Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกสมาธิสั้นหายได้ง่ายๆ ด้วยความเข้าใจ

เด็กๆ ย่อมมาคู่กับความซน ความอยากรู้อยากเห็น และช่างสงสัย แต่อาจจะมีเด็กบางคนที่อาจจะซนจนเกินไปและไม่สามารถใจจดใจจ่อกับสิ่งใดได้นานเท่าไรนัก อาการดังกล่าวอาจจะเป็นอาการของโรคสมาธิสั้นก็เป็นได้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปตรวจเช็คอาการเพื่อที่จะสามารถดูแลกันได้อย่างถูกวิธี

และการรักษาโรคนี้จะไม่สามารถสำเร็จได้เลยถ้าขาดความเข้าใจ ความใส่ใจ และการคอยช่วยเหลือลูกอย่างถูกวิธี วันนี้เราจะพามารู้จักกับโรคสมาธิสั้นและบอกเล่าถึงวิธีการรักษาให้คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับลูกๆ ของคุณกัน

ประเภทของโรคสมาธิสั้น

ไฮเปอร์

คือ อาการของเด็กๆ ที่ซน ไม่ชอบที่จะอยู่นิ่งๆ หรือจดจ่อกับสิ่งใดนานๆ รวมไปถึงอาจจะพูดมากและมีพลังงานในตัวอย่างเหลือล้นจนใครหลายๆ คนที่ไปเล่น ไปคุยด้วยอาจจะหมดพลังไปเลยก็ว่าได้

ขาดสมาธิ

คือ อาการที่จะแสดงออกมาให้เห็นถึงความเบื่อหน่ายเรื่องต่างๆ ได้ง่ายๆ และมักมีอาการวอกแวกในเวลาที่กำลังทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่เสมอ ชอบเหม่อลอย และเมื่อได้รับมอบหมายการบ้านหรืองานต่างๆ ก็จะไม่มีสมาธิทำให้เสร็จและยังเป็นเด็กขี้ลืมอยู่บ่อยๆ อีกด้วย

อาการใจร้อน

คือ อาการที่ส่งผลให้เกิดการขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่มีความอดทน ชอบพูดแทรก และไม่ค่อยฟังคุณพ่อคุณแม่และมักโวยวาย แสดงอาการหงุดหงิดใจร้อนอยู่บ่อยๆ นั่นเอง

สาเหตุของโรคสมาธิสั้น

พันธุกรรม

หากก่อนหน้านั้นในครอบครัวของคุณมีคนที่มีอาการของโรคสมาธิสั้นอยู่อาจจะเป็นผลให้ลูกของคุณสามารถเป็นได้เนื่องจากพันธุกรรมนั่นเอง

ความผิดปกติทางสมอง

ไม่ว่าจะเกิดมาจากสาเหตุของอาการสมองขาดออกซิเจน มีเลือดออก ติดเชื้อโรค มีอาการลมชัก รวมไปถึงความผิดปกติของสารเคมีบางชนิดในสมอง สาเหตุต่างๆ เหล่านี้ก็สามารถเป็นต้นเหตุของโรคสมาธิสั้นของลูกคุณได้เช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตามคุณควรพาลูกไปตรวจกับแพทย์ให้ดีก่อนเพราะมีบางโรคที่ส่งผลให้ของคุณมีอาการคล้ายกับโรคสมาธิสั้นได้ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ ภูมิแพ้ต่างๆ การขาดสารอาหารบางชนิด รวมไปถึงการที่เด็กอาจได้รับยาบางชนิดด้วย

วิธีการรักษาโรคสมาธิสั้น

หลีกเลี่ยงสิ่งเร้า

เด็กๆ ที่เป็นโรคสมาธิสั้นนั้นจะมีอาการออกมาเยอะขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งเร้า เช่น การอยู่กับเพื่อนที่ซุกซน การนั่งเรียนหลังห้องทำให้ไม่ได้รับความสนใจ การมีสิ่งอื่นๆ ให้สนใจรอบตัว เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งเร้าที่สามารถทำให้อาการของลูกนั้นหนักไปยิ่งกว่าเดิมได้
สิ่งที่ควรแก้ก็คือ การพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าและการหากิจกรรมต่างๆ ให้ลูกได้ทำแทน เช่น การเล่นดนตรี กีฬา ศิลปะ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กค่อยๆ มีสมาธิมากขึ้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำก็คือการคอยสังเกตว่าลูกชอบกิจกรรมนั้นๆ หรือไม่ และคอยเอ่ยปากชมเสมอเมื่อมีจังหวะและโอกาสที่เหมาะ

ไม่ลงโทษอย่างผิดวิธี

การเป็นเด็กสมาธิสั้นหากไม่ได้รับความเข้าใจอาจจะทำให้โดนเข้าใจได้ว่าเป็นเด็กดื้อ ไม่ยอมรับฟังคำสอนต่างๆ จนทำให้เป็นสาเหตุของการถูกลงโทษนั่นเอง และเมื่อลงโทษด้วยความรุนแรงและไม่เข้าใจพื้นฐานของโรคแล้วอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้อาการหนักไปกว่าเดิมจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตและเป็นผลต่ออนาคตที่เด็กๆ อาจจะหันไปพึ่งพาสิ่งไม่ดีต่างๆ เช่น ยาเสพติด การพนัน เป็นต้น
ดังนั้นก่อนจะลงโทษหรือสอนต้องมีความเข้าใจทั้งในนิสัยส่วนตัว และในโรคสมาธิสั้นให้ดีก่อนไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดผลเสียตามมา

คอยสังเกต

เมื่อเด็กๆ ได้เริ่มทำกิจกรรมและชอบ รวมไปถึงได้รับความเข้าใจและไม่ถูกลงโทษไปเรื่อยแล้วนั้นก็จะมีอาการที่ดีขึ้น ในจุดนี้ให้คุณพ่อคุณแม่ค่อยๆ เอาการบ้านงานที่ได้รับมอบหมายเข้ามาให้ลูกทำ ด้วยการคอยสอน คอยบอกและคอยดูแลอยู่เสมอ อย่าลืมที่จะเอ่ยชมทุกครั้งที่มีโอกาส เพื่อเป็นการช่วยโน้มน้าวใจให้ลูกค่อยๆ รู้สึกดีกับเรื่องเหล่านี้และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการหายเป็นสมาธิสั้นได้ในที่สุด

ความรัก ความใส่ใจ ความเข้าใจ การดูแลลูกอย่างใกล้ชิดรวมไปถึงการหมั่นปรึกษาแพทย์อยู่ตลอดสิ่งเหล่านี้จะช่วยก่อให้เกิดสิ่งดีๆ ตามมาอย่างแน่นอน
คุณพ่อคุณแม่ต้องเริ่มเปิดใจว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกและไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อใจของคนดูแลดี ใจของคนถูกดูแลย่อมสัมผัสได้อย่างแน่นอน