Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ยาที่คนท้องห้ามกิน แม่ท้องควรรู้ถ้าไม่อยากเสี่ยงแท้ง

ยาที่คนท้องห้ามกิน แม่ท้องควรรู้ถ้าไม่อยากเสี่ยงแท้ง

ระหว่าง 9 เดือนที่คุณแม่ต้องอุ้มท้องลูกนั้น แน่นอนคงต้องมีซักวันที่คุณแม่จะไม่สบายบ้าง ปวดเมื่อยเนื้อตัวกันบ้าง ถ้าไม่ได้ท้อง “ยา” จะเป็นสิ่งแรกๆ ที่คุณแม่จะนึกถึงเพื่อช่วยบรรเทาอาการ แต่…หากแม่ท้อง ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีๆ หรือทางที่ดีปรึกษาคุณหมอที่คุณแม่ฝากครรภ์ค่ะว่ายาอะไรที่คนท้องห้ามทาน

การใช้ยาในคนท้อง

หากคุณแม่เกิดมีอาการไม่สบาย การเลือกใช้ยานั้นมีผลมาก เพราะยาจะส่งผลต่อลูกในท้องโดยผ่านทางรก ยาบางชนิดมีผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูกในท้องได้ ทั้งนี้ รวมถึงผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีโอกาสตั้งท้องอาจจำเป็นต้องมีการประเมินเรื่องการใช้ยาร่วมด้วยค่ะ
ยาบางชนิดนอกจากจะมีผลกับลูกในท้องในระยะครรภ์3-4 เดือนแรกแล้ว อาจยังมีผลต่อลูกในระยะใกล้คลอด หรืออาจมีผลต่อการแข็งตัวของหลอดเลือดในระหว่างการคลอดอีกด้วยค่ะ

ผลของการทานยาต้องห้ามสำหรับคนท้อง

หาคุณแม่ท้องได้รับยาต้องห้ามเข้าไป ผลที่เกิดขึ้นกับลูกในท้องแต่ละระยะจะไม่เหมือนกัน โดยแบ่งได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะปฏิสนธิไม่ปฏิสนธิหรือแท้ง
  • ระยะ 1-2 สัปดาห์แรก(ระยะเอ็มบริโอก่อนฝังตัว) ส่งผลให้เซลล์ลดลงและแท้ง
  • ระยะ 2-8 สัปดาห์(ระยะสร้างอวัยวะต่างๆ) ลูกจะพิการตั้งแต่กำเนิด, เกิดมะเร็งในภายหลัง, ลูกในท้องเติบโตช้า
  • ระยะ 3-9 เดือน ลูกมีน้ำหนักตัวน้อย, การเจริญเติบโตของศีรษะและระบบประสาทผิดปกติ, อวัยวะเพศภายนอกมีความผิดปกติ

ปัจจัยในการเลือกใช้ยาสำหรับคนท้อง

การเลือกใช้ยาสำหรับคนท้องต้องพิจารณาจากหลายปัจจัยด้วยกัน

  • ช่วงอายุครรภ์ที่ได้รับยาหรือสารเคมี
    แบ่งเป็น 3 ไตรมาส ได้แก่
    • ไตรมาสที่ 1 คือ อายุครรภ์ตั้งแต่เดือนที่ 0-3
    • ไตรมาสที่ 2 คือ อายุครรภ์ตั้งแต่เดือนที่ 4-6
    • ไตรมาสที่ 3 คือ อายุครรภ์ตั้งแต่เดือนที่ 7-9

    เพราะยาบางชนิดอาจส่งผลต่อลูกในท้องตั้งแต่ไตรมาสแรก หรือบางชนิดก็มีผลในทุกไตรมาส ซึ่งทางที่ดีในไตรมาสแรกคุณแม่ควรเลี่ยงการใช้ยาก่อนนะคะ เพื่อป้องกันผลเสียที่เกิดขึ้นกับลูกในท้องค่ะ

