Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

แม่ท้องน้ำหนักเกิน เสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

แม่ท้องน้ำหนักเกิน เสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

มีคุณแม่หลายคนที่คิดว่าเมื่อท้องแล้วจะกินอะไรก็ได้ ตามใจปาก ลูกในท้องจะได้มีน้ำหนักเยอะ ๆ แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นความเชื่อที่ผิดค่ะ และที่สำคัญ คือ เมื่อคุณแม่มีน้ำหนักที่เกินเกณฑ์แล้ว เมื่อเข้าสู่ช่วงของการตั้งครรภ์ในไตรมาสสุดท้ายอาจเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อน และอาการอื่น ๆ ได้ และไม่ใช่แค่คุณแม่คนเดียวค่ะ ที่ได้รับผลกระทบแต่เป็นลูกน้อยด้วยเช่นกัน

น้ำหนักช่วงตั้งครรภ์ ที่ขึ้นปกติ

ก่อนที่จะไปดูในเรื่องของภาวะแทรกซ้อนกรณีคุณแม่ตั้งครรภ์มีน้ำหนักเกิน ช่วงนี้เรามาดูกันสักนิดก่อนค่ะ ว่าปกติแล้ว เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ น้ำหนักที่เพิ่มแต่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานควรอยู่ที่เท่าไหร่

ตั้งครรภ์ – ช่วงไตรมาสแรก

ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์นี้ น้ำหนักของคุณแม่จะยังไม่เพิ่มขึ้นมากค่ะ บางคนอาจลดลงเล็กน้อย เนื่องมาจากอาการแพ้ท้อง ทำให้กินได้น้อย ทานอะไรก็อาเจียนออกมาหมด แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลค่ะ เพราะช่วงนี้ลูกน้อยยังไม่ได้ต้องการสารอาหารอะไรมากนัก เพราะเขายังเป็นตัวอ่อน ซึ่งจะมีอาหารอยู่ในถุงไข่แดงค่ะ โดยรวมแล้วช่วงนี้คุณแม่จะมีน้ำหนักเพิ่มที่ไม่เกิน 2 กิโลกรัม เท่านั้น

ตั้งครรภ์ – ช่วงไตรมาสที่สอง

ช่วงนี้น้ำหนักของคุณแม่จะเพิ่มมาประมาณ 4-5 กิโลกรัม ซึ่งช่วงเดือนที่ 4-5 หลายคนจะสังเกตเห็นคุณแม่เริ่มมีน้ำมีนวลขึ้นบ้างแล้วค่ะ

ตั้งครรภ์ – ช่วงไตรมาสที่สาม

มาช่วงสุดท้ายนี้ น้ำหนักของคุณแม่จะเพิ่มขึ้น 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ โดยประมาณ หรือไม่ควรเกิน 5-6 กิโลกรัม ภายใน 3 เดือนนี้

ท้องน้ำหนักเกิน เสี่ยงต่ออะไรบ้าง?

คุณแม่ท้องที่มีน้ำหนักเกินระหว่างการตั้งครรภ์ อาจเสี่ยงต่อภาวะที่ส่งผลกระทบด้านลบทั้งต่อตัวคุณแม่และลูกน้อยในท้องได้ ดังนี้

แท้งลูก

คุณแม่ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ จะมีความเสี่ยงต่ออาการครรภ์เป็นพิษ ซึ่งครรภ์เป็นพิษเป็นอาการเริ่มแรกที่นำไปสู่การคลอดก่อนกำหนด การแท้งลูก ซึ่งทำให้ต้องยุติการตั้งครรภ์ได้เลยทีเดียว

คลอดยาก

เมื่อคุณแม่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ ก็จะส่งผลให้ลูกในท้องมีน้ำหนักมากตามไปด้วย แต่ทั้งนี้แม้ลูกจะมีน้ำหนักที่มากตามไปด้วย แต่น้ำหนักคงค้างส่วนใหญ่จะยังอยู่ที่คุณแม่อยู่ดี คราวนี้เมื่อลูกในท้องมีน้ำหนักมาก จึงทำให้คุณแม่คลอดยากเป็นธรรมดา แต่ความเสี่ยงคือ ความเจ็บ และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ เพราะคุณแม่ได้รับความบอบช้ำมากระหว่างการคลอดลูก

แต่ในปัจจุบัน แพทย์จะประเมินค่ะ ว่าถ้าคุณแม่อยากคลอดเอง แต่เมื่อดูสถานการณ์แล้ว ไม่น่าไหว แพทย์จะพิจารณาให้ผ่าตัดคลอดแทน ซึ่งกลายเป็นคุณแม่เจ็บทั้ง 2 ทางค่ะ

ปากแหว่งเพดานโหว่

อาการปากแหว่งเพดานโหว่เกิดที่ลูกในท้องค่ะ เนื่องจากคุณแม่มีปริมาณไขมันและน้ำตาลในร่างกายที่สูงมากเกินไป ทั้งนี้ อาการปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นอาการที่พบได้มากที่สุด แต่ก็ยังมีกรณีอื่น ๆ อีก ที่พบได้น้อยรองลงมา โดยแต่ละคนจะมีอาการที่ต่างกันไป

เบาหวาน

ในร่างกายคุณแม่ท้องจะมีปริมาณไขมัน และปริมาณน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น และด้วยปริมาณน้ำตาลที่สูงขึ้นนี้ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดของลูกน้อยในครรภ์สูงขึ้นด้วย ลูกน้อยจึงเป็นโรคอ้วน และเป็นเบาหวานได้ง่ายกว่าเด็กทั่วไป

ตกเลือดขณะคลอด

หากลูกน้อยมีขนาดตัวที่ใหญ่ และมีน้ำหนักมากแล้ว ลูกจะคลอดออกมาได้ยาก และส่งผลให้มดลูกของคุณแม่มีขนาดใหญ่ เมื่อคลอดมาแล้วส่งผลให้มดลูกหดตัวได้ไม่ดี จนทำให้มีเลือดคั่งค้างในมดลูก หรือเกิดการตกเลือดได้

ระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรดูแลเรื่องสุขภาพและโภชนาการตัวเองให้ดี โดยเฉพาะในเรื่องของน้ำหนักระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะจะให้น้อยไปก็ไม่ดี มากไปก็ไม่ดี การบำรุง…คุณแม่อาจไม่ต้องบำรุงอะไรให้มากเป็นพิเศษค่ะ เพียงแต่ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกาย เพื่อป้องกันอาการท้องผูกก็เพียงพอ และที่สำคัญคือ การดื่มนมวัว หากคุณแม่ดื่มเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณนะคะ เพราะอาจเสี่ยงที่ลูกจะแพ้โปรตีนจากนมวัวได้ แนะนำให้ดื่มน้ำนมถั่วเหลืองสลับกันไปค่ะ