Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกไม่ยอมกินนมแม่ ทำอย่างไรดี

ลูกไม่ยอมกินนมแม่ ทำอย่างไรดี

อาจมีคุณแม่บางคนที่เผชิญกับปัญหาลูกน้อยไม่ยอมกินนมแม่ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ก็ดูดได้ปกติดี อาการนี้เป็นสัญญาณที่ลูกน้อยพยายามจะสื่อสารกับคุณแม่ค่ะว่าต้องมีสิ่งผิดปกติอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะจากทั้งคุณแม่เองหรือจากทั้งลูกน้อย กรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับทารกทุกคนนะคะ เป็นเพียงบางคนเท่านั้น

สาเหตุที่ลูกไม่ยอมกินนมแม่

สาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยไม่ยอมกินนมแม่นั้น สามารถเกิดได้หลายสาเหตุ ดังนี้

เกิดจากความเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น ลูกน้อยอาจมีอาการหูอักเสบติดเชื้อ ส่งผลให้ขณะที่ลูกดูดนมแล้วมีอาการเจ็บในหู หรืออาจเกิดจากความเจ็บป่วยทั่วไป รวมไปถึงหลังการรับวัคซีน ทำให้ลูกน้อยรู้สึกเครียดจึงไม่อยากกินนม
ชินกับการดูดขวดมาก่อน ทารกบางคนเคยดูดนมจากขวดมาก่อน (อาจเป็นนมแม่ที่ปั๊มใส่ขวดไว้) ที่ใช้แรงดูดน้อยกว่าการดูดนมแม่ ทารกจึงติดใจการดูดจากขวดมากกว่า
เจ็บเหงือก เพราะฟันจะขึ้น ลูกน้อยอาจเจ็บเหงือกเพราะฟันจะขึ้น อาจมีแผลในช่องปาก มีเชื้อรา รวมถึงอาจเจ็บคอ เนื่องจากอาการหวัด
ท่าอุ้มให้นมที่ผิดท่า ท่าอุ้มให้นมมีความสำคัญมากค่ะ เพราะท่าอุ้มที่ไม่ถูกต้องจะส่งผลให้ลูกน้อยไม่สบายตัว และปฏิเสธเต้าแม่ได้เช่นกัน
ลูกน้อยห่างจากแม่นานเกินไป ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตามที่คุณแม่ต้องจากลูกน้อย ทำให้ลูกน้อยสับสน เพราะตารางชีวิตเปลี่ยนไปมาก จึงทำให้ลูกน้อยไม่คุ้นเคยที่จะดูดเต้าคุณแม่
ไม่สบาย หายใจไม่สะดวก เพราะทารกยังไม่สามารถหายใจทางปากได้ ดังนั้น เมื่อมีอาการแน่น หรือคัดจมูกจึงทำให้ลูกน้อยไม่อยากกินนนม
ปริมาณน้ำนมแม่ที่ลดลง เนื่องจากคุณแม่บางคนให้นมผสมกับลูกน้อยมากกว่าการเข้าเต้า จึงส่งผลให้ปริมาณน้ำนมของคุณแม่ลดลง ทำให้ลูกต้องใช้แรงดูดมาก
มีสิ่งเร้าอื่น ๆ รอบตัว ในขณะที่ลูกกินนมแม่นั้น รอบ ๆ ตัวลูกมีสิ่งเร้า เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของลูกไป อาทิ เสียงดังจากนอกบ้าน เสียงแตรรถ เสียงทีวี และเสียงจากของเล่น เป็นต้น

วิธีแก้ไขให้ลูกยอมกินนมแม่

หากลูกน้อยไม่ยอมกินนนมแม่ คุณแม่อย่าเพิ่งท้อใจไป มาลองวิธีเหล่านี้ดูค่ะ

เปลี่ยนท่าให้นม ท่าให้นมลูกมีความสำคัญมากค่ะ เพราะถ้าคุณแม่อุ้มลูกไม่ถูกต้องลูกจะไม่สบายตัว ทำให้ลูกไม่อยากดูดนมได้ (คลิกที่นี่ > “4 ท่าให้นมลูกยอดนิยมพร้อมท่าทางที่ถูกต้อง

