Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

ท้องก่อนวัย ท้องไม่ได้ตั้งใจ ทั้งที่กำลังเรียนอยู่แท้ๆ แต่ท้องเสียก่อน จะทำอย่างไร ทั้งกับตนเอง ครอบครัวและสังคมรอบข้าง คนที่ท้องก่อนวัยเหมือนกันมีไหม ทุกคำถามโถมเข้ามาในขณะที่รู้ว่ากำลังตั้งครรภ์ การแบกรับปัญหาไว้เพียงผู้เดียวไม่ได้ช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น ซ้ำร้ายยังเกินความเครียดและคิดแก้ปัญหาด้วยวิธีไม่ถูกต้อง

การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร หมายถึง สถานการณ์การตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ ที่ไม่ได้มีการวางแผนให้เกิดขึ้น การไม่มีความรู้ในเรื่องเพศศึกษา หรือเข้าใจเกี่ยวกับคุมกำเนิดผิดวิธี การถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการตั้งครรภ์ก่อนวัยและคลอดบุตรในช่วงอายุ 10 – 19 ปี สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งกรมอนามัยเปิดเผยว่า ปี พ.ศ. 2558 อัตราการคลอดบุตรในช่วงอายุ 15 – 19 ปี ต่อประชากรหญิงช่วงอายุเดียวกัน คิดเป็น 44.8 คน ต่อ 1,000 คน นับเป็นอัตราที่สูง

Youtube : รับมือกับปัญหาท้องก่อนวัยอันควรอย่างไรดี

สาเหตุตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

  1. พฤติกรรมของเด็ก เช่น การขาดความรู้เรื่องการคุมกำเนิด ความอยากรู้อยากลอง การขาดความรู้สึกสำนึกถึงความมีคุณค่าในตน
  2. สถานะภาพครอบครัว เช่น สภาพครอบครัวแตกแยก จากปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ประชดประชันครอบครัว หรือปัญหาทางการเงินในครอบครัว
  3. การอบรมเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม หรือการถูกล่วงละเมิดจากบุคคลในครอบครัว
  4. ไม่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดี และขาดการเอาใจใส่จากพ่อแม่ ขาดการชี้แนะเรื่องเพศสัมพันธ์จากพ่อแม่
  5. สภาพแวดล้อม เช่น อยู่หอพักคนเดียว ที่อยู่อาศัยมีความเสื่อมของสภาพแวดล้อม
  6. เพื่อนที่มีค่านิยมผิดๆ และชักชวนในทางที่ไม่ควร เลียนแบบผิดๆ จากต่างประเทศ เช่น การอยู่กินกัน มีเพศสัมพันธ์แบบเก็บแต้ม หรือลองมีเพศสัมพันธ์กับเพื่อน
  7. เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมาก ทำให้การติดต่อสื่อสารกันระหว่างเพื่อนต่างเพศเป็นเรื่องที่ง่าย ซึ่งรวมไปถึงสื่อโซเชียวที่ไม่เหมาะสม
  8. การอยู่กันสองต่อสองในที่ลับตาคน
  9. คลั่งวัตถุนิยมจนเอาตัวเข้าแลก ยอมนอนกับผู้ชายเพื่อจะได้เงิน และได้สิ่งของตามที่ต้องการ
  10. ไม่รู้จักการป้องกันที่ถูกต้อง เช่น การเลือกซื้อถุงยางอนามัย การซื้อยาคุมกำเนิด เพราะขาดความรู้ ขาดการปรึกษาทั้งจากพ่อแม่ หรือผู้มีความรู้โดยตรง ที่เกิดจากความอาย ไม่กล้าให้ใครรู้

ผลกระทบจากการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

  1. เสียการเรียน เช่น ขาดความต้องการที่จะเรียน ขาดเรียน โดดเรียน หรือบางคนถูกทางโรงเรียนจับได้ว่าท้อง จึงต้องลาออกจากโรงเรียน
  2. เด็กที่อยู่หอพักคนเดียว ขาดคนให้แนวทางแก้ปัญหา จนเป็นสาเหตุการทำแท้ง
  3. เกิดความละอายใจ วิตกกังวลว่าอีกฝ่ายจะยอมรับไหม ทำให้เก็บตัวเกิดความเศร้า กลัวและไม่กล้าบอกใคร
  4. อาจเกิดการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเอดส์ หนองใน เริมที่อวัยวะเพศ เป็นต้น
  5. บางคู่ไม่ได้ตั้งครรภ์เพราะความรัก เป็นเพียงอยากรู้อยากลอง ทำให้ยังไม่พร้อมในการมีครอบครัว