  • ชนิดและปริมาณของยาหรือสารเคมีที่ได้รับ
    หากคุณแม่จำเป็นที่จะต้องใช้ยา ควรใช้ในขนาดที่ต่ำที่สุดในระยะเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่ควรใช้ยาหลายชนิดพร้อมกันหรือการใช้ยาสูตรผสมในการรักษาโรคต่างๆ
  • ปัจจัยทางพันธุกรรม
  • ภาวะของตัวคุณแม่เอง
    เช่น อายุ ภาวะโภชนาการ หรือโรคประจำตัว
  • คุณแม่ท้องควรเลือกวิธีการรักษาโดย “ไม่ใช้ยา” เป็นอันดันแรก
    แต่หากไม่ได้ผล ค่อยใช้ยาในการรักษา แต่ก็ควรใช้ยาในขนาดที่ต่ำที่สุดและระยะเวลาสั้นที่สุด เพื่อไม่ให้ลูกในท้องได้รับอันตรายจากการใช้ยา
  • การจะใช้ใดๆ ก็ตามควรอยู่ภายใต้การดูแลของคุณหมอหรือเภสัชกรอย่างใกล้ชิด

การจัดกลุ่มยาตามความปลอดภัยของลูกน้อยในท้อง

องค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกาได้จัดกลุ่มยาตามความปลอดภัยของทารกในครรภ์ออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้

  • Pregnancy Category A จากการศึกษาในมนุษย์พบว่าไม่มีอันตรายต่อลูกในท้อง
  • Pregnancy Category B จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ยาที่อยู่ในประเภทนี้ไม่มีความเสี่ยงในการทำให้ตัวอ่อนในท้องผิดปกติ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ ดังนั้น ยาในกลุ่มนี้สามารถใช้ได้กับคุณแม่ท้องได้อย่างปลอดภัย
  • Pregnancy Category C จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ยานี้มีความเสี่ยงที่จะให้ตัวอ่อนในครรภ์ผิดปกติ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ ดังนั้น การใช้ยาในกลุ่มนี้ควรมี “การประเมิน” จากคุณหมอระหว่างประโยชน์ที่ได้รับยากับความเสี่ยงต่อความผิดปกติของลูกในท้อง โดยเน้นที่ได้ประโยชน์มากกว่าอันตราย
  • Pregnancy Category D ยาที่อยู่ในกลุ่มนี้ เป็นยาที่มีความเสี่ยงผิดปกติต่อลูกในท้อง ดังนั้น คุณหมอต้องพิจารณาแล้วว่าหากใช้ยานี้ต้องได้รับประโยชน์มากกว่าโทษ จะใช้ในกรณีที่ต้องช่วยชีวิตคุณแม่หรือใช้รักษาโรคที่ร้ายแรงซึ่งไม่สามารถใช้ยาที่ปลอดภัยมากกว่าได้หรือไม่ได้ผลตามที่คุณหมอต้องการ
  • Pregnancy Category X จากการศึกษาพบว่ายาในกลุ่มนี้มีผลทำให้ลูกในท้องมีความผิดปกติ และมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายมากกว่าประโยชน์ ดังนั้น ยาประเภทนี้ห้ามใช้ในคุณแม่ท้องหรือผู้หญิงที่มีความเสี่ยงที่จะท้อง

ยาที่คนท้องห้ามกิน (เพิ่มเติม) แบ่งตามอาการ

ยาแก้ปวด ลดไข้

ในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์อ่อน ๆ (โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก) ยาลดไข้ที่คุณแม่ไม่ควรกิน คือ

  • แอสไพริน (Aspirin) และ
  • ไอบูโรเฟน (Ibuprophen)

เพราะยาเหล่านี้จะส่งให้เลือดแข็งตัว และเพิ่มความเสี่ยงในการแท้งลูกได้ 5 – 6 เท่า และถ้าหากคุณแม่กินยานี้ในขณะใกล้คลอด ก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของเกล็ดเลือดของทารก ทำให้เลือดไหลไม่หยุดได้

ยาแก้แพ้

อาทิ คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ยานี้สามารถใช้ได้เพียงชั่วคราวหรือระยะเวลาสั้น ๆ ได้ค่ะ แต่ถ้าหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกล็ดเลือดต่ำได้ ทารกที่เกิดมาอาจมีเลือดไหลมากผิดปกติ