มีท่าให้นมลูกแบบอื่น ๆ อีกไหมที่สบายทั้งแม่และลูก? เรารวมท่ายอดฮิตในการให้นมลูกไว้ที่นี่แล้ว

บริหารเวลาเพื่อให้เวลาลูกมากขึ้น คุณแม่บางคนต้องทำงานนอกบ้าน ออกจากบ้านแต่เช้ากลับบ้านมาลูกก็หลับแล้ว ลองปรับเปลี่ยนซักนิดค่ะ ลองบริหารเวลาใหม่ เพื่อให้เวลาลูกมากขึ้น เพื่อการใกล้ชิดกันมากขึ้น
ให้ลูกเข้าเต้าตรงเวลา คุณแม่ควรจัดตารางการให้นมลูกที่ตรงเวลาในทุกวัน เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ถึงเวลากินนม คุณแม่จะให้เข้าเต้าทุกครั้ง นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอาการคัดเต้านมและท่อน้ำนมอุดตันได้อีกด้วยค่ะ
เมื่อลูกหิวนม ให้ลูกเข้าเต้าทุกครั้ง สำหรับเด็กบางคนจะหิวบ่อย ถ้าเป็นแบบนี้ คุณแม่สามารถให้ลูกเข้าเต้าได้เลยค่ะ อย่าเพิ่งกังวลว่าจะตามใจลูกเกินไปหรือเปล่า ลูกจะกินนมไม่ตรงเวลาหรือเปล่า แต่เราควรทำให้ลูกกลับมาเข้าเต้าคุณแม่ได้ก่อน
กอดลูก อุ้มลูกมากขึ้น ร้อยทั้งร้อยค่ะ ลูกน้อยต้องการความรัก ความอบอุ่นจากคุณแม่ บางครั้งคุณแม่ได้อุ้มเค้า พาเค้าเดินเล่น แค่นี้เค้าก็มีความสุขมากแล้วค่ะ และเมื่อปริมาณความรัก ความสุขมีมากพอ ลูกน้อยจะเริ่มเข้าเต้าคุณแม่เอง
จัดบรรยากาศห้องให้สบาย อากาศถ่ายเทสะดวก คุณแม่ควรจัดห้องให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เงียบ สงบ พร้อมกับให้ลูกเข้าเต้า โดยที่คุณแม่สามารถนั่งบนเก้าอี้โยกช้า ๆ ได้แบบเพลิน ๆ (ย้ำว่าช้า ๆ นะคะ ไม่อย่างนั้นลูกอาจสำลักได้)
เปลี่ยนวิธีการให้นม เช่น จากเดิมคุณแม่อาจให้เข้าเต้าแล้วลูกปฏิเสธ ก็อาจเปลี่ยนมาเป็นการให้นมจากถ้วย หรือหลอดหยดแบบนี้ก็ได้ค่ะ

คุณแม่ลองพิจารณาดูนะคะว่ามีสาเหตุไหนที่ตรงหรือใกล้เคียงกับที่ลูกน้อยกำลังเป็นอยู่บ้าง แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ คุณแม่ต้องใจเย็น ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ดุลูก ไม่หงุดหงิด เพราะลูกสัมผัสได้ถึงอารมณ์ของคุณแม่ค่ะ ยิ่งถ้าเป็นในกรณีที่ลูกเคยดูดขวดมาก็จะต้องใช้ความพยายามซักหน่อย แต่สำหรับทารกบางคนที่เคยดูดขวดมาก่อน แต่อยู่มาวันหนึ่งก็ไม่ดูดขวดซะอย่างนั้น คลิกที่นี่ > “อยู่ดี ๆ ลูกก็ไม่ยอมดูดขวด ทำอย่างไรดี


เมื่อก่อนลูกยังดูดนมจากขวดได้ อยู่ ๆ ลูกก็ไม่ยอมดูดซะอย่างนั้น ทำอย่างไรดี? พบกับสาเหตุ พร้อมทั้งวิธีแก้ไขได้ที่นี่ คลิกเลย