Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ตั้งครรภ์ และ อาหารบำรุงครรภ์ สัปดาห์ที่ 24 ถึง สัปดาห์ที่ 28

ตั้งครรภ์ และ อาหารบำรุงครรภ์ สัปดาห์ที่ 24 ถึง สัปดาห์ที่ 28

เข้าสู่อายุครรภ์เดือนที่ 6 หรือสัปดาห์ที่ 24 กันแล้วนะคะ ทารกและคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง คุณแม่จะเจอกับอะไรบ้าง ไปติดตามกันค่ะ

สารบัญ

อายุครรภ์ 24 สัปดาห์

การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 24 สัปดาห์

  • เพราะน้ำหนักตัวของคุณแม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น ในสัปดาห์นี้คุณแม่จะเริ่มรู้สึกปวดหลัง ปัสสาวะบ่อย เจ็บเท้า
  • ร่างกายจะเริ่มรู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้น คุณแม่ควรเลือกรองเท้าที่สวมใส่สบาย หากอยู่บ้านให้คุณแม่ลองหาน้ำอุ่นมาแช่เท้าประมาณซัก 30 นาที อาการจะดีขึ้นค่ะ
  • เพราะมดลูกที่โตขึ้นเรื่อย ๆ จึงยิ่งส่งผลให้คุณแม่ท้องผูกมากขึ้น เพื่อป้องกันโรครดสีดวงทวารถามหา คุณแม่ควรเน้นอาหารที่มีกากใยสูง ทั้งผักและผลไม้นะคำ
  • ช่วงนี้คุณหมอจะเริ่มทำการทดสอบระดับกลูโคสในร่างกาย หรือที่เรียกกันว่า GCT (Glucose Challenge Test) เป็นการทดสอบเพื่อให้ทราบว่าคุณแม่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานหรือไม่

พัฒนาการทารกในครรภ์ 24 สัปดาห์

  • สัปดาห์นี้ความยาวทารกจะอยู่ที่ 21 ซม. หนักประมาณ 540 กรัม
  • ศีรษะของลูกน้อยยังคงมีลักษณะที่โตกว่าร่างกาย แต่ร่างกายยังมีการเติบโตต่อจนเต็มมดลูก
  • ลูกสามารถได้ยินเสียงดนตรี เสียงหัวใจ เสียงพูด ของคุณแม่แล้วค่ะ รวมถึงเสียงท้องร้อง ดังนั้น คุณแม่สามารถเปิดเพลงที่ฟังสบาย ๆ ให้ลูกฟังได้นะคะ
  • ริมฝีปากเริ่มเห็นได้ชัดขึ้น มีปุ่มฟันโผล่ดันเหงือกออกมาเป็นตุ่ม ๆ เรียงเป็นแถว
  • กระดูกสันหลังเริ่มมีการสะสมคแคลเซียม ทำให้กระดูกแข็งแรงกว่าเดิม มีข้อต่อต่าง ๆ ทำให้สามารถงอตัว บิดตัว มีการเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระมากขึ้น

อาหารบำรุงครรภ์ 24 สัปดาห์

สัปดาห์นี้ยังต้องเน้นอาหารที่มีกากใยสูง เพื่อป้องกันน้ำหนักเกิน โรคริดสีดวงทวาร ครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูง อาหารที่อุดมไปด้วยกากใยหรือไฟเบอร์ได้แก่ บรอคโคลี ถั่วลันเตา อโวคาโ ถั่วเมล็ดแห้ง ข้าวโอ๊ต และข้าวกล้อง เป็นต้น

อายุครรภ์ 25 สัปดาห์

การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 25 สัปดาห์

  • มดลูกของคุณแม่จะขยายใหญ่ขึ้นจนมีขนาดเท่ากับลูกฟุตบอลซึ่งจะทำให้ดันกะบังลมและซี่โครงซี่ล่างขึ้นไปแทนที่กระเพาะอาหาร ความดันในท้องอาจทำให้สะดือยื่นออกมา และเพราะความดันในท้องที่ดันกระเพาะ ทำให้อาหารไหลลงช้าอาจทำให้คุณแม่เป็นกรดไหลย้อนได้

