ขึ้นชื่อว่า “ยา” ก็น่าจะเป็นเรื่องของการบำบัดรักษา ยาหอมก็เช่นกัน เราสามารถกินได้โดยที่ไม่ต้องมานั่งกังวลว่าจะกินได้ไหมถ้าหากเรา “ไม่ได้ตั้งท้อง” แต่สำหรับคนท้องจะกินอะไรเข้าไปควรหาข้อมูลกันสักนิด เพราะคุณแม่ไม่ได้ตัวคนเดียวแล้วน้า
สรรพคุณยาหอม
ยาหอมเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณชนิดผง ละลายน้ำ มีสรรพคุณรักษาอาการไข้ บำรุงหัวใจ บำรุงครรภ์ แก้อาการวิงเวียน ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร โดยนำผงยาหอมชงกับน้ำต้มสุก กินวันละ 3-4 ครั้ง
กลิ่นของยาหอมทำมาจากน้ำมันหอมระเหยของดอกไม้และสมุนไพรหลาย ๆ ชนิด จึงช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี เนื่องจากขณะที่เราสูดเอากลิ่นเข้าไปมันจะผ่านสมองช่วยให้อวัยวะภายในดีขึ้น เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก อาการหดเกร็งของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายไม่ว่าจะเป็นลำไส้ กระเพาะอาหาร บ่า ไหล่ ลมที่ดันขึ้นจนเวียนศีรษะ อาการจุกแน่นต่าง ๆ ก็จะคลายตัวลง เบาลง คนสมัยก่อนนิยมกินกันบ่อย
โรคลม คืออะไร?
โรคลม แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
ลมกองหยาบ
คือ ลมหายใจเข้า-ออก ลมในท้องและในลำไส้ จึงทำให้มีอาการจุก ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เรอ และมีการผายลม
ลมกองละเอียด
ลมที่ทำให้เกิดอาการหน้ามืดตาลาย เวียนศีรษะ ใจสั่น วิงเวียน อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และแพ้ท้อง
คนท้องกินยาหอมได้ไหม
ยาหอมเป็นยาแผนโบราณ ซึ่งมีส่วนผสมหลาย ๆ ชนิดด้วยกัน ดังนี้ เกสรดอกมะลิ เกสรดอกพิกุล เกสรดอกบุนนาค เกสรดอกสารภี เกสรดอกบัวหลวง กฤษณา สมุลแว้ง โกฐทั้งหลาย อบเชย เปราะหอม ชะมด เทียนทั้ง 5 พิมเสน เกล็ดสะระแหน่ กระลำพัก ขอนดอก หญ้าฝรั่น จันทร์หอม จันทร์เทศ เปลือกชะลูด การพลู ผิวดอกและใบของส้ม เป็นต้น ซึ่งยาหอมบางตำรับมีการใส่สารหนูลงไปด้วย
แล้วใส่สารหนูลงไปได้หรือ? ผิดไหม? ก็ไม่ถึงกับผิดสักทีเดียวค่ะ เนื่องจากตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 กำหนดให้สามารถใช้สารพิษหรือสารอันตรายได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่กำหนดเท่านั้น
ทำไมต้องใส่สารหนูลงไป? ก็เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ยาออกฤทธิ์ได้เร็วมากขึ้น ซึ่งต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
ยาหอมบางตำรับอาจมีการปนเปื้อนสารพิษอื่น ๆ ด้วย เพราะฉะนั้น หลังจากที่คุณแม่ซื้อยาหอมมาแล้ว ให้ทำการทดสอบก่อนว่ายาหอมตำรับนั้น ๆ มีสารพิษปนเปื้อนอยู่ด้วยหรือไม่ ซึ่งวิธีการก็ทำได้ง่าย ๆ ดังนี้ค่ะ
- เตรียมแก้วใส
- ตวงผงยาหอมใส่แก้ว
- เติมน้ำในปริมาณที่เขากำหนด
- คนให้เข้ากัน
- แล้วใช้ไฟส่องดู
- สังเกตที่ก้นแก้ว ถ้าหากพบว่ามีตะกอนสีออกแดง แสดงว่ามีสารกำมะถันปนเปื้อนอยู่ แบบนี้คุณแม่ห้ามกินเด็ดขาดค่ะ เพราะจะส่งผลอันตรายต่อลูกน้อยได้
ข้อควรระวังอื่น ๆ
เนื่องจากยาหอมส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมจากเกสรทั้ง 5 และสมุนไพรต่าง ๆ หากคนท้องจะกินยาหอมควรมีข้อระวัง ดังนี้
- คุณแม่ตั้งครรภ์คนไหนที่มีอาการแพ้เกสรดอกไม้ ควรหลีกเลี่ยงการกินยาหอม หรือถ้าหากไม่แน่ใจว่าจะมีอาการแพ้หลังจากกินยาหอมหรือไม่ ให้ทดลองกินเพียงเล็กน้อยก่อน
- ยาหอมบางตำรับมีสมุนไพรบางตัวที่มีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือด ส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ซึ่งถ้าหากคุณแม่มีปัญหาเลือดแข็งตัวช้า ก่อนกินยาหอม ควรปรึกษาคุณหมอก่อนนะคะ
หากคุณแม่ไม่ได้อยู่ในระยะการตั้งครรภ์ การจะกินอะไรเข้าไปก็คงไม่มีอะไรที่น่าห่วงหรือน่ากังวลเท่าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์อยู่ จากเดิมเคยกินอันนั้นได้ กินอันนี้ได้ ต่อแต่นี้ไปคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้นในหลาย ๆ ด้านโดยเฉพาะในเรื่องกิน และต้องดอกจันตัวใหญ่ ๆ หลาย ๆ ตัว สำหรับอะไรที่ไม่แน่ใจว่าจะกินได้หรือไม่ และอะไรไม่ควรกิน หรือ…ถ้าไม่แน่ใจอย่าเพิ่งกินค่ะ ปรึกษาคุณหมอก่อนจะดีทีสุด เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของทั้งคุณแม่และลูกน้อยนะคะ