Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ตั้งครรภ์ และ อาหารบำรุงครรภ์ สัปดาห์ที่ 37 ถึง สัปดาห์ที่ 40

ตั้งครรภ์ และ อาหารบำรุงครรภ์ สัปดาห์ที่ 37 ถึง สัปดาห์ที่ 40

โค้งสุดท้ายของการตั้งครรภ์แล้ว การตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 37 – 40 นี้ ร่างกายคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร พัฒนาการทารกจะอยู่ในระดับใดแล้ว ไปติดตามกันค่ะ

อายุครรภ์ 37 สัปดาห์

การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์

  • สำหรับสัปดาห์นี้ในทางการแพทย์นับเป็นสัปดาห์แรกของการที่มีอายุครรภ์ครบกำหนด (อายุครรภครบกำหนดในทางการแพทย์คือ 37-42 สัปดาห์) คือ ถ้าหากจำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนด ส่วนมากในสัปดาห์นี้ทารกจะปลอดภัย เพราะอวัยวะต่าง ๆ พัฒนาเต็มที่แล้ว
  • เริ่มมีอาการเจ็บเตือน จะถี่ขึ้นเรื่อย ๆ และจะใช้เวลานานขึ้นในแต่ละครั้ง ในขณะที่คุณแม่เข้าห้อง ให้เช็คทุกครั้งว่ามูกเลือดออกมาจากช่องคลอดด้วยหรือไม่ เนื่องจากมูกเลือดจะเป็นตัวบ่งบอกได้ว่าปากมดลูกมีการคลายตัว แต่ถ้าหากพบว่ามีเลือดออกมามาก ให้รีบไปโรงพยาบาล
  • แพทย์จะตรวจดูว่าปากมดลูกเปิดแล้วหรือยัง มีความบางตัวลงแล้วหรือยัง มากหรือน้อยแค่ไหน ทารกอยู่ในตำแหน่งไหน และท่าไหนแล้ว

พัฒนาการทารกในครรภ์ 37 สัปดาห์

  • ความยาวของลูกสัปดาห์จะอยู่ที่ 35 ซม. หนักประมาณ 2,950 กรัม
  • อวัยวะต่าง ๆ สมบูรณ์เต็มที่ ปอดและหัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • สามารถกระพริบตาได้คล่องขึ้น มีลำคอที่หนาขึ้น ผิวบางอมชมพู
  • ช่วงสัปดาห์นี้ ทารกเริ่มเอาศีรษะกลับหัวลงมาบริเวณอุ้งเชิงกรานแล้ว

อาหารบำรุงครรภ์ 37 สัปดาห์

ถึงแม้ว่าอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ส่วนใหญ่เติบโตเต็มที่ แต่สมองยังคงเติบโตและพัฒนาต่อไปเป็นเวลา 1,000 วัน ดังนั้น คุณแม่ควรเน้นทานโอเมก้า 3 พบมากในนม ไข่ เนื้อปลา และถั่วต่าง ๆ แต่ถ้าหากใน 1 วันคุณแม่กินถั่วร่วมด้วย ให้คุณแม่ลดปริมาณนมลงเหลือเพียง 1 แก้ว เพราะการกินโปรตีนมากไปอาจเป็นการกระตุ้นให้ลูกน้อยเกิดอาการภูมิแพ้ได้

อายุครรภ์ 38 สัปดาห์

การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์

  • เพราะร่างกายของคุณแม่แบกรับน้ำหนักมานานทำให้ปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และมาในสัปดาห์นี้คุณจะมีอาการเจ็บเพิ่มมากขึ้นในบริเวณหัวหน่าวยังปัสสาวะบ่อยอยู่
  • ความสูงของยอดมดลูกต่ำลง หรือทั่วไปเรียกว่า “ท้องลด” การดื่มน้ำก่อนนอนตอนกลางคืนทำให้คุณแม่ลุกปัสสาวะบ่อย พักผ่อนไม่เพียงพอ อาจทำให้คุณแม่หน้ามืด เป็นลมได้ ดังนั้น ควรเลี่ยงการดื่มน้ำมาก ๆ ก่อนนอนและการลุก หรือการนั่ง การเดินควรทำอย่างช้า ๆ นะคะ
  • มดลูกจะเริ่มมีการหดรัดเกร็งมากขึ้น แรงขึ้น และบ่อยขึ้น ถ้าหากถุงน้ำคร่ำแตก หรือมีของเหลวไหลออกมาพร้อมกับเลือด ให้รีบโรงพยาบาลโดยด่วน

พัฒนาการทารกในครรภ์ 38 สัปดาห์

  • ความยาวของทารกโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 37-38 ซม. หนักประมาณ 3,100 กรัม
  • สัปดาห์นี้รกเริ่มแก่ทำให้ประสิทธิภาพในการส่งต่ออาหารน้อยลง
  • ขนอ่อนตามร่างกายเริ่มหลุดร่วง เตรียมพร้อมที่จะออกมาสู่โลกภายนอก
  • การเคลื่อนไหว การดิ้นจะน้อยลง เพราะทารกกลับหัวแล้วทำให้พื้นที่มีอย่างจำกัด ช่วงนี้คุณแม่ต้องคอยนับหรือสังเกตการดิ้นของลูกด้วยนะคะ หากไม่ดิ้นเป็นเวลานานควรปรึกษาคุณหมอทันที