พัฒนาการทารกในครรภ์ 25 สัปดาห์

  • ความยาวลูกจะเพิ่มขึ้นโดยอยู่ที่ 22 ซม. หนักประมาณ 700 กรัม
  • ร่างกายเจริญเติบโตได้สัดส่วนมากขึ้นแต่ผิวหนังยังคงบางอยู่
  • ฟันแท้กำลังพัฒนาอยู่ภายในเหงือก
  • รูจมูกเริ่มเปิด เส้นประสาทรอบปากและริมฝีปากจะรับสัมผัสไวขึ้น
  • ร่างกายจะจำแนกเพศได้ค่อนข้างสมบูรณ์
  • อาหารเสริมของทารกในช่วงนี้คือ ของเหลวในน้ำคร่ำ ทารกจะกลืนน้ำคร่ำ และขับถ่ายน้ำคร่ำในรก และในสะดือเป็นบางครั้ง
  • ผิวหนังเดิมที่เหี่ยวย่น มาสัปดาห์นี้เริ่มตึงมากขึ้น หน้าตาเริ่มพัฒนาใกล้เคียงทารกแรกเกิดมากขึ้นอีกด้วย

อาหารบำรุงครรภ์ 25 สัปดาห์

เนื่องจากสัปดาห์นี้ทารกเริ่มมีการแบ่งเพศได้ชัดเจนมากขึ้น วิตามินเอ จะช่วยพัฒนาระบบอวัยวะสืบพันธุ์ของทารกให้เป็นอย่างสมบูรณ์ อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ ได้แก่ ฟักทอง มะละกอ ตำลึง (วิตามินเอสูงมาก) แตงกวา ผักกาดขาว และมะเขือเทศ เป็นต้น

อายุครรภ์ 26 สัปดาห์

การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 26 สัปดาห์

  • ใกล้สิ้นสุดไตรมาส 2 คุณแม่เริ่มมีอาการไม่สบายตัวอื่น ๆ ตามมา ซึ่งนอกจากอาการปวดหลัง ยังมีอาการตะคริวที่ขา ปวดศีรษะ และการเคลื่อนไหวของลูกอาจทำให้แม่เจ็บที่ซี่โครงล่างได้เป็นครั้งคราว
  • ช่วงนี้หากคุณพ่อพูดคุยกับลูก ลูกก็จะเริ่มมีปฏิกิริยาตอบสนอง และหากมีการอัลตร้าซาวน์คุณพ่อคุณแม่ก็จะเริ่มตื่นเต้นมากขึ้น เพราะเราจะได้เห็นลักษณะทางกายวิภาคที่สมบูรณ์

พัฒนาการทารกในครรภ์ 26 สัปดาห์

  • ความยาวของทารกเริ่มยาวขึ้นเรื่อย ๆ โดยจะอยู่ที่ 23 ซม. หนัก 850 กรัม
  • ทารกยังคงเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ กระดูกสันหลังเริ่มพัฒนา เริ่มแข็งแรงขึ้นพอที่จะพยุงร่างกายได้แล้ว แต่เค้ายังคงฝึกเรื่องการหายใจอยู่ ในขณะที่ปอดเจริญเติบโตเกือบเต็มที่แล้ว
  • ช่วงนี้แพทย์จะตรวจดูจังหวะการเต้นของหัวใจว่าปกติดีหรือไม่ ซึ่งโดยปกติแล้วหัวใจต้องเต้นอย่างสม่ำเสมอ มีอัตราการเต้นที่ประมาณ 140 – 160 ครั้งต่อนาที ถ้าทารกยังดิ้นดี ฟังเสียงหัวใจยังปกติดี แปลได้ว่าทารกแข็งแรงดี
  • ทารกมักชอบเหยียดขาแก้เมื่อยเป็นพัก ๆ ถ้าคุณแม่รู้สึกว่าลุกถีบด้านบน แสดงว่าหัวอยู่ด้านล่าง เป็นต้น
  • ระบบประสาทด้านการมองเห็นเริ่มพัฒนาได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น แต่ยังยกเว้นเรื่องของสีที่ยังไม่สามารถระบุได้

อาหารบำรุงครรภ์ 26 สัปดาห์

ดวงดาและระบบประสาทตาเริ่มมีการพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น สารอาหารสำคัญในสัปดาห์นี้ คือ โอเมก้า 3 ที่พบมากในไข่ เนื้อ นม สำหรับนม (นมวัว) ไม่ควรดื่มเกินวันละ 1 – 2 แก้วพอนะคะ

เพราะการดื่มนมวัวในปริมาณมาก ๆ ทุกวัน อาจเกินความต้องการและจะเป็นการกระตุ้นให้ลูกแพ้นมวัวได้ค่ะ

