณแม่ที่ยังต้องนั่งทำงานนาน ๆ สิ่งที่ควรใส่ใจอันดับแรกคือ “เก้าอี้” ที่คุณแม่นั่งค่ะ หากเก้าอี้สูงไปจะทำให้คุณแม่นั่งขาลอย หรือถ้าหากเก้าอี้เตี้ย ๆ ไปก็ทำให้คุณแม่นั่งขางอมากเกินไปอีก หากคุณแม่ประสบปัญหานี้อยู่ให้ลองหาเก้าอี้มารองเท้านะคะ จะทำให้คุณแม่ได้พักขา ได้ยืดขา เพื่อที่จะให้เลือดได้ไหวเวียนได้สะดวก ขาก็จะไม่บวมมากค่ะ
แต่สำหรับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ได้ประมาณ 6 เดือนขึ้นไป ร่างกายจะมีการบวมขึ้นเป็นปกตินะคะ เพียงแต่การเอาเก้าอี้เตี้ย ๆ มารองนั้น เป็นการช่วยไม่ให้เท้าคุณแม่บวมมากขึ้นค่ะ
ท่านั่งที่ถูกวิธีของแม่ท้อง
- ควรปรับระดับความสูงของเก้าอี้ให้พอดีกับการวางเท้า
- ท่านั่งของคุณแม่ ควรนั่งไหลตรง ให้ไหล่และสะโพกชิดเก้าอี้
- แขนวางบนที่วางแขนได้พอดี
คนท้องยืนนานได้ไหม?
ท่ายืนของแม่ท้องที่ถูกต้องและเหมาะสมมีดังนี้ค่ะ
- ยืนตัวตรง ให้เท้าแยกออกจากกันเล็กน้อย
- ทิ้งน้ำหนักตัวไปที่กลางเท้าและส้นเท้า
- ปล่อยไหล่ตามสบาย ไม่ต้องยืดมาก หรือเกร็ง
สำหรับคนท้องที่จำเป็นต้องเดินหรือยืนนาน ๆ เป็นธรรมดาที่จะมีอาการปวดเมื่อย เนื่องจากเลือดมีการไหลกลับน่อง และเท้าได้ช้าลง จนส่งผลให้คุณแม่ท้องบางคนเป็นตะคริว หรืออาจมีเส้นเลือดขอดได้
คนท้องยืนนาน ๆ ส่งผลอะไรกับลูกบ้าง?
ทุกครั้งที่คุณแม่ท้องจะมีความเสี่ยงอยู่เสมอ แต่ความเสี่ยงนั้นจะเสี่ยงมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพของคุณแม่เอง ประวัติย้อนหลังของครอบครัว รวมถึงการดูแลตัวเองด้วย เป็นต้น แต่ถ้าคุณแม่ฝากครรภ์ตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์แล้วก็จะได้รับการดูแลจากแพทย์เป็นอย่างดี เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ซึ่งหนึ่งในหลาย ๆ ปัจจัยเสี่ยงที่พบได้บ่อย ได้แก่ การยืนนาน ๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ ดังนี้
- มีอาการขาบวมและปวดขา เนื่องจากเลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น เหล่านี้ก็จะยิ่งทำให้การไหลเวียนของเลือดนั้นเป็นไปได้ยากมากขึ้น
- อาการปวดหลัง เนื่องจากมดลูกมีการขยายใหญ่ขึ้น และยื่นไปด้านหน้า จึงทำให้กล้ามเนื้อหลังทำงานหนักมากกว่าปกติ ซึ่งถ้ายืนนาน ๆ ก็จะทำให้ปวดหลังมากขึ้นนั่นเอง
- สำหรับกรณีที่ปากมดลูกสั้น ผนวกกับคุณแม่เดินเยอะก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการที่จะคลอดก่อนกำหนดมากขึ้น
คุณแม่ที่จำเป็นต้องทำงาน จำเป็นต้องเดินเยอะ ยืนนาน ๆ อาจทำให้มีอาการท้องแข็ง หากคุณแม่มีอาการนี้ ควรหยุดพักทันที เพราะมดลูกมีการบีบตัวมากแล้ว ซึ่งเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดได้ อย่างไรก็ตามคุณแม่ควรหาเวลายืดเส้นยืดสายบ้าง ไม่ควรเดินเร็วเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดค่ะ