“อารมณ์แปรปรวนขณะตั้งครรภ์” คุณแม่ทุกท่านเคยผ่านประสบการณ์นี้มาแล้ว เหตุเพราะฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บางเวลาคุณแม่ก็อารมณ์ดี แจ่มใส ผ่านมาอีก 5 นาทีนั่งร้องไห้ ซักพักก็น้อยใจ ซักพักเปลี่ยนไปเป็นหงุดหงิดซะงั้น จนเรียกได้ว่าคนใกล้ชิดรู้สึกหรือสัมผัสได้ถึงพลังงานบางอย่างกันเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นวันนี้แม่โน้ตอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจในเรื่องอารมณ์ขณะตั้งครรภ์กันสักหน่อย เพื่อการรับมืออย่างเข้าใจ
สารบัญ
สาเหตุที่ทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลง
มีสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้อารมณ์คุณแม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วก็คือ “ฮอร์โมนเอสโตรเจน” นั่นเองค่ะ เจ้าฮอร์โมนตัวนี้จะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยใน 1 วัน คุณแม่จะสามารถผลิตฮอร์โมนตัวนี้ออกมาได้มากพอ ๆ กับปริมาณของฮอร์โมนที่ร่างกายคนปกติผลิตออกมาถึง 3 ปีเลยทีเดียว แบบนี้จะไม่ทำให้อารมณ์ของคุณแม่ตั้งครรภ์แปรปรวนได้อย่างไรเนอะ
การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่เริ่มมีการตั้งครรภ์ พ่อเหมี่ยวเห็นว่าแม่โน้ตมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย เลยไปซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์มา 3 ชุด สรุปขึ้น 2 ขีดค่ะ เห็นได้ถึงการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่ชัดเจนเลยทีเดียว
อารมณ์เปลี่ยนแปลงในแต่ละไตรมาส
อารมณ์เปลี่ยนแปลง ไตรมาสที่ 1
- มีอารมณ์ที่แปรปรวนอย่างมาก ขึ้น ๆ ลง ๆ
- หงุดหงิดง่าย ใครทำอะไรช้าไม่ทันใจก็จะหงุดหงิด
- ขี้รำคาญ ไม่ชอบให้ใครมาเกาะแกะ แต่ถ้าตัวเองไปอ้อนสามีแบบนี้ได้
- ขี้น้อยใจ
- ร้องไห้ง่ายกับเรื่องเล็กน้อย บางทีก็เป็นเรื่องที่ไม่เหตุผล
- เอาแต่ใจตัวเอง อยากได้อะไรก็ต้องได้ (แบบทันทีด้วยสิ)
- เกิดความกังวลเรื่องการตั้งครรภ์ ห่วงว่าลูกจะแข็งแรงดีไหม จนนอนไม่หลับ
- ความต้องการทางเพศลดลง
ข้อนี้เกิดจากหลายสาเหตุค่ะ เพราะความกังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ อาการแพ้ท้อง อาเจียนจนทำให้อ่อนเพลีย จึงทำให้อยากที่จะนอนพักอย่างเดียว
อารมณ์เปลี่ยนแปลง ไตรมาสที่ 2
- คุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้อง ช่วงนี้จะเบาลง เริ่มมีความสุขมากขึ้น ผ่อนคลายมากขึ้น
- ปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น
- เริ่มรู้สึกถึงอีกหนึ่งชีวิตน้อย ๆ ในท้อง ในทุกครั้งที่ลูกดิ้น
- เริ่มมีการสื่อสาร ชวนลูกพูดคุยได้มากขึ้น
- คุณแม่บางท่านต้องออกจากงาน อาจมีบ้างที่ยังรู้สึกเหงา ๆ คิดถึงงานที่เคยทำ และต้องห่างจากเพื่อนร่วมงานที่เคยเจอหน้ากันทุกวัน อาจมีอาการซึมเศร้าบ้างเล็กน้อย