อายุครรภ์ 39 สัปดาห์

การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 39 สัปดาห์

  • ช่วงนี้คุณแม่อาจมีความกังวลมาก คิดไปหลายเรื่องทั้งเรื่องความสมบูรณ์ของลูก เรื่องการคลอด เรื่องการเจ็บท้อง ฯลฯ ทำให้นอนไม่หลับ ซึ่งจะส่งผลให้แรงเบ่งไม่พอหากต้องมีการคลอด
  • การหดรัดเกร็งของมดลูก ยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ต้องกังวลค่ะให้คุณแม่คอยสังเกตอาการว่ามีน้ำคร่ำแตกหรือมีของเหลวไหลออกมาพร้อมเลือดหรือไม่ก็พอค่ะ

พัฒนาการทารกในครรภ์ 39 สัปดาห์

  • ความยาวของทารกโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 37-38 ซม. หนักประมาณ 3,250 กรัม
  • อวัยวะทุกส่วนเติบโตเต็มที่ พร้อมจะออกมาสู่โลกภายนอก ทารกเริ่มกลับหัว แต่หากไม่กลับหัว อาจต้องใช้วิธีการผ่าตัดแทนการคลอดแบบธรรมชาติ

อาหารบำรุงครรภ์ 39 สัปดาห์

คุณแม่ควรเน้นทานวิตามินบี 1 เสริมซักนิด เพื่อไม่ให้เหนื่อยง่ายนะคะ วิตามินบี 1 พบมากใน ไข่แดง ข้าวโอ๊ต ลูกเดือย มันฝรั่ง ตับโยเกิร์ตนม และถั่วต่าง ๆ ค่ะ

อายุครรภ์ 40 สัปดาห์

การเปลี่ยนแปลงของแม่ตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์

  • การรอคอยของคุณแม่ยังมีอยู่ในทุกวันพร้อมกับความเจ็บปวดทางร่างกายที่ยังมีอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เช่น ปวดอวัยวะเพศ ปวดขา ปวดเอว ปวดหลัง (เรียกว่าส่วนไหนที่ปวดได้ ก็ปวดเกือบหมดเลยค่ะ) แต่..จะมีอาการดังต่อไปนี้ ที่เป็นสัญญาณบอกว่าคุณแม่ควรไปโรงพยาบาลโดยด่วน
    • มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด
    • น้ำเดิน นั่นหมายถึงถุงน้ำคร่ำแตก จะมีลักษณะน้ำใสๆ เหมือนปัสสาวะ แต่ไหลออกมาทางช่องคลอด
    • เจ็บท้อง หากมีอาการเจ็บที่สม่ำเสมอทุก 5 นาที ไม่ต้องรอน้ำเดิน หรือรอมีมูกเลือด ให้ไปที่โรงพยาบาลทันทีค่ะ
    • กลับกัน หากเข้าสัปดาห์ที่ 40 แล้ว คุณแม่ยังไม่มีวี่แววว่าจะคลอด ไม่ต้องกังวลใจไปนะคะ สามารถรอให้ถึงสัปดาห์ที่ 42 ได้ค่ะ แต่โดยทั่วไปเมื่อเข้าสัปดาห์ที่ 41 คุณหมอจะนัดตรวจและให้ยากระตุ้นการคลอด แต่หากให้ยากระตุ้นแล้วยังไม่มีผลใดๆ คุณหมอจะพิจารณาเรื่องการผ่าคลอดต่อไปค่ะ

พัฒนาการทารกในครรภ์ 40 สัปดาห์

  • หากคุณแม่ท่านไหนที่คลอดภายในสัปดาห์ที่ 37-42 ไม่ถือว่าเป็นการคลอดก่อนกำหนดนะคะ เพราะทางการแพทย์จะกำหนดคลอด นั่นคือ การคาดคะเนวันคลอดคร่าวๆ เพื่อให้คุณแม่ได้เตรียมตัวค่ะ
  • สำหรับสัปดาห์นี้ความยาวของลูกจะอยู่ที่ 48 ซม. หนักประมาณ 3,250 กรัม ทารกส่วนใหญ่จะกลับหัว และเริ่มเคลื่อนตัวสู่ช่องคลอดหรือช่องเชิงกราน ทารกอาจดิ้นน้อยลง แต่ยังคงดิ้นนะคะ อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อชั่วโมง

อาหารบำรุงครรภ์ 40 สัปดาห์

อาหารที่แนะนำในช่วงนี้คือ อาหารที่อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามินบี 1 และวิตามินซี ค่ะ เพื่อเป็นการเสริมให้คุณแม่มีพละกำลังในการที่จะอุ้มลูกน้อยนั่นเองค่ะ

เป็นอย่างไรกันบ้าง ระยะเวลากว่า 40 สัปดาห์ ที่รอคอย ฟังดูเหมือนจะนานนะคะ แต่พอเอาเข้าจริง ๆ มันเร็วมาก เพราะฉะนั้น การดูแลใส่ใจทั้งตั้วคุณแม่เองและลูกน้อยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อย่าลืมว่าหลังคลอด คุณแม่ต้องดูแลตัวเองอีกมาก เพื่ออีกหนึ่งชีวิตน้อย ๆ ที่รอคุณแม่อยู่นะคะ

การเปลี่ยนแปลงแม่ตั้งครรภ์ แต่ละสัปดาห์

[random_posts2 limit=10]