Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

รู้จักโรคสมาธิสั้นกันเถอะ

สมาธิสั้น เป็นอีกหนึ่งโรคยอดฮิตในปัจจุบัน ที่พ่อแม่มักมีความกังวลว่าจะเกิดขึ้นกับลูกหรือไม่ และพ่อแม่หลายท่าน ก็ไม่ทราบว่าลูกขอตัวเองกำลังประสบกับภาวะนี้อยู่ด้วยซ้ำไป ฉะนั้น การทำความรู้จักกับโรคนี้อย่างละเอียดมากขึ้น เป็นวิธีที่ดีที่พ่อแม่จะได้ขจัดความเข้าใจผิดต่างๆ และสังเกตพฤติกรรมลูกรักได้ว่า เข้าข่ายเด็กสมาธิสั้นหรือไม่

โรคสมาธิสั้นคืออะไร

โรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder หรือ ADHD) คือกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพฤติกรรม การเรียน การเข้าสังคมของเด็ก กลุ่มอาการนี้ได้แก่ การขาดสมาธิ การขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง อาการซน โรคนี้มักวินิจฉัยในเด็ก แต่อาการของโรคยังสามารถคงอยู่ได้จนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ได้ การรักษาที่เหมาะสม จึงจะทำให้เด็กที่เป็นโรคนี้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

อาการของเด็กสมาธิสั้น

โดยปกติเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น จะไม่สามารถทนทำอะไรจนเสร็จได้ แม้จะเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างนั่งฟังนิทานจนจบ หรือวาดรูปจนเสร็จ พวกเขาจะไม่มีสมาธิ หุนหันพลันแล่น และอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าวร่วมด้วย เด็กสมาธิสั้นมักจะพูดมาก และพูดซ้ำๆ เรื่องเดิม แต่ไม่ได้หมายความว่า เด็กที่ชอบมีคำถามว่า “ทำไม” จะเป็นเด็กสมาธิสั้น อาจเป็นเพียงความอยากรู้อยากเห็นตามประสาเด็ก

สังเกตพฤติกรรมเบื้องต้นของเด็กที่มีแนวโน้มสมาธิสั้น

ไม่ว่าลูกของคุณจะมีอาการชัดเจนแค่ไหน ก็ไม่ควรที่จะวินัจฉัยโรคด้วยตัวเอง มีเด็กอายุต่ำกว่า 7 ขวบหลายคนถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นโดยที่พวกเขาไม่ได้เป็น การวินิจฉัยโรคนี้ต้องอาศัยเวลาสังเกตพฤติกรรมต่อเนื่อง ซึ่งหากสงสัยว่าโรคมีพฤติกรรมเข้าข่าย คุณพ่อคุณแม่ควรจดบันทึกพฤติกรรมของลูกอย่างละเอียด เพื่อปรึกษาแพทย์และให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยต่อไป

สมาธิสั้นเกิดจากสาเหตุอะไร

สาเหตุของการเกิดโรคสมาธิสั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไรกันแน่ ดังนั้นพ่อแม่ทั้งหลายที่พบว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้น ไม่ควรโทษแต่การเลี้ยงดูของตัวเอง เพราะสาเหตุจากการเลี้ยงดูเป็นเพียงส่วนน้อยมากที่ทำให้เกิดโรคนี้ หลักฐานจากการวิจัยพบว่า เป็นไปได้หลายปัจจัย ดังนี้

1.ความผิดปกติทางพันธุกรรม

ผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของยีนส์ เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมักมีญาติพี่น้องที่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือดป่วยเป็นโรคมากกว่าคนปกติ ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่โรคสมาธิสั้นจะส่งต่อกันผ่านทางพันธุกรรม

2.สมองทำงานผิดปกติ

ความผิดปกติทางสมองอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคสมาธิสั้น เป็นไปได้ทั้งโครงสร้างสมองตั้งแต่กำเนิด หรือเกิดจากอุบัติเหตุระหว่างตั้งครรภ์ทำให้สมองเกิดการกระทบกระเทือน จากการสแกนสมองผู้ป่วยโรคสมาธิสั้น พบว่าพื้นที่บางส่วนของสมองผู้ป่วยมีขนาดเล็กกว่า และบางส่วนก็มีขนาดใหญ่กว่าคนปกติ รวมทั้งการขาดความสมดุลของระดับสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งอาจส่งผลให้เป็นโรคสมาธิสั้นได้

3.การตั้งครรภ์และการคลอด

อาจเกิดจากการดูแลไม่ดีระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ผู้เป็นแม่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติดในขณะตั้งครรภ์ หรืออาจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลภาวะเป็นพิษ จึงรับเอาสารพิษเข้าสู่ร่างกายจนมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ รวมไปถึงการคลอดก่อนกำหนด และการมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำ

4.การรับประทานอาหาร

มีการวิจัยว่าสารเจือปนในอาหารบางอย่างอาจมีผลต่อความรุนแรงของอาการสมาธิสั้น ทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น นักวิจัยบางคนเชื่อว่าการขาดกรดไขมันโอเมก้า3 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคนี้ เนื่องจากกรดไขมันดังกล่าวสำคัญต่อพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทของเด็ก

เมื่อลูกสมาธิสั้นควรทำอย่างไร

เมื่อสงสัยว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้น ก่อนอื่นพ่อแม่ควรทำความเข้าใจ และเปิดใจให้กว้าง สร้างทัศนคติที่ดีกับเรื่องนี้และใจเย็นกับพฤติกรรมของลูก จากนั้นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาวิธีการบำบัดรักษาต่อไป ในทางการแพทย์จะมีการใช้ยาบำบัด และการบำบัดทางจิต แต่การรักษาโรคสมาธิสั้นในเด็กได้ดีที่สุด เริ่มได้จากที่บ้าน ผู้ปกครองต้องเข้าใจว่า เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นต้องการความเป็นระบบระเบียบ ความสม่ำเสมอ และการสื่อสารที่ชัดเจน พ่อแม่มีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะต้องช่วยเหลือและให้กำลังใจลูก ฝึกฝนและเลี้ยงดูอย่างเข้าใจและใส่ใจมากขึ้นควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์ที่ถูกต้อง