ผลกระทบด้านครอบครัว และด้านสังคม

  1. สร้างความทุกข์ใจแก่พ่อแม่ ที่ต้องการเห็นอนาคตที่ดีของลูก
  2. พ่อแม่ยอมรับ แต่ก็ใช่ว่าจะสบายใจ ที่ลูกตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร
  3. เสื่อมเสียชื่อเสียง ทำให้พ่อแม่อับอายต่อสายตาคนรอบข้าง
  4. เกิดความขัดแย้งในครอบครัว เรื่องการเลี้ยงดู ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับเด็กที่กำลังจะเกิด
  5. ปัญหาการทำแท้ง หรือเด็กทารกถูกทอดทิ้ง
  6. ชื่อเสียงของสถาบันการศึกษาอาจเสื่อมเสีย หากมีข่าวหลุดลอดไปยังสื่อ

การป้องกันการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร

  1. เรียนรู้ความคิดความต่างกันของหญิงชายในเรื่องเพศ
  2. หากจำเป็น ควรกล้าที่จะปรึกษา หรือซื้อถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิด
  3. ไม่อยู่ด้วยกันตามลำพังในที่ลับตาคน การถูกเนื้อต้องตัว เพราะอาจนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่คาดคิดได้
  4. หลีกเลี่ยงการคบเพื่อน การนัดหมายกับเพื่อนต่างเพศที่ไม่รู้จักดีพอ หรือไปในสถานที่เปลี่ยว ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสารเสพติดทุกชนิด
  5. วัยรุ่นหญิงควรแต่งกายเรียบร้อย และมิดชิด
  6. วัยรุ่นชายหญิงควรวางตัวต่อกันอย่างสุภาพ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และไม่ควรวางตัวสนิทสนมใกล้ชิดเกินไป

ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรทำอย่างไร

  1. การพูดคุยเป็นสิ่งสำคัญ หากปกปิดจะนำพาปัญหาต่างๆ ได้ และพ่อแม่คือผู้รับฟังที่ดีที่สุด แม้สิ่งที่พูดจะทำให้ผิดหวัง เสียใจ แต่ก็เป็นผู้ที่จะคอยให้กำลังใจ และหาวิธีการแก้ปัญหาให้
  2. คุยกับฝ่ายชายถึงการตั้งครรภ์ หากยอมรับ ก็ร่วมกันวางแผนเลี้ยงดู หรือหากไม่ยอมรับ ให้ตั้งสติ และคุยถึงสาเหตุที่ไม่ยอม และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ภายภาคหน้าอาจมีการเลิกรา เพราะนั้นอาจเป็นเพียงความรู้สึกของวัยรุ่นเท่านั้น
  3. ถ้าโชคดีที่ยอมรับผิดชอบ และครอบครัวยอมรับทั้ง 2 ฝ่าย แต่สุดท้ายฝ่ายหญิงคงไม่พ้นถ้าสถานศึกษารู้ มีหนทางแค่ ลาออก หรือลาเรียน และกลับมาเรียนปีการศึกษาหน้า โดยฝ่ายชายจะสามารถเรียนต่อได้ตามปกติ
  4. บางคนเรียนปีสุดท้ายแต่ตั้งครรภ์อ่อนๆ ในช่วงเรียน และคลอดในช่วงปิดเรียน ปกปิดโรงเรียน ครูอาจารย์ เพื่อนร่วมห้อง (ยกเว้นเพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้) และกลับมาเรียนต่อตอนร่างกายแข็งแรง ถ้าโชคดีก็ได้เรียน ทำงานส่ง และจบพร้อมๆ กับเพื่อนร่วมรุ่น หรือโชคร้ายสุดคือไม่ให้เรียนต่อ

การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมักกระทบต่อการเรียน ถึงขั้นไม่ได้เรียนต่อ ฉะนั้นครอบครัวควรให้ความรัก เอาใจใส่บุตรหลาน ไม่ควรปล่อยให้อยู่ลำพัง สถานศึกษาควรมีกิจกรรมส่งเสริมเพื่อให้ความรู้สำหรับนักเรียนทุกปี ซึ่งเป็นแนวทางการป้องกันปัญหาอย่างหนึ่งที่ใกล้ชิดเด็กวัยเรียน