Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ดูแลแม่ตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกอย่างไร? อะไรที่เป็นความเสี่ยงบ้าง

ดูแลแม่ตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกอย่างไร? อะไรที่เป็นความเสี่ยงบ้าง

การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณแม่มีเจ้าตัวเล็กในท้อง ต้องเพิ่มความใส่ใจมากขึ้นเป็น 2 เท่า เพราะฉะนั้นวันนี้ เรามาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องดูแลเรื่องอะไรบ้าง? และอะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ รวมไปถึงอาหารที่คุณแม่ควรกินให้น้อยลง เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของทั้งคุณแม่และลูกน้อยค่ะ

พัฒนาการของทารกในไตรมาสแรก

ในทางการแพทย์การนับอายุครรภ์จะเริ่มตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ซึ่งจะมีการแบ่งการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เป็น 2 แบบ คือ การเจริญเติบโตทางโครงสร้าง และพัฒนาการเกี่ยวกับระบบการทำงานต่าง ๆ ภายในร่างกาย

  • อายุครรภ์ 5-6 สัปดาห์ : ระบบของประสาทส่วนกลางและไขสันหลังเริ่มมีพัฒนาการมากขึ้น
  • อายุครรภ์ 8-12 สัปดาห์ : ทารกในครรภ์มีความยาว 5 ซม. โดยประมาณ หัวโต แขนขามีการเจริญเติบโตอย่างเห็นได้ชัด หัวใจเริ่มทำงาน เริ่มเต้นเป็นจังหวะมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่

เพื่อให้คุณแม่ได้เข้าใจอาการ และจะได้ไม่ต้องกังวลหรือเครียดเกินไป คราวนี้เรามาดูการเปลี่ยนแปลงของคุณแม่กันบ้างค่ะ

  1. ประจำเดือนไม่มาตามกำหนด
  2. เกิดอาการแพ้ท้อง วิงเวียน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน แต่ในบางรายก็ไม่แพ้เลยก็มี
  3. เต้านมขยายใหญ่ขึ้น รู้สึกคัดและเจ็บเต้านม
  4. มีอาการเหนื่อย เพลีย อยากนอนพักมาก ๆ
  5. น้ำหนักตัวมีทั้งคงที่และเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 1-3 กิโลกรัม โดยเฉพาะในรายที่ไม่มีอาการแพ้ท้องแต่อย่างใด

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของทารกในครรภ์

สำหรับปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ มีหลายปัจจัยค่ะ เช่น กรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อม อาหาร รวมถึงการปฏิบัติตนของคุณแม่ขณะที่ตั้งครรภ์

กรรมพันธุ์ ยีน (Gene) และโรคทางกรรมพันธุ์ในครอบครัว มีผลต่อการเจริญเติบโตของทารก โดยเฉพาะในรายที่เคยมีประวัติมาแล้ว ดังนี้

  • เคยมีประวัติลูกเสียชีวิตในครรภ์ ระหว่างคลอด หรือหลังคลอด รวมไปถึงเคยมีประวัติการแท้งบุตรมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง
  • ทารกที่คลอดก่อนกำหนด คือคลอดก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์
  • เคยมีประวัติครรภ์เป็น เนื่องจากการตั้งครรภ์ครั้งก่อน

สิ่งแวดล้อม ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่หลาย ๆ ลืมนึกถึงไป อาจเพราะความคุ้นชินที่เราอาศัยอยู่กับสิ่งนั้นในทุก ๆ วัน แต่แท้จริงแล้ว สภาวะแวดล้อมที่คุณแม่อยู่ก็เป็นสิ่งสำคัญค่ะ เช่น สารเคมี หรือสสาพิษภายในบ้านที่มาจากน้ำยาทำความสะอาดพื้น หรือน้ำยาอื่น ๆ ที่ปนเปื้อนสารเคมี รวมไปถึงการสูบบุหรี่ภายในบ้านด้วย

อาหารที่คุณแม่ควรกินให้ลดลง

คุณแม่หลายคนคงเคยรู้มาบ้างแล้วใช่ไหมคะว่า อาหารที่คนท้องควรกินนั้นมีอะไรบ้าง แต่วันนี้โน้ตจะชวนคุณแม่มาดูอาหารที่ควรลดปริมาณลงกันบ้างค่ะ

คาร์โบไฮเดรต

คือการลดปริมาณแป้ง ข้าว เผือก และมัน รวมถึงหลีกเลี่ยงอาหารหวานและของหวาน คุณแม่บางท่านบอกกินผลไม้ก็ได้ แต่อย่าลืมนะคะว่า ผลไม้บางชนิดมีทั้งแป้งและน้ำตาลในปริมาณที่สูง อาทิ ทุเรียน น้ำอ้อย น้ำตาลสด น้ำมะพร้าว และน้ำอัดลม เหล่านี้นกจากจะทำให้คุณแม่อ้วนแล้ว ยังเสี่ยงต่อสุขภาพคุณแม่ที่อาจเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ค่ะ คุณแม่บางท่านบอกกับตัวเองและครอบครัวว่า “วันนี้ฉันจะไม่กินข้าวเย็น” แต่จะกินพิซซ่าแทน อืมม…แบบนี้ก็ไม่ได้นะคะ

กรดไขมัน (Fatty acid)

เกิดจากการย่อยสลายของไขมันชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด ด้วยกัน คือ

กรดไขมันอิ่มตัว

ตัวนี้แหละค่ะที่คุณแม่ควรกินให้น้อยลง เพราะเป็นสาเหตุทำให้ไขมันอุดตันในเส้นเลือด พบได้มากจากไขมันสัตว์ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ซึ่งถ้าหากคุณแม่ต้องการดื่มนม ควรเลือกนมที่มีไขมันต่ำหรือพร่องมันเนยแทน

กรดไขมันไม่อิ่มตัว

ข้อดีของกรดนี้ก็คือ เป็นไขมันที่ช่วยให้มีพลังงาน ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ และที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือ ทำให้สมองของลูกน้อยในครรภ์มีการเจริญเติบที่ดีอย่างต่อเนื่อง หากคุณแม่กินเป็นประจำ อาทิ กรดไขมันมันโอเมก้า 3 และ 6 นับเป็นกรดไขมันจำเป็น (Essential Fatty Acid) ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ ต้องได้รับจากการกินอาหารเท่านั้น อาหารที่มีโอเมก้า 3 ได้แก่ ปลาทะเล และสาหร่ายทะเล ส่วนอาหารที่มีโอเมก้า 6 ได้แก่ น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันเมล็ดทานตะวัน และน้ำมันข้าวโพด

DHA & ARA

เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวสายโซ่ยาว มีความสำคัญต่อการเติบโตของเซลล์สมอง และเซลล์ที่จอตาของดวงตาลูกน้อย

กรดไขมันโอเมก้า 9

มีความสำคัญต่อการพัฒนาของเส้นใย ในการรับส่งสัญญาณของเซลล์สมอง และปลอกหุ้มเส้นใย อาหารที่พบกรดโอเมก้า 9 ได้แก่ ไขมันเนย น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันหมู และน้ำมันมะกอก

หากในช่วงไตรมาสแรกคุณแม่ได้ให้การใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองและลูกน้อยอย่างดีแล้ว อย่างน้อยก็ทำให้คุณแม่สบายใจได้ว่า ลูกน้อยจะมีพัฒนาการที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจแน่นอนค่ะ