Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

คนท้องนอนไม่หลับ ทำไงดี มีผลต่อลูกน้อยหรือเปล่า

คนท้องนอนไม่หลับ ทำไงดี มีผลต่อลูกน้อยหรือเปล่า

ทันทีที่รู้ว่ากำลังจะมีน้อง ให้คุณแม่เข้าใจและเตรียมรับมือเลยค่ะ เพราะว่าคุณแม่ต้องเจอกับอะไรหลาย ๆ อย่างที่มีการเปลี่ยนแปลงไป แต่ไม่ต้องถึงขั้นกังวลนะคะมันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพียงแต่คุณแม่ต้องหมั่นใส่ใจดูแลตัวเองให้ดี อาการนอนไม่หลับในคนท้อง เป็นอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นกับคุณแม่หลาย ๆ คน โน้ตเองก็มีบ้างเหมือนกันบางคืนค่ะ ซึ่งวันนี้โน้ตมีวิธีรับมือกับเรื่องนี้มาฝาก

สาเหตุ คนท้องนอนไม่หลับ

อาการนอนไม่หลับสามารถเกิดได้กับคุณแม่ทุกคนค่ะ บางคนอาจมีอาการหลับได้ยาก บางคนหลับแล้วแต่ตื่นขึ้นมากลางดึกก็มี บางคนมีทั้งสองอาการ ซึ่งอาการนอนไม่หลับสามารถเกิดได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์ ซึ่งโดยมากมักพบในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 3 ซึ่งการนอนไม่หลับสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น มีอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหลัง คัดตึงเต้านม รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัว เป็นตะคริวที่ขา หายใจไม่อิ่ม หรือมีการนอนกรน เป็นต้น

วิธีรับมือ คนท้องนอนไม่หลับ

คุณแม่คนไหนที่กำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ สามารถรับมือได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังนี้

เข้านอนแต่หัวค่ำ

สำหรับคุณแม่ที่มีอาการนอนไม่หลับ ยิ่งแนะนำให้นอนแต่หัวค่ำเลยค่ะ เพราะแม้ว่าเราหัวถึงหมอนแล้วก็ใช่ว่าจะหลับได้ในทันที ให้เวลาตัวเองได้นอนกลิ้งไปกลิ้งมาเลยค่ะ ไม่ต้องกดดันตัวเองนะคะ เพียงแต้เน้นให้เข้านอนเวลาเดียวกันทุกคืน

เลี่ยงการมองแสงสีฟ้า

แสงสีฟ้ามาจากการดูมือถือหรือโทรทัศน์ค่ะ ซึ่งคุณแม่ควรเลี่ยงการดูสิ่งเหล่านี้ก่อนเข้านอน 1 ชม. เพื่อให้ร่างกายและสายตาได้ปรับตัวก่อนเข้านอน และจะหลับได้ง่ายขึ้น

อาบน้ำอุ่น

การอาบน้ำอุ่นจะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย สบายตัว แต่ควรระมัดระวังไม่ให้น้ำร้อนเกินไป โดยเฉพาะในช่วงที่ตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก เพราะจะส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ได้ นอกจากนี้ควรเลี่ยงการนั่งแช่ในอ่างน้ำอุ่นด้วยนะคะ ใช้เพียงแค่ให้น้ำอุ่นไหลผ่านร่างกายก็พอค่ะ

ปรับอุณหภูมิในห้องนอนให้เหมาะสม

ในห้องนอนควรมีการจัดวางข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ อย่างพอดีไม่มากจนเกินไป เน้นที่สบายตา อากาศถ่ายเทได้สะดวก นอกจากนี้ ควรปรับอุณหภูมิในห้องในสบาย มีความเย็นพอดีกับที่ร่างกายรับได้

สวมชุดนอนที่สบายตัว

เพราะร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ใช่แค่ขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้น แต่ยังมีในเรื่องการอาการคัดตึงเต้านม และอาจมีอาการปวดบ้างเล็กน้อย การเลือกชุดนอนจึงควรใส่สบาย และที่สำคัญหากคุณแม่รำคาญกับอาการเจ็บเต้านม ให้คุณแม่สวมเสื้อชั้นในที่ขนาดพอดีกับเต้านมก็จะช่วยได้ค่ะ

ทำสมาธิ

การฝึกทำสมาธิหรือกิจกรรมใดก็ตามที่เป็นการฝึกสมาธิจะช่วยให้จิตใจและกล้ามเนื้อในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคุณแม่ผ่อนคลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการยืดกล้ามเนื้อ การเล่นโยคะ การนวดผ่อนคลาย รวมไปถึงการนั่งเอนหลังอ่านหนังสือ เป็นต้น

เน้นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

คุณแม่ตั้งครรภ์ควรเน้นทานโปรตีน ผัก และผลไม้นะคะ มีคาร์โบไฮเดรตบ้าง เพื่อให้ร่างกายได้มีพลังงานบ้าง ไม่ควรงดแป้งนะคะ แต่…ก็ไม่ควรเน้นเค้ก หรือของหวานมากนัก เพราะจะเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นได้

คนท้องนอนไม่หลับ มีผลต่อแม่และลูกน้อยอย่างไร

เสี่ยงต่อการเกิดความเครียด

เมื่อคุณแม่มีอาการนอนไม่หลับเกิดขึ้นแล้ว ไม่ควรกดดันตัวเองเพิ่มนะคะ คือส่วนใหญ่พอนอนไม่หลับคุณแม่บางคนก็จะยิ่งคิดว่าทำไมยังนอนไม่หลับ ซึ่งกลายเป็นความเครียดสะสม โดยไม่รู้ตัวได้ สุดท้ายก็ยิ่งกลายเป็นนอนไม่หลับเพิ่มขึ้นไปอีก

เสี่ยงครรภ์เป็นพิษ

เพราะการนอนไม่พอจะทำให้ความดันโลหิตสูง ซึ่งเมื่อโลหิตสูงมาก ๆ ก็จะเสี่ยงต่อครรภ์เป็นพิษได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคุณแม่ควรนอนให้ได้ 8-9 ชม. เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนเต็มที่และมีการปรับสมดุลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ลูกเติบโตช้า

เมื่อคุณแม่นอนไม่หลับจะส่งผลให้ลูกในครรภ์นอนไม่หลับไปด้วย จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและสมองของลูกน้อยค่ะ เนื่องจากการไหลเวียนเลือดทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร จึงไม่สามารถส่งไปเลี้ยงร่างกายของลูกน้อยได้

วันนี้หากคุณแม่สังเกตตัวเองแล้วว่ามีอาการนอนไม่หลับมาหลายวัน ลองนำเทคนิคต่าง ๆ ที่กล่าวมาไปใช้กันดูนะคะ แต่ที่สำคัญคือ คุณแม่ไม่ควรเครียดหรือกดดันตัวเอง เพราะจะไม่ส่งผลดีทั้งคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์ค่ะ