คุณแม่มือใหม่หลาย ๆ คน อาจจะทั้งเหนื่อยกาย เหนื่อยใจกับอาการแพ้ท้องโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก กินไปเดี๋ยวก็อาเจียนออกมาอีก จึงทำให้รู้สึกว่าไม่กินแล้วดีกว่า อดอาหารซะอย่างนั้น แต่คุณแม่รู้หรือไม่ค่ะว่าการอดอาหารขณะตั้งครรภ์ ส่งผลต่อสมองของลูกได้นะคะ
สารบัญ
คนท้องอดอาหาร เสี่ยงกระทบต่อสมองลูกน้อย
คุณแม่มือใหม่หลายคนค่ะ ที่แพ้ท้องมากเสียจนตัวเองก็เหนื่อยกับการที่ต้องกินแล้วอาเจียนออกมา จึงเบื่อที่จะกิน และไม่อยากกินอาหารเลย ความจริงแล้วต่อให้คุณแม่จะแพ้ท้องหนักแค่ไหน ก็ควรจะกินอาหารไว้บ้าง วิธีง่าย ๆ ก็คือ ให้คุณแม่แบ่งมื้ออาหารออกเป็น 5 – 6 มื้อ ต่อวัน แต่ละมื้อให้กินในปริมาณน้อย ๆ ถ้าแพ้มากจริง เน้นกินอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่ายค่ะ ถ้าระหว่างมื้อหลัก คุณแม่สามารถจิบน้ำขิงอุ่น ๆ และแครกเกอร์ได้ แบบนี้ก็จะช่วยให้อาการแพ้ท้อง (เสียจนเหนื่อย) ดีขึ้น
แต่ลำพังว่า “อดอาหาร” เลยนี่ ไม่แนะนำเด็ดขาดค่ะ เพราะถึงแม้ในช่วงไตรมาสแรกลูกอาจจะยังไม่ต้องการสารอาหารอะไรมากจากคุณแม่ก็ตาม แถมคุณหมอก็ยังให้ยาบำรุงมาอีก (เสริมแคลเซียม ธาตุเหล็ก และโฟลิก) จึงอาจทำให้คุณแม่ยิ่งรู้สึกว่าไม่กินก็ไม่เป็นไรมั้ง …ผิดค่ะ เพราะหากคุณแม่อดอาหารจะส่งต่อสมองของลูกโดยตรง ซึ่งมีงานวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ มากมายทีเดียว
คนท้องอดอาหาร กับงานวิจัย
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับการอดอาหารในช่วงของการตั้งครรภ์โดยใช้แม่ลิงบาบูนที่อยู่ในศูนย์วิจัยลิงของมูลนิธิตะวันตกเฉียงใต้ เพื่อการวิจัยชีวแพทย์ (Southwest Foundation for Biomedical Research) แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1
เป็นกลุ่มแม่ลิงบาบูนที่ได้รับอนุญาตให้กินได้มากเท่าที่มันต้องการ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของการตั้งครรภ์
กลุ่มที่ 2
เป็นกลุ่มแม่ลิงบาบูนที่ถูกจำกัดการให้อาหาร ให้เหลือเพียงไม่ถึง 30% ต่อวัน โดยอาหารนั้นเป็นอาหารที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ผู้หญิงตั้งครรภ์กินได้ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์
ผลของงานวิจัย
ผลจากการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ นักวิจัยพบว่า ทารกในครรภ์ของแม่ลิงบาบูนที่ถูกควบคุมปริมาณอาหารนั้น ได้รับผลกระทบ คืออันตรายจากการเชื่อมต่อของเซลล์และการแบ่งเซลล์ รวมถึงพัฒนาการต่าง ๆ ในร่างกายนั้นลดลง และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ การที่ลูกลิงบาบูนได้รับสารอาหารที่มีอย่างจำกัด มีผลให้เกิดการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาท และยีนที่ทำหน้าที่ควบคุมเซลล์ สำหรับการเจริญเติบโต รวมถึงพัฒนาการด้านต่าง ๆ อีกด้วย
แม่ท้องควรกินอย่างไรไม่ให้อ้วน
เชื่อว่าคุณแม่ท้องหลายคนอาจจะกังวลว่าตัวเองท้องแล้วจะตัวบวม ตัวอ้วน อยากจะควบคุมอาหาร รักษาหุ่น เกรงใจตัวเองกลัวว่าหลังคลอดแล้วหุ่นจะไม่เซี๊ยะเหมือนเดิม ถ้าเป็นอย่างนี้ แนะนำให้คุณแม่ปฏิบัติดังนี้ค่ะ
กินมังสวิรัติ และโปรตีนจากแหล่งอื่นทดแทน
หากคุณแม่ยังคงมีความกังวลเรื่องน้ำหนักที่กลัวว่าจะเยอะเกินไป และจะไม่ลดลงหลังคลอด ลองเปลี่ยนมากินอาหารมังสวิรัติดูดนะคะ เน้นผักและผลไม้ ส่วนโปรตีนซึ่งเป็นสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการสร้างกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ให้กินอาหารจำพวกโปรตีนจากแหล่งอื่นแทน เพื่อที่ลูกน้อยจะได้สารอาหารที่มีประโยชน์อย่างครบถ้วนค่ะ
ออกกำลังกายเบา ๆ
หลังกินอาหาร คุณแม่สามารถเดินย่อย หรือออกกำลังกายเบา ๆ ได้ หรือถ้ากินอาหารไปแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง สามารถเล่นโยคะได้เบา ๆ เพื่อเป็นการช่วยย่อย และยืดเส้นยืดสายแบบนี้ก็จะไม่ทำให้คุณแม่อ้วนแล้วค่ะ
คำนวณน้ำหนักขณะตั้งครรภ์
หลังจากทำมาแล้ว 2 ข้อ คุณแม่ก็อย่าลืมชั่งน้ำหนักด้วยนะคะ ว่าต่ำกว่าเกณฑ์ไปหรือเปล่า เพราะถ้าหากผอมมากไป อาจส่งผลต่อลูก เสี่ยงต่อโรคติดเชื้อต่าง ๆ ลูกจะมีน้ำหนักน้อยหลังคลอด แต่ถ้ามีน้ำหนักที่มากเกินไปขณะตั้งครรภ์ก็จะมีความเสี่ยงอีกเช่นกัน เสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ และเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด
พยายามอย่าอดอาหารเด็ดขาด
“อดอาหาร” ห้ามเด็ดขาดเลยค่ะ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก ต่อให้คุณแม่จะแพ้ท้องหนักมากแค่ไหนก็พยายามอย่าอด เพราะลูกจะได้รับสารอาหารน้อยเกินไป ถ้าแพ้มากอาจเลือกกินอาหารที่มีสารอาหารจำเป็นสำหรับลูกน้อยก่อน เช่น โปรตีน แคลเซียม กรดโฟลิก ธาตุเหล็ก สังกะสี และไอโอดีน เป็นต้น
ถึงแม้ว่าคุณแม่ท้องจะมีอาการแพ้ท้องมาก แต่ไม่แนะนำให้อดอาหารนะคะ อดทนนิดค่ะคุณแม่ เพราะเมื่อไตรมาสแรกผ่านไปแล้ว อาการแพ้ท้องก็จะดีขึ้นแล้วค่ะ เป็นกำลังใจให้นะคะ