ยาปฏิชีวนะและยาแก้อักเสบ

ยาบางชนิดในกลุ่มนี้จะส่งผลลบต่อการสร้างกระดูกและฟันของทารกโดยตรง และมีพัฒนาการทางสมองที่ผิดปกติ ถ้าแม่ท้องกินยานี้ในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 6 – 8 เดือน จะส่งผลให้กระดูกและฟันไม่สมบูรณ์ได้ นอกจากนี้ยานี้อาจส่งผลกระทบต่อตับของคุณแม่อีกด้วยค่ะ

หากคุณแม่กินยากลุ่มดังกล่าวนี้ในช่วงอายึครรภ์ 2 – 3 สัปดาห์ จะส่งผลให้ลูกน้อยหูตึง และส่งผลต่อระบบประสาทเกี่ยวกับการได้ยินในบางส่วน ได้แก่

  • สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin)
  • กานามัยซิน (Kanamycin)
  • เจนตามัยซิน (Gentamycin)
  • ซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides)

ยานอนหลับ

ยาที่คุณแม่ท้องไม่ควรกิน ได้แก่

  • อัลปราโซแลม
  • ไดอาซีแพม

หากคุณแม่กินยานี้ในช่วงตั้งครรภ์ จะส่งผลให้ทารกในครรภ์ปากแหว่งเพดานโหว่ได้ ยากลุ่มนี้นอกจากไม่ควรกินขณะที่ตั้งครรภ์แล้ว ยังควรงดยานี้ก่อนการตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 – 6 เดือน อีกด้วยนะคะ

ยารักษาผมร่วง

อาทิ ฟิแนสเทอไรด์ (Finasteride) เพราะอาจส่งผลให้อวัยวะเพศของทารกผิดปกติได้

ยาสเตียรอยด์ทุกประเภท (Steroid)

เพราะยาในกลุ่มนี้อาจเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการแท้งลูกได้ นอกจากนี้จะส่งผลให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตได้ไม่สมบูรณ์ บางรายอาจมีความผิดปกติบางประการเกิดขึ้นอีกด้วยค่ะ เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ และในยาบางชนิดส่งผลให้อวัยวะเพศหญิงมีลักษณะของอวัยวะเพศชายค่ะ

ยารักษาสิว

ยารักษาสิวบางชนิดมีอนุพันธ์ของวิตามินเอซึ่งสามารถสะสมในร่างกาย หากคุณแม่มีแผนที่จะตั้งครรภ์ควรหยุดกินวิตามินเออย่างน้อย 3 เดือน – 1 ปี

ยาแก้อาเจียนหรือยาแก้แพ้ท้อง

ก่อนคุณแม่จะทานยาชนิดนี้ควรให้คุณหมอเป็นผู้สั่งยาให้เท่านั้นค่ะ ไม่ควรซื้อยามากินเอง เพราะจะส่งผลให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้

ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร

ยาลดกรดชนิดที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide) ในปริมาณมาก ๆ และกินติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำในให้คุณแม่เกิดอาการท้องเสีย เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ และที่สำคัญ จะส่งผลให้ทารกแรกเกิดมีปริมาณแคลเซียมและแมกนีเซียมในเลือดสูงและมีอาการชักได้

มาถึงตรงนี้แล้ว คุณแม่หลาย ๆ ท่านก็พอจะทราบกันแล้วใช่ไหมคะว่ายาอะไรที่แม่ท้องไม่ควรกิน ส่วน “ยาที่คนท้องกินได้มีอะไรบ้าง” ไปติดตามกันค่ะ


ตอนนี้ท้องได้ 4 เดือนแต่แพ้อากาศหนักมากกจะกินแก้พชนิดไหนได้บ้าง? นอกจากยาแก้แพ้ที่คุณแม่จะได้ทราบจากบทความนี้แล้ว ยังมีกลุ่มยาอื่น ๆ อีกที่แม่ท้องกินได้และควรรู้ คลิกที่นี่ค่ะ


ขอบคุณภาพจาก : amarinbabyandkids

คนท้องกินยาแก้ไอได้ไหม?

