Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

น้ำหนักทารกในครรภ์ จะเพิ่มได้อย่างไร แบบไหนต้องพบแพทย์

น้ำหนักทารกในครรภ์ จะเพิ่มได้อย่างไร แบบไหนต้องพบแพทย์

สำหรับคุณแม่แล้ว ช่วงตั้งครรภ์เป็นอะไรที่มีความสุขที่สุดแล้ว แต่ขณะเดียวกันถามว่ามีความกังวลอะไรไหม คำตอบคือ มีแน่นอนค่ะ โดยเฉพาะกับน้ำหนักของทารกในครรภ์ เพราะคุณแม่บางคนทานเยอะ ทานบ่อย บอกว่าลูกในครรภ์จะได้โตๆ แต่ความจริงแล้วจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ แล้วถ้าทารกในครรภ์มีน้ำหนักน้อย จะเพิ่มน้ำหนักได้อย่างไร

น้ำหนักทารกในครรภ์ ดูได้จากที่ไหน?

การอัลตราซาวด์

วิธีนี้จะเป็นการประเมินน้ำหนักของลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากแพทย์จะสามารถวัดขนาดของศีรษะและมองเห็นความสมบูรณ์ของร่างกายลูกน้อยได้ ซึ่งน้ำหนักของลูกในครรภ์จะประเมินได้จากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • ปริมาณน้ำคร่ำในท้องของคุณแม่
  • ขนาดความใหญ่ของหน้าท้อง
  • การลอยตัวทารกในน้ำคร่ำ

การตรวจร่างกาย

ใช้วิธีการวัดความสูงของยอดมดลูก ด้วยสายวัดนำมาวัดยอดระดับมดลูก โดยให้วัดจากระยะรอยต่อ ของกระดูกหัวหน่าวไปจนถึงยอดของมดลูก ให้แนบตามส่วนโค้งของมดลูก ทั้งนี้ในช่วงอายุครรภ์ที่ 18-30 สัปดาห์ นับเป็นช่วงเวลาที่จะสามารถสังเกตขนาดมดลูกได้อย่างชัดเจน และง่ายที่สุด หน่วยที่ใช้วัดจะเป็นเซนติเมตร ซึ่งจะเท่ากับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์ ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีอายุครรภ์ที่ 24 สัปดาห์ ดังนั้นควรวัดได้ 24 เซนติเมตร เป็นต้น

น้ำหนักตัวของคุณแม่

น้ำหนักตัวของคุณแม่เราจะไม่นับในช่วงไตรมาสแรกค่ะ เพราะคุณแม่บางคนมีอาการแพ้มาก ไม่สามารถทานอาหารได้มาก ก็อาจจะทำให้น้ำหนักยังไม่ขึ้นสักเท่าไหร่ การนับ เราจะนับหลังจากมีอายุครรภ์ครบ 3 เดือนแล้ว โดยน้ำหนักคุณแม่ควรขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 0.2-0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์

วิธีเพิ่มน้ำหนักทารกในครรภ์

  • การเพิ่มน้ำหนักทารกในครรภ์ คุณแม่ต้องศึกษาวิธีดีๆ นะคะ เพราะไม่อย่างนั้นน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาจะกลายเป็นน้ำหนักค้างตัวของคุณแม่แทน เพราะฉะนั้นเราไปดูวิธีการเพิ่มน้ำหนักทารกในครรภ์กันเลยดีกว่าค่ะ
    ทานอาหารที่หลากหลาย โดยเน้นในส่วนที่เป็นโปรตีน แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ไม่ทานคาร์โบไฮเดรตเลยนะคะ คาร์โบไฮเดรตทานได้ค่ะ แต่ให้น้อยกว่าโปรตีน โปรตีนที่มีประโยชน์ ได้แก่ ไข่ 10 ฟองต่อวัน นมวันละ 2 ลิตร โดยประมาณ

สำหรับโปรตีนจากนม คุณแม่ควรทานนมให้หลากหลาย ไม่ใช่แค่เฉพาะนมวัวอย่างเดียว แต่ยังมีนมจากพืชอื่นๆ ที่ให้โปรตีนได้มากเช่นกัน เพื่อป้องกันทารกแพ้โปรตีนจากนมวัวค่ะ

