Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ มีแนวทางการดูแลรักษาอย่างไร

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ มีแนวทางการดูแลรักษาอย่างไร

มีคุณแม่หลายคนค่ะที่ก่อนหน้าการตั้งครรภ์ มีร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ดี แต่พอมาในช่วงตั้งครรภ์และมีอายุครรภ์ที่มากขึ้น กลับมีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ซะอย่างนั้น วันนี้เราจะมาพูดคุยถึงเรื่องนี้กันค่ะว่าภาวะนี้จะเกิดขึ้นกับคุณแม่ทุกคนไหม? อาการเป็นอย่างไร? และส่งผลกระทบอย่างไรกับการตั้งครรภ์บ้าง?

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ คืออะไร?

คือ ภาวะที่คุณแม่ตั้งครรภ์มีความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอท หรือสูงกว่า ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 20 สัปดาห์ขึ้นไป หากมีอาการร้ายแรงอาจถึงขั้นคุณแม่เสียชีวิตได้ ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะ ดังนี้

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์

คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีความดันโลหิตสูงที่ 140/90 มิลลิเมตรปรอท เพียงอย่างเดียว เกิดได้เมื่ออายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ขึ้นไป จนถึง 12 สัปดาห์หลังคลอด

ภาวะครรภ์เป็นพิษ และภาวะชัก

คุณแม่ตั้งครรภ์มีความดันโลหิตสูง 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับ มีการตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะที่มากกว่า 300 มิลลิกรัม ใน 24 ชั่วโมง โดยที่ก่อนหน้านี้คุณแม่ไม่เคยมีประวัติความดันโลหิตสูงเรื้อรังมาก่อน ร่วมกับ มีการตรวจพบไข่ขาวหรืออัลบูมิลในปัสสาวะ ซึ่งภาวะนี้จะกลับเป็นปกติเมื่อหลังคลอด

ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง

คุณแม่มีความดันโลหิตสูงที่เกิดขึ้นก่อนการตั้งครรภ์หรือก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์

ความดันโลหิตสูงทับซ้อนความดันโลหิตสูงเรื้อรัง

คือ ก่อนที่คุณแม่จะตั้งครรภ์ก็มีภาวะความดันโลหิตสูงเรื้อรังมาก่อนแล้ว และพอมาช่วงตั้งครรภ์ก็เกิดภาวะความดันโลหิตสูงทับซ้อนเข้ามาอีก

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร?

สาเหตุของการเกิดความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์นั้น ยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการพัฒนาของรกที่ผิดปกติ

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ มีแนวทางการรักษาอย่างไร?

หากคุณแม่มีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ คุณหมอก็จะมีแนวทางการดูแลรักษาหลัก ๆ ดังนี้

พิจารณาจากความรุนแรงของโรคและอายุครรภ์

หากคุณหมอพบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์เริ่มมีความดันโลหิตสูง คุณหมอก็จะพิจารณาให้นอนโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าดูอาการของทั้งคุณแม่และลูกน้อยอย่างใกล้ชิด ประเมินดูความรุนแรงของอาการ ซึ่งในรายที่มีความอาการครรภ์เป็นพิษรุนแรง จึงมีความจำเป็นที่ต้องให้ยากันชัก และยาลดความดันโลหิตสูง

ทั้งนี้ หากอายุครรภ์ใกล้ครบกำหนด หรือภาวะของโรคมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น ซึ่งก็จะมีแนวทางการรักษาคือ อาจให้ยุติการตั้งครรภ์ ในรายที่อายุครรภ์ใกล้ครบกำหนด หรือปากมดลูกพร้อมชักนำการคลอดทางช่องคลอด แต่ถ้าหากปากมดลูกยังไม่พร้อม หรือมีข้อบ่งชี้อื่น ๆ อาทิ รกเกาะต่ำ หรือทารกตัวโตเกินไป คุณหมอก็อาจพิจารณาเปลี่ยนเป็นการผ่าตัดคลอดแทน

หากอายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด

คุณหมอจะพิจารณาว่ายังสามารถควบคุมภาวะของโรคได้ ก็จะให้มีการตั้งครรภ์ต่อไป แต่ถ้าหากเห็นว่าภาวะของโรคมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะพิจารณาให้ยุติการตั้งครรภ์ เพื่อประโยชน์ต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

ทำอย่างไร เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์มีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์

หากคุณแม่ตั้งครรภ์ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูงที่มากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ส่วนใหญ่คุณหมอจะให้นอนพักเพื่อดูอาการอย่างใกล้ชิดที่โรงพยาบาล แต่ทั้งนี้ คุณแม่ต้องคอยสังเกตตัวเอง และมีแนวทางปฏิบัติตัว ดังนี้ค่ะ

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด ไม่กังวล
  • หมั่นนับการดิ้นของลูกน้อยครรภ์ทุกวัน หรือหลังมื้ออาหาร
  • สังเกตอาการที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าจะมีภาวะของโรคที่รุนแรงขึ้น
  • ไปตรวจและติดตามอาการตามที่คุณหมอนัด

ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน เพียงแต่คุณแม่ต้องหมั่นสังเกตอาการของตัวเอง ดูว่ามีอาการอะไรที่ผิดปกติหรือไม่ ที่สำคัญ คุณแม่ควรไปตรวจตามที่คุณหมอนัดทุกครั้ง ทั้งนี้ ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์สามารถหายได้หลังจากคลอดลูกแล้วอย่างช้าไม่เกิน 12 สัปดาห์หลังคลอด โดยที่คุณแม่ควรไปตรวจตามที่คุณหมอนัดทุกครั้งนะคะ