การฝากครรภ์เป็นสิ่งแรกที่คนกำลังจะก้าวไปเป็นแม่ต้องคิดถึงและรีบไปจัดการให้เรียบร้อยตั้งแต่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์เพราะเป็นเหมือนการไปฝากตัวทั้งแม่และลูกให้ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ดูแลอย่างใกล้ชิดและให้คำแนะนำที่ถูกต้องในแต่ละระยะของการตั้งครรภ์ แล้วถ้าอยากจะลงลึกเพื่อให้รู้ถึงทั้งความสำคัญ วิธีการเตรียมตัวไปฝากครรภ์และขั้นตอนการฝากครรภ์ทางเราก็มีรวบรวมไว้ให้คุณแม่มือใหม่ทั้งหมดแล้วข้างล่างนี้
สารบัญ
มาเริ่มกันที่ความสำคัญของการฝากครรภ์
- คุณแม่จะได้รับการดูแลอย่างดีจากทีมแพทย์ตั้งแต่เริ่มต้นตั้งครรภ์ไปจนถึงการคลอดเสร็จเรียบร้อยและยังได้รับคำแนะนำและวิธีการเริ่มเลี้ยงลูกอย่างถูกต้องอีกด้วย
- คุณแม่จะไม่ต้องมานั่งกังวลและเครียดกับความเปลี่ยนแปลงหรืออาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายเพราะได้รับคำแนะนำและการแจ้งอาการต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากทีมแพทย์เป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นเอง ซึ่งการไม่มีความกังวลและไร้ความเครียดนั้นส่งผลดีกับทั้งสุขภาพของคุณแม่และลูกในครรภ์อีกด้วย
- การฝากครรภ์จะมีระยะเวลานัดไปพบแพทย์อยู่เสมอดังนั้นเมื่อคุณแม่มีอาการป่วยหรืออาการแทรกซ้อนใดๆ ที่มีความผิดปกติทางทีมแพทย์ก็จะสามารถรักษาและให้คำแนะนำได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง
- การฝากครรภ์นั้นจะทำให้คุณแม่ทราบถึงระยะเวลาในการเติบโตของลูกในครรภ์ในแต่ละขั้นตอนได้เป็นอย่างดีและสามารถเตรียมตัวดูแลทั้งตนเองและลูกได้อย่างถูกต้องอีกด้วย
และช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะไปฝากครรภ์ขอแนะนำว่าทันทีที่ทราบว่ามีการตั้งครรภ์แต่ถ้าเกิดความล่าช้าอย่างไรก็ไม่ควรเกินอายุครรภ์ 3 เดือน หรือประมาณ 12 สัปดาห์นั่นเองเพื่อเป็นผลดีที่สุดกับทั้งตัวคุณแม่และลูกในครรภ์
การเตรียมตัวฝากครรภ์ไม่ได้ยากอย่างที่คิด
- เตรียมประวัติส่วนตัวทั้งในอดีตและปัจจุบันในส่วนของการเกิดโรคร้ายแรงหรือการผ่าตัดว่าเคยทำการผ่าตัดในส่วนใดบ้างหรือไม่
- เตรียมประวัติของคนในครอบครัวของทั้งสองฝ่ายเกี่ยวกับเรื่องของโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด วัณโรค เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงทางกรรมพันธุ์
- เตรียมประวัติในการเป็นประจำเดือนรอบล่าสุดเพื่อที่ทีมแพทย์จะนำมาคำนวณถึงกำหนดการคลอดในขั้นตอนต่อไป
- และหากคุณเคยมีลูกมาก่อนแล้วก็ให้เตรียมประวัติเกี่ยวกับน้ำหนักของลูก การคลอดเป็นไปอย่างง่ายดายหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดทางทีมแพทย์ก็จะนำว่ามาวิเคราะห์เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกันต่อ
เมื่อถึงวันฝากครรภ์จะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
เริ่มที่การชั่งน้ำหนักตัวคุณแม่
การชั่งน้ำหนักอาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่มีความสำคัญมากเลยทีเดียวเพราะจะช่วยทำให้เห็นถึงการเติบโตของลูกในครรภ์และหากมีน้ำหนักที่มากหรือน้อยจนเกินไปจะได้เป็นแนวทางในการตรวจหาโรคแทรกซ้อนกันต่อไป
วัดส่วนสูง
วัดเพื่อประเมินว่าจะมีการคลอดยากหรือไม่ถ้าคุณแม่ที่มีส่วนสูงไม่มากนักอาจจะมีอุ้งเชิงกรานที่เล็กทำให้มีผลกับการคลอดลูกได้นั่นเอง เมื่อทราบแล้วทางทีมแพทย์จะได้ทำการเตรียมแผนการคลอดเอาไว้
ตรวจอาการบวม
ในส่วนนี้จะทำการตรวจในช่วงประมาณ 3 เดือนสุดท้ายก่อนคลอดเพื่อตรวจหาอาการแทรกซ้อนต่างๆ นั่นเอง
ตรวจเต้านม
เนื่องจากหลังคลอดลูกมีความจำเป็นที่จะต้องกินนมแม่ดังนั้นทีมแพทย์จึงต้องทำการตรวจสอบว่ามีอาการหัวนมบอด หรือมีความผิดปกติในส่วนไหนหรือไม่เพื่อที่จะรักษาและแก้ไขได้ทันเวลา
ตรวจหน้าท้องคุณแม่
ทีมแพทย์จะทำการตรวจในส่วนนี้ทุกครั้งเพื่อตรวจดูถึงการเจริญเติบโตของมดลูกและลูกในครรภ์นั่นเอง และในช่วงเวลาใกล้คลอดการตรวจหน้าท้องจะทำให้ทราบได้ว่าเด็กอยู่ในท่าที่ถูกต้องหรือไม่ เพื่อที่จะวางแผนการคลอดที่ถูกต้องนั่นเอง
การวัดความดัน
การวัดความดันเพื่อที่จะช่วยตรวจสอบอาการแทรกซ้อนต่างๆ รวมทั้งภาวะครรภ์เป็นพิษที่อาจเกิดจากความดันสูงร่วมกับอาการบวมนั่นเอง
ตรวจภายใน
จะมีการตรวจภายในครั้งแรกและก่อนคลอดเพื่อที่จะตรวจว่ามีอาการมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ในครั้งแรกและอีกครั้งเพื่อตรวจสอบว่าคุณแม่มีการติดเชื้อใดๆ หรือไม่
ตรวจเลือด
นี่คือสิ่งที่จะต้องทำตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปฝากครรภ์เพื่อที่จะตรวจสอบว่าคุณแม่มีอาการของโรคที่ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์หรือไม่หรือมีโรคอะไรที่อาจเป็นอันตรายกับการตั้งครรภ์หรือไม่อีกด้วย
ตรวจปัสสาวะ
นี่คืออีกอย่างที่จะช่วยตรวจสอบอาการและโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
การตั้งครรภ์นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้คุณแม่หันมารักและใส่ใจตนเองให้มากขึ้นเพื่อที่จะเป็นผลดีกับลูกในครรภ์และแน่นอนว่าทีมแพทย์จะเป็นผู้นำไปยังการตั้งครรภ์ การคลอด และการเลี้ยงลูกให้คุณแม่ได้อย่างถูกวิธีแน่นอนไม่ต้องกังวลหากได้ทำการฝากครรภ์เป็นที่เรียบร้อยแล้วก็เพียงทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัดเท่านั้นก็เตรียมพบกับลูกน้อยกันได้เลย