Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ทำงานหนักขณะตั้งครรภ์ ทำงานเข้ากะได้ไหม

ทำงานหนักขณะตั้งครรภ์ ทำงานเข้ากะได้ไหม

หลายครอบครัวที่มีคุณแม่ทำงานนอกบ้านเข้างานเป็นกะ คุณแม่หลายคนรู้ตัวดีว่าเมื่อตั้งครรภ์ร่างกายต้องได้รับการดูแลอย่างดี ใส่ใจและฟูมฟักลูกน้อยในท้องอย่างเต็มที่ แต่บางครั้งด้วยสถานการณ์ต่าง ๆ ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์เลี่ยงไม่ได้แม้งานที่ต้องเข้ากะ วันนี้เราจะมาดูกันค่ะว่าการทำงานหนักขณะตั้งครรภ์ งานเข้ากะนั้นจะส่งผลกระทบต่อคุณแม่และลูกน้อยได้อย่างไรบ้าง

การใช้แรงงานหญิงตั้งครรภ์ ในด้านกฎหมาย กระทรวงแรงงาน

กระทรวงแรงงานได้มีกฎหมายรองรับสำหรับการใช้แรงงานหญิงตั้งครรภ์ไว้ดังนี้

  • ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างหญิง ที่มีครรภ์ทำงานในระหว่างเวลา 22:00 น. – 06:00 น. ทำงานล่วงเวลา ทำงานในวันหยุด หรือทำงานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
    • งานเหมืองแร่ หรืองานก่อสร้างที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ ในอุโมงค์ หรือปล่องในภูเขาเว้นแต่ลักษณะของงาน ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือ ร่างกายของลูกจ้างหญิงนั้น
    • งานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน
    • งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ
    • งานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกิน 15 กิโลกรัม
    • งานที่ทำในเรือ
    • งานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

    พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างเปลี่ยนเวลาทำงานหรือชั่วโมงทำงาน ของลูกจ้างหญิงที่ทำงานในระหว่างเวลา 24:00 น.- 06:00 น. ได้ตามที่เห็นสมควร ถ้าพนักงานตรวจแรงงานเห็นว่างานนั้นอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของลูกจ้างหญิงนั้น

  • ลูกจ้างหญิงมีครรภ์มีสิทธิที่จะขอให้นายจ้างเปลี่ยนงานในหน้าที่เดิมเป็นการชั่วคราวก่อนหรือหลังคลอดได้ กรณีที่มีใบรับรองแพทย์ แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง มาแสดงว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมต่อไปได้
  • ห้ามนายจ้างเลิกจ้างหญิง เนื่องจากมีครรภ์
    หากพบปัญหาสามารถร้องเรียน โดยกรอกเอกสาร คร. 7 ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานได้ดำเนินการให้นายจ้างปฏิบัติตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานได้

ทำงานหนักขณะตั้งครรภ์ ทำงานเข้ากะได้ไหม

จาก เพจหมอเต้ ได้ออกมาให้ข้อมูลไว้ดังนี้ค่ะ

แม่ตั้งครรภ์ทำงานเป็นกะ เสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด มีงานวิจัยรองรับ

จากการรวบรวมงานวิจัย 62 ชิ้นงาน หญิงตั้งครรภ์ที่เข้าร่วมทำการศึกษา 196,989 คน โดยเปรียบเทียบ 2 กลุ่ม คือ

  • คนที่ทำงานกะเช้าบ้างกลางคืนบ้าง หรือเฉพาะกลางคืน ในช่วงเวลา 23:00 น. – 11:00 น. หรือที่ต้องทำงานมากกว่า 40 ชม. ต่อสัปดาห์
  • คนที่ทำงานเฉพาะช่วงกลางวัน เวลา 08:00 น. – 06:00 น. หรือทำงานไม่เกิน 40 ชม. ต่อสัปดาห์

จากด้านบนนี้จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะทำงานกลางคืนอย่างเดียว ทำงานสลับไปมา หรือทำงานมากกว่า 40 ชม. ต่อสัปดาห์ในระหว่างการตั้งครรภ์ ล้วนแล้วแต่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดทั้งสิ้น

**แม่ท้องที่ทำงานมากกว่า 55.5 ชม. ต่อสัปดาห์ เท่ากับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดได้ 10%

แม่ตั้งครรภ์ไม่ได้นอน ทำให้ฮอร์โมนความเครียดหลั่ง

  • ฮอร์โมนความเครียดหรือ คอร์ตอซอล (Cortisol) จะหลั่งมากขึ้น
  • ลดการสร้างเมลาโทนิน
  • การสร้างฮอร์โมนจากรกเปลี่ยนไป มีการสร้างสารอักเสบมากขึ้น กระตุ้นให้รกเสื่อมเร็ว กระตุ้นให้มดลูกบีบตัว

วิธีดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ต้องทำงานนอกบ้าน

กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้คำแนะนำไว้ ดังนี้

  • งานที่แม่ตั้งครรภ์ทำ ไม่ควรเป็นงานหนัก หรืองานต้องยกของหนัก แต่หากมีความจำเป็นให้ใช้วิธีงอเข่า หลังเหยียดตรง ปล่อยน้ำหนักไปที่ต้นขา ท่านี้ก็จะช่วยลดอาการปวดหลังของคุณแม่ตั้งครรภ์ได้
  • ไม่ควรเดินบ่อย นั่ง หรือยืนนาน ๆ ควรหาเวลาพักระหว่างการทำงาน เน้นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ
  • เก้าอี้นั่งทำงานควรมีพนักพิงที่เอียงประมาณ 110 – 120 องศา อาจมีการเสริมเบาะสำหรับพิง และนั่งให้ก้นชิดพนักพิง
  • เสื้อผ้าควรสวมใส่ชุดคลุมท้องที่สบายตัว อากาศถ่ายเทได้ดี
  • สวมรองเท้าเพื่อสุขภาพ งดการใส่ส้นสูง เพื่อป้องกันการลื่นล้ม
  • ออกกำลังกายพอประมาณ หรือปรึกษาคุณหมอก่อน
  • เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และงดสูบบุหรี่
  • กินวิตามินหรือยาบำรุงตามที่คุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด
  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อาจเน้นโปรตีน ธาตุเหล็ก และแคลเซียม เป็นพิเศษ
  • ดื่มน้ำเปล่าสะอาดมาก ๆ

คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการการพักผ่อนให้เพียงพอ หากเลี่ยงการทำงานเป็นกะได้ควรเลี่ยง ควรหาเวลาพักระหว่างวันด้วยนะคะ เพราะถ้าคุณแม่แข็งแรง ลูกน้อยก็จะแข็งแรงไปด้วยค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง mol.go.th , komchadluek.net