Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

คนท้องเป็นตะคริวตอนกี่เดือน ปฐมพยาบาลอย่างไร

คนท้องเป็นตะคริวตอนกี่เดือน ปฐมพยาบาลอย่างไร

ในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ร่างกายของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงไปมากและในหลาย ๆ ด้าน การเกิดตะคริวขณะท้องจึงเป็นเรื่องปกติ ว่าแต่คนท้องจะเป็นตะคริวตอนกี่เดือน อาการแบบไหนที่ควรพบแพทย์ และมีวิธีปฐมพยาบาลอย่างไร วันนี้เรามีข้อมูลมาฝากค่ะ

สาเหตุคนท้องเป็นตะคริว

การเกิดตะคริวในคุณแม่ท้อง เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุค่ะ

ขาดแคลเซียม และมีฟอสฟอรัสในเลือดมากไป

เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น สองขาของคุณแม่ต้องแบกน้ำหนักมากขึ้น ส่งผลให้ระบบการไหลเวียนของเลือดนั้นตึงแน่นเกินไป โดยเฉพาะบริเวณขา ส่งผลให้เกิดตะคริวได้ง่าย

กล้ามเนื้อ และเอ็นมดลูกขยายตัวตามขนาดทารก

อาการดังกล่าวนี้ทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัว ซึ่งมักมีอาการในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก การมีเลือดไปเลี้ยงมดลูกมากขึ้นจะทำให้คุณแม่รู้สึกหนักบริเวณหน้าท้องและรู้สึกอึดอัด ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้องช่วงล่างเป็นตะคริวได้

เกิดจากถุงซีสต์

โดยถุงซีสต์นี้เรียกว่า คอร์ปัสลูเทียม (Corpus luteal cyst) ซึ่งเป็นถุงน้ำปกติ แล้วจะต้องละลายหายไปหลังจากมีการปล่อยให้ไข่ออกไปปฏิสนธิกับสเปิร์ม แต่ถ้ามีกรณีถุงซีสต์ไม่สลายตัว จะทำให้เกิดการสะสมของของเหลวในถุงน้ำ ทำให้เกิดเป็นซีสต์ และตะคริวตามมา

มดลูกไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม

ตำแหน่งที่เหมาะสมก็คือ อุ้งเชิงกราน โดยมดลูกอาจยื่นออกมาด้านหน้า คืออยู่ในตำแหน่งเหนือกระเพาะปัสสาวะหรืออาจเป็นตำแหน่งที่ไปด้านหลัง เมื่อมดลูกขยายตัวทำให้ไปเบียดกับอวัยวะอื่น ๆ ส่งผลให้ระบบประสาทถูกกระตุ้น และเกิดเป็นตะคริวได้

การบีบตัวของมดลูกเล็กน้อย

ที่ว่าบีบตัวเล็กน้อย อาการคือคล้าย ๆ กับการปวดประจำเดือน คุณแม่จะรู้สึกหน่วง ๆ ที่อุ้งเชิงกราน บางครั้งอาการปวดที่เกิดขึ้นจะปวดไม่เท่ากันระหว่างด้านซ้ายและด้านขวา

การยืน เดิน นั่งเป็นเวลานาน

การเกิดตะคริวไม่ใช่เฉพาะแค่ท่ายืน หรือเดินเท่านั้น แต่ในช่วงเวลานั่งก็สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน ยิ่งถ้าคุณแม่คนไหนยังต้องทำงานอยู่ ต้องนั่งอยู่ที่โต๊ะเป็นระยะเวลานาน แบบนี้ก็ส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก มีของเสียคั่งบริเวณน่อง ทำให้กล้ามเนื้อมีการหดตัวเกร็งจนเกิดเป็นตะคริวได้

การไอ จาม หัวเราะ

เป็นแรงกดทับกะทันหันที่เกิดขึ้นกับช่วงหน้าท้องของคุณแม่ แบบนี้ก็สามารถเกิดตะคริวได้เช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

ผลจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนส่งผลหลายด้านกับคุณแม่ โดยเฉพาะเรื่องอารมณ์ และการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย การบีบตัวของมดลูกก็ทำให้เกิดตะคริวได้

อาการตะคริวแบบไหนที่คุณแม่ไม่ควรละเลย

  • มีเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด และไหลออกมามากขึ้นเรื่อย ๆ ร่วมกับมีอาการปวดแบเฉียบพลัน อาทิ ปวดหนักบริเวณหน้าท้องช่วงล่าง หรือปวดบริเวณหัวไหล่ เป็นต้น
  • รู้สึกว่ามีไข้
  • มีอาการปวดขณะปัสสาวะ จนทำให้คุณแม่ต้องเร่งปัสสาวะ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณว่าแท้งลูก ในบางครั้งการเป็นตะคริวก็หมายถึง ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธินั้นไม่ได้ฝังตัวในมดลูก แต่ว่าไปฝังตำแหน่งอื่นแทน เช่น ท่อนำไข่ ซึ่งเรียกกันว่า “การท้องนอกมดลูก” (คลิกที่นี่ >> “ท้องนอกมดลูก มีอาการอย่างไร จะอันตรายไหม

ท้องนอกมดลูกมีอาการอย่างไร? แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าท้องนอกมดลูก? อาการท้องนอกมดลูกที่สามารถสังเกตได้มีอยู่ 4 ข้อด้วยกัน ติดตามเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิกเลย

การปฐมพยาบาลคนท้องเป็นตะคริว

หากพบว่าคุณแม่เป็นตะคริว เราสามารถปฐมพยาบาลคุณแม่ได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • ค่อย ๆ ยืดกล้ามเนื้อออก โดยให้อยู่ในความยาวที่ปกติของกล้ามเนื้อนั้น ๆ ให้ยืดกล้ามเนื้ออยู่อย่างนั้นสักพัก หรือจนกว่าจะหายปวด อาจใช้เวลา 1-2 นาที โดยประมาณ จากนั้นค่อย ๆ ปล่อยมือ ลองดูว่ากล้ามเนื้อยังหดเกร็งอยู่หรือไม่ ถ้ายังมีอาการหดเกร็งอยู่ ให้ทำซ้ำ วนไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งอาการตะคริวนั้นหายไป หรือไม่มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อนั่นเอง
  • อาการเป็นตะคริวสามารถแก้ได้อีกหนึ่งวิธีคือ การดื่มนม และการกินอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง เช่น เมล็ดฟักทอง ผักใบเขียว ปลาตัวเล็กทอดที่สามารถกินได้ทั้งตัว แบบนี้ก็จะช่วยลดอาการตะคริวคนท้องได้
  • ขณะที่นอน ควรนอนโดยยกขาให้สูงขึ้นเล็กน้อย ใช้หมอนรองให้สูงขึ้นมาจากเตียงประมาณ 10 ซม. หรือ 4 นิ้ว

อาการตะคริวไม่ใช่อาการร้ายแรงแต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังไม่ใช่ว่าจะปลอดภัย 100% แต่สิ่งที่สำคัญ คุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเองในทุก ๆ วัน เพราะหากมีอะไรที่ผิดปกติเกิดขึ้น จะได้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาได้ทันท่วงทีค่ะ