Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกที่เกิดจากแม่กินเหล้า ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและพิการ

ลูกที่เกิดจากแม่กินเหล้า ส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองและพิการ

เชื่อว่าทุกคนทราบกันดีค่ะว่าการกินเหล้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่…ก็อาจจะมีบางกรณีที่มีคุณแม่ท้องบางกลุ่มไม่สามารถเลิกเหล้าได้ ถ้าเป็นแบบนี้เหล้าจะส่งผลกระทบต่อลูกแน่นอน วันนี้เราจะมาดูกันค่ะว่าลูกที่เกิดจากแม่กินเหล้า จะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง และมีความพิการด้านใดบ้าง

ลูกที่เกิดจากแม่กินเหล้ากับโรคแอลกอฮอล์ซินโดรม

โรคนี้เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับแม่ตั้งท้องที่กินเหล้า ซึ่งจะมีความรุนแรงมากในช่วงอายุครรภ์ไตรมาสแรก (3 เดือนแรก) เนื่องจากมันจะไปทำร้ายเซลล์ประสาทและสมองของทารก นอกจากนี้ยังทำลายอวัยวะในส่วนต่าง ๆ ด้วย เช่น ใบหน้า แขน และขา ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นกลุ่มโรคที่เรียกว่า กลุ่มอาการผิดปกติของทารกในครรภ์จากการดื่มแอลกอฮอล์ของมารดา หรือ “FASD (Fetal Alcohol Spectrum Disorder)” จากสถิติที่พบ อัตราส่วนเด็ก 1,000 คน จะพบว่าเป็นโรคนี้ 9 คน

แม่กินเหล้าระหว่างตั้งครรภ์ส่งผลระยะยาวต่อทารกในครรภ์อย่างไร?

คุณแม่บางท่านอาจไม่สามารถเลิกได้และมีคำถามว่า “ถ้ากินเหล้าในปริมาณน้อย ๆ ได้ไหม?” คำตอบคือ ถ้าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ดื่มเพียงเล็กน้อยก็ยังส่งผลต่อทารกในครรภ์อยู่ดีค่ะ ซึ่งผลเสียดังกล่าวมีดังนี้

เกิดความผิดปกติของสมองและอวัยวะอื่น ๆ ของทารก

เช่น ทารกจะมีกระดูกสันหลังที่คด หน้าตาผิดปกติคล้ายเด็กปัญญาอ่อน หัวเล็ก จมูกแบน เกิดความบกพร่องต่อระบบหัวใจ และตาตก

เป็นเรื่องที่รู้กันมานานแล้วอีกเหมือนกัน รู้ว่าถ้าแม่กินเหล้ามาก จะมีผลให้ลูกปัญญาทึบ กระดูกสันหลังคด หน้าตาผิดปกติ เหมือนเด็กปัญญาอ่อน หัวเล็ก จมูกแบน ตาตก แต่ที่เพิ่งรู้กันเพิ่งรู้กันเมื่อไม่นานมานี้เอง ก็คือแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อยที่แม่กินก็มีผลต่อทารก และมีผลยาวนานไปตลอดชีวิต
ข้อมูลอ้างอิง hd.co.th

พัฒนาการช้า

มีผลงานการวิจัยชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยวิสคอนซินในสหรัฐอเมริกา ระบุไว้ว่า “ผู้หญิงที่ดื่มเหล้าแม้จะแค่วันละ 1 – 2 แก้ว ในช่วง 2 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ก็สามารถส่งผลต่อสมองและอวัยวะอื่น ๆ ของทารกได้

ผลเสียจากแอลกอฮอล์ตกค้างในทารก

เพราะร่างกายของทารกยังไม่สามารถขับสารพิษหรือขับแอลกอฮอล์ได้เหมือนผู้ใหญ่ ดังนั้น อาการของทารกที่เกิดจากแม่กินเหล้าในขณะที่ท้องจะมีความรุนแรงมากกว่าทารกที่เกิดมาแล้วกินนมแม่ที่มีแอลกอฮอล์ปนอยู่ในน้ำนมค่ะ

ภาวะทารกตายคลอด (Stillbirth)

กินเหล้าขณะตั้งครรภ์ส่งผลเสียและอันตรายอย่างมากกับทารก โดยมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ดังนี้

  • เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
  • การแท้งบุตร
  • เสี่ยงต่อภาวะทารกตายคลอด (Stillbirth) หรือก็คือการที่ทารกเสียชีวิตอยู่ในครรภ์คุณแม่นั่นเอง โดยมีอายุครรภ์ได้ 28 สัปดาห์ขึ้นไป
  • เสี่ยงต่อโรคไหลตาย หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ SIDs (Sudden Infant Death Syndrome)

การดูแลคุณแม่ที่มีพฤติกรรมติดเหล้าหรือดื่มเป็นประจำ

สมมติว่าทันทีที่คุณแม่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์และต้องการเลิกเหล้าทันทีก็อาจมีภาวะเสี่ยงได้แบบนี้ค่ะ

“เมื่อคุณแม่ลดการดื่มหรือหยุดการดื่มทันที จะมีโอกาสเกิดภาวะขาดสุราอย่างเฉียบพลันภายใน 6 – 12 ชั่วโมง หลังการดื่มสุราครั้งสุดท้าย ซึ่งจะเป็นอันตรายมากทั้งต่อตัวคุณแม่เองและทารกในครรภ์ ดังนั้น หากคุณแม่รู้ว่าตนเองเข้าข่ายนี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาในการถอนพิษสุราทันที”

การรักษาคุณแม่ที่ติดเหล้า

แพทย์อาจให้ยาในกลุ่ม Benzodiazepine ไปทานเป็นระยะเวลาสั้น ๆ วิตามินบี 1 และกรดโฟลิกเพิ่ม เพื่อเป็นการป้องกันการขาดโฟเลตของทารกในครรภ์จนส่งผลให้เกิดความผิดปกติของท่อประสาท (Neural Tube Defects)
ที่สำคัญ คุณแม่ควรไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์นัด เพื่อประเมินอาการอย่างใกล้ชิดเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน หลังเริ่มออกอาการขาดเหล้า รวมถึงเรื่องของการวางแผนคลอดค่ะ

ลูกน้อยที่อยู่ในครรภ์ เขาไม่สามารถเลือกดื่มหรือไม่เลือกดื่มอะไรได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญของการเป็นแม่ก็คือ การดูแลตัวเอง การเลือกกินอาหารที่เหมาะสมและถูกสุขลักษณะ เพื่อร่างกายที่แข็งแรงของลูกน้อย และเพื่อให้ลูกน้อยได้มีพัฒนาการที่ดีสมวัยค่ะ