  • พักผ่อนให้เพียงพอ โดยปกติแล้วคุณแม่ตั้งครรภ์มักจะมีอาการอ่อนเพลียและต้องการการพักผ่อนที่มากกว่าปกติ ดังนั้น ถ้าคุณแม่สามารถงีบหรือนอนหลับพักผ่อนได้ก็ควรทำค่ะ การพักผ่อน สามารถทำได้โดยการไปเดินเล่นพักผ่อนที่สวนสาธารณะกว้าง เพื่อสูดอากาศบริสุทธิ์แบบนี้ก็ได้เช่นกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น หรือหากจะเป็นต้องใช้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่ หรือแม้ว่าคุณแม่ไม่ได้สูบบุหรี่ ก็ควรเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ด้วยนะคะ เพราะจะส่งผลต่อทารกในครรภ์ได้ค่ะ
  • ออกกำลังกาย คลายเส้นแต่พอดีและในท่าที่เหมาะสม เนื่องจากการออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อคุณแม่แข็งแรง ไม่อ่อนล้าง่าย ที่สำคัญ ขณะที่ออกกำลังกาย ร่างกายจะพาออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายและสมอง ทำให้คุณแม่มีสมองที่ปลอดโปร่งได้อีกด้วยค่ะ
  • หากคุณแม่หายจากอาการแพ้ท้องแล้ว โดยมากแพทย์จะแนะนำให้ทานทุกๆ 2 ชั่วโมง โดยเน้นเป็นผลไม้ เช่น กล้วยหอม 1 ลูก แอปเปิล ถัดไปอาจเป็นนมถั่วเหลือง หรือนมอัลมอนด์ แต่โดยรวมแล้วใน 1 วันคุณแม่ต้องทานให้ครบ 5 หมู่นะคะ
  • คุณแม่ท้องที่มีโรคประจำตัว ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดนะคะ

น้ำหนักทารกในครรภ์น้อยแบบไหนควรพบแพทย์

ช่วง 4 เดือนแรก น้ำหนักจะไม่เพิ่มขึ้น

ในช่วง 1-3 เดือนแรก คุณแม่ส่วนใหญ่มักต้องเผชิญกับอาการแพ้ท้องค่ะ กินเข้าไปเท่าไหร่ก็ออกมาเท่านั้น จนร่างกายเพลียและต้องการการพักผ่อนมากกว่า ส่วนเดือนที่ 4 จะเป็นช่วงที่คุณแม่เริ่มจะทานได้บ้างแล้ว หรือเรียกว่าเป็นช่วงทำน้ำหนักนั่นเอง แต่ก็ไม่ควรตามใจปากนะคะ เพราะจะกลายเป็นน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจะตกอยู่ที่คุณแม่มากกว่าลูกในครรภ์

ช่วง 3-6 เดือน น้ำหนักเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 กิโลกรัม/สัปดาห์

ช่วงนี้เริ่มทานได้มากขึ้น แต่ควรระวังไม่ให้น้ำหนักเพิ่มมากเกินไป เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคขณะตั้งครรภ์เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เสี่ยงต่อการคลอดธรรมชาติไม่ได้ รวมไปถึงระหว่างการคลอด ทารกอาจเสี่ยงต่อการติดไหล่ เป็นต้น

จะดีที่สุดหากคุณแม่จะเน้นทานอาหารที่มีโปรตีน และลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตลง พบแพทย์ตามนัด แต่ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ แพทย์จะนัดตรวจทุกเดือน แล้วจะเพิ่มความถี่ในการนัดให้มากขึ้น จากเดือนละครั้ง เป็นเดือนละ 2 ครั้ง ตลอดจนใกล้คลอด ระหว่างนี้คุณแม่ควรดูแลตัวเองและมีวินัยในการกินด้วยนะคะ เพื่อสุขภาพของคุณแม่และลูกที่แข็งแรงค่ะ