อายุครรภ์ 27 สัปดาห์

การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 27 สัปดาห์

  • ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของคุณแม่จะสูงขึ้น แต่ไม่น่าเป็นห่วง เพราะคอเลสเตอรอลเป็นสารอาหารหน่วยย่อยที่รกจะใช้ในการผลิตฮอร์โมนในการตั้งครรภ์หลายตัว
  • ช่วงนี้ให้คุณพ่อคุณแม่ชวนลูกพูดคุย หรือฟังเพลงบ่อย ๆ หรือจะใช้ไฟฉายส่องที่ท้องเปิด-ปิดไฟ เพื่อช่วยกระตุ้นพัฒนาการลูกได้นะคะ
  • คุณแม่จะเริ่มปวดหลังมากขึ้น เพราะท้องใหญ่ขึ้น จึงทำให้มีการดึงรั้งมากขึ้น

พัฒนาการทารกในครรภ์ 27 สัปดาห์

  • สัปดาห์นี้ความยาวทารกจะอยู่ที่ 24 ซม. หนัก 1 กก.
  • ดวงตาและขนตาสมบูรณ์ ระยะนี้ลูกจะชอบดูดอะไรก็ตามที่เข้าใกล้ปาก
  • ปุ่มรับรสบนลิ้นทำงานได้เต็มที่ ปอดยังคงเติบโตต่อ หากลูกคลอดในระยะนี้เรียกได้ว่ามีโอกาสรอด 90% แต่ต้องเข้าตู้อบและใส่เครื่องช่วยหายใจระยะหนึ่ง รอจนกว่าร่างกายแข็งแรงมากขึ้น สมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่สมบูรณ์ ทำให้ไวต่อการติดเชื้อ
  • เนื้อเยื่อในสมองมีการพัฒนามากขึ้น
  • ทารกสามารถสะอึก ซึ่งคุณแม่ก็รู้สึกและรับรู้ได้

อาหารบำรุงครรภ์ 27 สัปดาห์

สารอาหารที่แนะนำในช่วงนี้ ได้แก่ ธาตุเหล็ก แคลเซียม โอเมก้า 3 วิตามินเอ วิตามินซี เหล่านี้จะช่วยเสริมทารกในทุกด้านเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมากขึ้น

อายุครรภ์ 28 สัปดาห์

การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 28 สัปดาห์

  • คุณแม่อยู่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจมีการทดสอบการเคลื่อนไหวของลูกในช่วงเช้าและเย็นประมาณ 1 ชั่วโมง (หรือทดสอบการดิ้นนั่นเองค่ะ) คุณแม่ควรนับดูว่าการดิ้นของลูกนั้นครบ 10 ครั้งต่อรอบมั้ย ถ้าไม่ถึงควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อความสบายใจนะคะ
  • ช่วงนี้คุณแม่เริ่มเคลื่อนไหวได้ยากมากขึ้น แม้แต่ตอนจะนอนหรือจะลุกจากที่นอน เหล่านี้คือ อาการ Restless Legs Syndrome (RLS) ให้คุณแม่พยายามเหยียดขา หรือบีบขาเบา ๆ รวมถึงให้ปรึกษาแพทย์ร่วมด้วยค่ะ
  • นอนไม่หลับ เนื่องจากท้องที่ใหญ่มากขึ้น จนทำให้คุณแม่อึดอัด ไม่สบายตัว ส่งผลให้นอนไม่ค่อยหลับได้

พัฒนาการทารกในครรภ์ 28 สัปดาห์

  • ความยาวลูกจะเพิ่มเป็น 25 ซม. หนักประมาณ 1.1 กก.
  • ช่วงนี้เริ่มเข้าไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ลูกยังคงฝึกหายใจอย่างต่อเนื่องโดยมีสารน้ำเข้าไปในทางเดินอากาศหายใจไม่ใช่ปอด
  • ผิวหนังยังคงเป็นสีแดง มีไขมันหุ้มอยู่ทั้งตัว โดยพอจะมองออกแล้วว่าจะเป็นศีรษะหรือก้นที่ออกมาก่อน
  • การได้ยินของลูกจะดีมากขึ้น หากเป็นเพศชายอัณฑะได้เคลื่อนลงมาในถุงอัณฑะเกือบหมดแล้ว ถ้าเป็นเพศหญิง แคมยังเล็กและยังปิดปุ่มกระสัน (คลิทอริส) ไม่มิด

อาหารบำรุงครรภ์ 28 สัปดาห์

อาหารบำรุงครรภ์ในช่วงนี้ ได้แก่ ธัญพืช ถั่ว ผักใบเขียว พืชที่มีฝัก มัน โฮลวีท โฮลเกรน รวมทั้งซีเรียลก็ได้นะคะ

การเปลี่ยนแปลงแม่ตั้งครรภ์ แต่ละสัปดาห์

[random_posts2 limit=10]