Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar Pregnancy) มีอาการอย่างไร? อันตรายหรือเปล่า?

ครรภ์ไข่ปลาอุก หรือ Molar Pregnancy คุณแม่หลายท่านอาจจะยังไม่เคยได้ยินชื่อนี้มาก่อน ไม่ค่อยคุ้นหูเท่าไหร่ วันนี้ผู้เขียนมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแชร์ให้คุณแม่ฟังค่ะ

ครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar Pregnancy) คือ อะไร

ครรภ์ไข่ปลาอุก นับเป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติชนิดหนึ่ง แต่อาการเริ่มแรกก็จะเหมือนคนตั้งครรภ์ทั่วไป คือ ประจำเดือนขาดและมีอาการคลื่นไส้ มีเลือดออกทางช่องคลอด สีจะไม่ใช่แดงสดนะคะ แต่จะออกคล้ำๆ คล้ายเลือดเก่า เลือดจะออกมากหรือน้อยนั้นจะไม่เหมือนกันในแต่ละคนนะคะ

โดยทั่วไปแล้ว “รก” จะทำหน้าที่ลำเลียงสารอาหารเพื่อไปเลี้ยงทารกในครรภ์และกำจัดของเสียออกไป แต่หากเซลล์ที่สร้างรกทำงานผิดปกติหลังจากเกิดการปฏิสนธิแล้ว จะทำให้เกิดถุงน้ำรังไข่หรือซีสต์ ซึ่งมีลักษณะคล้ายไข่ปลาหรือพวงองุ่นสีขาว เซลล์เหล่านี้จะเจริญเติบโตภายในมดลูกอย่างรวดเร็วแทนที่จะเป็นทารก จึงที่มาของชื่อเรียก “ครรภ์ไข่ปลาอุก

ครรภ์ไข่ปลาอุกถือเป็นเนื้องอกชนิดหนึ่งที่ไม่ร้ายแรง แต่ก็ถือว่าเป็นภาวะก่อนเป็นมะเร็งของโรคมะเร็งไข่ปลาอุกหรือมะเร็งเนื้อรก (Gestational Trophoblastic Disease)

ครรภ์ไข่ปลาอุกมีกี่ประเภท

แม้ว่าคุณแม่จะพอทราบแล้วว่าทำไมถึงเรียกว่า “ครรภ์ไข่ปลาอุก” แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับโครโมโซมในไข่ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้

ครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียว (Complete Molar Pregnancy)

มีเฉพาะเนื้องอกของเนื้อรกทั้งหมด ไม่มีตัวทารก

ครรภ์ไข่ปลาอุกร่วมกับการมีทารก (Partial Molar Pregnancy)

เป็นภาวะเซลล์ที่ผิดเจริญผิดปกติพร้อมกับทารกในครรภ์ เด็กจะมีความผิดปกติ ไม่สามารถมีชีวิตและเจริญเติบโตได้ ผู้ที่ตั้งครรภ์แฝดก็อาจเกิดจากครรภ์ไข่ปลาอุกได้ แต่ก็พบได้ไม่บ่อยนัก ตัวอ่อนตัวหนึ่งจะเจริญเติบโตปกติ ในขณะที่อีกตัวจะกลายเป็นเนื้องอก เนื้องอกที่เจริญขึ้นมานั้นจะไปทำลายตัวอ่อนทารกที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

อาการ

เริ่มแรกอาการจะคล้ายกับการตั้งครรภ์ทั่วไป คือ ประจำเดือนขาด คลื่นไส้ และยังมีลักษณะคล้ายภาวะแท้ง ซึ่งอาการโดยทั่วไปของครรภ์ไข่ปลาดุก จะมีดังนี้

  • เลือดออกทางช่องคลอด เมื่ออายุครรภ์ได้เพียง 4 สัปดาห์ หรือช้าสุดเมื่ออายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ โดยเลือดจะมีสีแดงอ่อนไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม บางครั้งอาจมีเนื้อเยื่อคล้ายพวงองุ่นหลุดออกมาด้วย
  • ปวดท้องกะทันหัน มดลูกขยายใหญ่มากกว่าปกติ ทำให้รู้สึกปวดบีบหรือเหมือนถูกกดที่อุ้งเชิงกราน รวมถึงมีอาการท้องบวมร่วมด้วย
  • คลื่นไส้และอาเจียนอย่างรุนแรง
  • บางรายหากมีเลือดออกทางช่องคลอดมาก อาจทำให้มีอาการอ่อนเพลียได้
  • หากมีความกังวลหรือเหนื่อยมาก หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ มีเหงื่อออกมาก แสดงว่ามีอาการของโรคไทรอยด์เป็นพิษ
  • อาจเกิดอาการครรภ์เป็นพิษ ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง และมีโปรตีนปนออกมากับปัสสาวะ
  • คุณแม่ที่มีภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก อาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจได้ไม่เต็มปอด หรือไอเป็นเลือด เนื่องจากภาวะมะเร็งไข่ปลาอุกรุกรามไปที่ปอดก่อนที่คุณหมอจะตรวจพบ

สาเหตุ

แบ่งได้ดังนี้

ครรภ์ไข่ปลาอุกอย่างเดียว

ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิที่มีโครโมโซมของพ่ออย่างเดียว จะส่งผลให้ไม่มีตัวอ่อน ถุงน้ำคร่ำ หรือเนื้อรกเจริญเติบโตขึ้นภายในไข่ แต่จะเกิดถุงน้ำรังไข่ที่มีลักษณะเม็ดเล็กใสหรือขุ่น คล้ายพวงองุ่นเติบโตขึ้นแทน

ครรภ์ไข่ปลาอุกร่วมกับการมีทารก

ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิโดยมีโครโมโซมจากแม่จำนวน 23 โครโมโซม และมีโครโมโซมจากพ่อเป็นสองเท่า คือ 46 โครโมโซม ทำให้มีโครโมโซมทั้งหมด 69 โครโมโซม ภาวะนี้เกิดจากการเพิ่มโครโมโซมซ้ำของพ่อ ทารกที่เกิดมาส่วนใหญ่จึงมีความผิดปกติหรือไม่สามารถมีชีวิตรอดได้

การรักษา

คุณแม่ที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยแล้วว่ามีภาวะครรภ์ไข่ปลาอุก จะไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ และควรได้รับการรักษาโดยเร็วก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน ด้วยวิธีดังนี้

  • ขูดมดลูก
  • ผ่าตัดมดลูก
  • ทำเคมีบำบัด
  • ฉายรังสี
  • ติดตามระดับฮอร์โมน
  • คุมกำเนิด

อย่างไรก็ตาม ภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกพบได้ไม่บ่อยนัก โดยจะพบในหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 1-3 คน จากผู้ที่ตั้งครรภ์ 1,000 คน ดังนั้น ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์ ควรฝาครรภ์กับคุณหมอสูตินารีแต่เนิ่นๆ เพื่อให้คุณหมอได้ช่วยดูแล และวางแผนการคลอด รวมไปถึงรับการรักษาอย่างทันท่วงทีหากเกิดภาวะครรภ์ไข่ปลาอุกขึ้นค่ะ