เพราะในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ สิ่งสำคัญที่คุณแม่ควรใส่ใจมากเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้นเรื่องของ “โภชนาการและอาหาร” ที่คุณแม่จะต้องเลือกกินสักนิด โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีอาการครรภ์เป็นพิษยิ่งต้องได้รับการดูแลมากเป็นพิเศษ
สารบัญ
ครรภ์เป็นพิษ (Preeclampsia)
เป็นอาการแทรกซ้อนรุนแรงในระหว่างการตั้งครรภ์ โดยจะส่งผลทั้งต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ หากมีอาการรุนแรงมากและได้รับการรักษาที่ไม่ทันท่วงที อาจมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้
สาเหตุของครรภ์เป็นพิษ
ปัจจุบันก็ยังทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ได้มีการสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากพัฒนาการของรกที่ผิดปกติ ส่วนใหญ่จะพบอาการนี้หลังจากที่คุณแม่มีอายุครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ ไปจนถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอด
ของแม่โน้ต 28 สัปดาห์ค่ะ เรียกได้ว่าพอเข้าเดือนที่ 7 ปุ๊บก็เริ่มมีอาการเลยคือ ความสูง 180/110 คุณหมอสั่งแอดมิดที่ห้องฉุกเฉินทันที
สัญญาณเตือนว่ามีอาการครรภ์เป็นพิษ
หากคุณแม่มีอายุครรภ์ที่มากกว่า 20 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ลองหมั่นสังเกตตัวเองว่าร่างกายของคุณแม่มีอะไรผิดปกติไปหรือไม่ ดังนี้
- มีอาการบวมที่บริเวณมือ เท้า ข้อเท้า และใบหน้า (ความรู้สึกของใบหน้าคือเหมือนคนที่เพิ่งตื่นนอนตอนเช้า เหมือนลืมตาได้ไม่เต็มที่ค่ะ แต่อาการนี้จะบวมอยู่ทั้งวัน)
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเร็วอย่างผิดปกติ โดยทั่วไปแล้วน้ำหนักของคุณแม่ตั้งครรภ์จะเพิ่มที่เดือนละ 1.5 – 2 กิโลกรัม
ของแม่โน้ตมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาที่ 8 กิโลกรัม ภายใน 4 – 5 วัน ค่ะ)
- ปวดศีรษะมาก กินยาแล้วแต่ก็ไม่ดีขึ้น
- ลูกน้อยในท้องดิ้นน้อย ตัวเล็ก
- ความดันโลหิตจะอยู่ที่ 140/90 มม.ปรอท
- ตรวจพบโปรตีนรั่วออกมากับปัสสาวะ
- ตาพร่ามัว
- มีอาการจุกหรือปวดที่ลิ้นปี่ หรือชายโครง เหมือนจะหายใจไม่ค่อยออก
ครรภ์เป็นพิษห้ามกินอะไร?
โดยปกติแล้วคุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องหมั่นดูแลในเรื่องของอาหารเป็นทุนเดิมนะคะ โดยที่พยายามเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานมาก ๆ หรืออาหารที่มีแป้งมาก ๆ เพราะเสี่ยงต่อการเป็นโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ อย่างเบาหวาน กินอาหารให้หลากหลาย ไม่กินอาหารรสจัดโดยเฉพาะเปรี้ยวจัด หรือหวานจัด โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีความเสี่ยงว่าจะมีอาการครรภ์เป็นพิษ อาหารที่ควรเลี่ยงเลยก็คือ อาหารที่มีรสเค็ม และรสจัด ค่ะ
ในช่วงที่แม่โน้ตแอดมิดในห้องฉุกเฉิน อาหารที่กินได้คือ อาหารอ่อนรสชาติจืด ๆ และงดน้ำระหว่างมื้ออาหาร จะดื่มน้ำได้ก็ตอนที่กินยา ซึ่งปริมาณน้ำก็จำกัดที่ 120 มม. เรียกได้ว่า 3 อึกก็หมดค่ะ
9 อาหารที่คนท้องควรเลี่ยง
ปลาที่มีสารปรอทสูง
อาทิ ปลานาก ปลาแมคเคอเรล เนื่องจากอาหารที่มีค่าปรอทสูงจะส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์โดยตรง
ไข่ดิบ