- เริ่มมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย เช่น บริเวณหลัง และขา เป็นต้น
อารมณ์เปลี่ยนแปลง ไตรมาสที่ 3
- ใกล้เวลาที่จะได้เจอลูกน้อย คุณแม่จะมีความตื่นเต้น เครียด และกังวลในเวลาเดียวกัน ไม่ว่าจะเครียดในเรื่องลูกจะแข็งแรงดีไหม จะคลอดอย่างไรดี อยากคลอดธรรมชาติแต่ไม่รู้ว่าจะทำได้ไหม ต้องเตรียมของอะไรให้ลูกบ้าง แล้วของตัวเองล่ะเตรียมของไปคลอดต้องมีอะไร และอีกจิปาฐะ
ผลกระทบจากอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง
อย่างที่คุณแม่หลาย ๆ ท่านคงเคยรู้กันมาว่าเรื่องของ “อารมณ์” จะส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ จะมีอะไรบ้าง ไปติดตามกันค่ะ
- ความเครียดหรือความหงุดหงิดอันเกิดจากอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง ความเครียดที่เกิดแบบฉับพลัน เกิดขึ้นบ่อย ๆ และเรื้อรัง จะส่งผลให้คุณแม่ร่างกายไม่แข็งแรง ป่วยบ่อย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อาเจียน กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ซึ่งเหล่านี้จะทำให้คุณแม่อ่อนแรง ไม่มีอาหารส่งไปเลี้ยงลูกน้อยในครรภ์
- ความเครียดอาจส่งผลให้คุณแม่คลอดก่อนกำหนด หัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดหดตัว ความดันโลหิตสูง ทั้ง ๆ ที่ก่อนตั้งครรภ์คุณแม่มีร่างกายที่แข็งแรงดี
- หากคุณแม่เครียด ลูกน้อยในครรภ์ก็สามารถรับรู้ได้ จากสารเคมีในร่างกายของคุณแม่ที่หลั่งออกมาในกระแสเลือด นั่นก็คือ สารอะดรีนาลีน ซึ่งสารนี้จะทำให้ลูกน้อยในครรภ์เกิดความเครียดไปด้วย ส่งผลต่อพัฒนาการของลูกที่ล่าช้าทั้งขณะที่อยู่ในครรภ์และหลังคลอด
- หากคุณแม่อารมณ์ดี ร่างกายจะหลั่งสารเอ็นโดรฟินออกมา ทำให้ลูกเติบโตดี มีพัฒนาการที่ดี เป็นเด็กที่มีอารมณ์แจ่มใส และเลี้ยงง่าย
- คุณแม่เครียดก็จะส่งผลต่อน้ำหนักตัวของลูกน้อยในครรภ์ ทำให้มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์เมื่อแรกคลอด อาจเป็นเด็กที่คลอดก่อนกำหนด ส่งผลให้เมื่อหลังคลอด พัฒนาการด้านการเรียนรู้ของลูกจะช้ากว่าเด็กทั่วไป
- ลูกที่คลอดก่อนกำหนด หรือลูกที่เกิดจากคุณแม่ที่มีอารมณ์เครียดเรื้อรังขณะตั้งครรภ์ จะเป็นเด็กเลี้ยงยาก งอแง ขี้โมโห ร้องไห้เก่ง จนทำให้มีปัญหาอื่น ๆ ตามมา
อารมณ์ของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์มีผลมากต่อลูกน้อยนะคะ แต่อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงของคุณแม่ หากได้รับการตอบสนองในเชิงบวก ตอบสนองจากความเข้าใจของคุณพ่อและคนรอบข้างก็จะเป็นเรื่องดีที่สุด เพราะจะทำให้คุณแม่อารมณ์ดี ส่งผลดีต่อลูกน้อยในอนาคต คุณพ่อก็คิดเสียว่าคุณแม่ไม่ได้เป็นแบบนี้ตลอดไป ขอแค่ 9 เดือนเองนะคะคุณพ่อ