เรื่องของสุขภาพและความเจ็บป่วย บางครั้งก็เป็นอะไรที่ป้องกันได้ยาก เพราะเมื่อไหรก็ตามที่คุณแม่ตั้งครรภ์พักผ่อนน้อย ภูมิคุ้มกันก็จะต่ำลง ส่งผลให้เชื้อโรคเป็นใหญ่ในร่างกายเรา ในกรณีที่คุณแม่ตั้งครรภ์เจ็บคอ เบื้องต้นให้เน้นจิบน้ำอุ่นหรือน้ำผึ้งผสมมะนาวอุ่น (แบบผลสด) ก็จะช่วยได้ แต่หากมีอาการมากๆ ล่ะ จะสามารถกินยาแก้ไอได้หรือไม่? ได้ค่ะ ไปดูกันเลย

เด็กซ์โตรเมทอร์โทรเฟน (Dextromethorphan)

ยาแก้ไอในกลุ่มนี้จะมีส่วนผสมของ เด็กซ์โตรเมทอร์โทรเฟน (Dextromethorphan) เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการไอแห้งๆ หรือไอแบบไม่มีเสมหะ หากคุณแม่จะไปเลือกซื้อเองที่ร้านขายยา ควรสอบถามจากเภสัชกรหรือตรวจสอบด้วยว่า ยาแก้ไอนี้จะไม่มีส่วนผสมของยาชนิดอื่นร่วมด้วย แต่โดยมากแล้วเภสัชกรมักจะจ่ายยาชนิดเม็ดที่มีตัวยานี้ ในปริมาณ 15 กรัม ทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร

บรอมเฮ็กซีน (Bromhexine) และ อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine)

กลุ่มนี้เป็นยาแก้ไอที่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ไอแบบมีเสมหะ ซึ่งตัวยาที่ช่วยลดเสมหะและเป็นยาที่คุณแม่ตั้งครรภ์ทานได้ ก็จะมี 2 ตัวยานี้ มีคุณสมบัติช่วยทำให้เสมหะอ่อนตัวลง ทำให้ขับออกมาง่ายขึ้น มีทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำ ทั้งนี้ เพื่อความรอบคอบอีกนิด คุณแม่ควรสังเกตฉลากข้างกล่องด้วยนะคะว่าต้อง “ปราศจากแอมโมเนีย และแอลกอฮอล์” ผสมอยู่ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ได้

กลุ่มยาอม ยาพ่นคอต่าง ๆ

นอกเหนือจากตัวยาหลักที่คุณแม่ตั้งครรภ์ทานแล้ว ในระหว่างวันหากคุณแม่มีอาการคอแห้ง ระคายคอ สามารถใช้ยาอมหรือยาพ่นช่วยได้ ได้แก่ ยาอมมายบาซิน สเตร็ปซิล หรือยาพ่นอย่างคามิโลซาน เอ็ม เหล่านี้เป็นยาที่ออกฤทธิ์เฉพาะที่ ปลอดภัยต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่สำคัญ ยังช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ และระคายคอได้อีกด้วย

คนท้องเป็นไข้กินยาอะไรได้บ้าง?

คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่สบาย มีไข้ โดยเฉพาะในช่วงอายุครรภ์ไตรมาสแรก การใช้ยาควรมีความรอบคอบให้มากเป็นพิเศษ ซึ่งยาแก้ปวด ลดไข้ที่คุณแม่ตั้งครรภ์…

  • กินได้ ได้แก่ ยาพาราเซตามอล
  • ห้ามกิน ได้แก่ ยาในกลุ่มแอสไพริน (Aspirin) และไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) รวมไปถึงยาแก้ปวดไมเกรนในกลุ่มเออร์โกตามีน (Ergotaine) และยาแก้อักเสบทุกชนิด เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อภาวะแท้งคุกคามได้

ไม่ควรใช้ยาใดๆ ทั้งยากิน ยาทา ยาฉีด ในช่วงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก เพื่อป้องกันภาวะแท้งคุกคามที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ และลดความเสี่ยงต่อความพิการของทารกในครรภ์ และหากไม่สบายเกินกว่าจะหายเองได้ ให้รีบพบแพทย์จะดีที่สุด ไม่ควรหาซื้อยามาทาเอง

อ้างอิงจาก: โรงพยาบาลเปาโล

ข้อมูลอ้างอิง
Medthai.com