หากคุณแม่บางคนชอบกินไข่ลวกแบบสุก ๆ ดิบ ๆ ช่วงนี้งดก่อนนะคะ เพราะหากกินไข่ดิบอาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อซัลโมเนลล่าซึ่งเป็นเชื้อที่ร้ายแรงที่สามารถส่งผลร้ายต่อลูกน้อยในครรภ์ได้เช่นกัน ซึ่งคุณแม่ได้รับเชื้อนี้เข้าไปในปริมาณมาก ๆ จะมีอาการไข้ ปวดบิดในท้อง ลำไส้ คลื่นไส้ อาเจียน และท้องร่วงอย่างรุนแรง อาการเหล่านี้จะอยู่ได้ถึง 1 – 8 วันขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่ถ้าร้ายแรงที่สุด อาจติดเชื้อที่กระแสเลือด เยื้อหุ้มสมอง และถึงขั้นเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของไข่ดิบด้วย เช่น มายองเนส และน้ำสลัดที่ใช้ไข่ดิบเป็นส่วนผสม
ชีสบางประเภท
โดยเฉพาะซอฟต์ชีสที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ เช่น คาเม็มเบ็ธ (Camembert), บลูชีส (Blue Cheese) และกอร์กอนโซล่า (Gorgonzola) เนื่องจากชีสเหล่านี้จะก่อให้เกิดสารลิสเทอเรียซึ่งจะส่งผลให้แท้งได้
เนื้อดิบ
หากซกเล็ก ก้อย เป็นของโปรดของคุณแม่ งดก่อนนะคะ เพราะในเนื้อดิบโดยเฉพาะเนื้อปลาดิบ หรือเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ อาทิ ซูชิปลาดิบ สเต็กที่เนื้อยังแดงข้างใน ปลาแซลมอนรมควัน หอยนางรม เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีสารลิสเทอเรียเช่นกัน
น้ำผลไม้ที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ (พาสเจอร์ไรส์)
ทางที่ดีหากคุณแม่ไม่อยากกินผลไม้สด แต่อยากกินเป็นน้ำผลไม้ ให้ทำเองแบบคั้นสดแล้วดื่มจะดีที่สุดค่ะ แต่ถ้าจะซื้อเป็นแบบบรรจุกล่องแล้วควรอ่านฉลากด้านข้างได้ละเอียดทุกครั้งนะคะว่าสินค้าได้ผ่านการฆ่าเชื้อมาแล้ว
ดื่มน้ำผลไม้แบบกล่อง ก็ดีค่ะ สะดวกดีแต่ควรระวังเรื่องปริมาณน้ำตาลในร่างกายด้วยนะคะ เพราะน้ำผลไม้ประเภทนี้จะมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูงค่ะ
อาหารฟาสต์ฟู้ด (Fast Food)
เช่น แฮมเบอร์เกอร์ แซนวิช อะไรตระกูลนี้ เป็นวัตถุดิบที่นำมาใช้เป็นอาหารที่เก็บไว้นานได้ ดังนั้น จึงจะมีสารเคมีเจือปน คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเลี่ยงอาหารประเภทนี้ จริงอยู่ถึงแม้มันจะสะดวกและปรุงสุกแล้ว แต่ก็ยังมีสารลิสเทอเรียผสมอยู่
อาหารแช่แข็ง
อาหารแช่แข็งสะดวกค่ะ นำเข้าไมโครเวฟไม่กี่นาทีก็ได้กินแล้ว แต่อาหารแช่แข็งจะมีส่วนผสมของสารกันบูด และมีผงชูรสในปริมาณมาก อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำและปวดศีรษะได้
กาแฟ และอาหารที่มีคาเฟอีน
เพราะคาเฟอีนจะส่งผลต่อตับของลูกน้อย และเมื่อคลอดก็จะมีน้ำหนักน้อย ต่ำกว่าเกณฑ์ และมีระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ผิดปกติ
อาหารและเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers of Disease Control) ได้ออกมาระบุว่า เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด หากคุณแม่ตั้งครรภ์ดื่มเข้าไปแม้เพียงแก้วเดียวก็จะมีผลต่อการเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ได้
การดูแลสุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะอาการครรภ์เป็นพิษสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่จำเป็นว่าคน ๆ นั้นจะมีโรคประจำตัวมาก่อน ดังนั้น ช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์อยู่นี้ต้องหมั่นดูแลสุขภาพกายและใจให้ดีนะคะ เพื่อวันที่ลูกน้อยได้ลืมตามาดูโลกจะได้ยิ้มกันอย่างสดใสและมีความสุข แข็งแรงทั้งแม่และลูกค่ะ