Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

แม่ดุลูก แบบนี้ทำให้พัฒนาการหยุดชะงักได้

แม่ดุลูก แบบนี้ทำให้พัฒนาการหยุดชะงักได้

จำได้ว่าสมัยที่ผู้เขียนเด็กๆ ชื่นชอบในเรื่องการวาดรูป ขีดๆ เขียนๆ มาก พอเริ่มโตเป็นผู้ใหญ่ก็เริ่มเห็นเด็กๆ คนอื่นก็ชอบขีดๆ เขียนๆ เหมือนกัน จึงทำให้เข้าใจได้ว่า เป็นธรรมชาติของเด็กที่ชอบขีดเขียน โดยเฉพาะกำแพงบ้านบ้าง พื้นบ้านบ้าง หรือบนวัตถุอื่นๆ ก็มี แต่สิ่งสำคัญ…คือ “การดุ” ของผู้ใหญ่จะเป็นอุปสรรคในการที่จะให้เค้าได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ซึ่งจะส่งผลให้เค้ามีพัฒนาการที่ไม่สมวัย

การดุลูก ส่งผลด้านใดบ้าง

พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กหรือกล้ามเนื้อมือล่าช้า

จิตรกรรมบนฝาผนัง” หรือการขีดๆ เขียนๆ ของลูกบนฝาผนัง ทำให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ที่เลี้ยงดูดุเค้า เพราะทำให้ผนังเลอะเทอะ ทำความสะอาดลำบากหรือบางทีถึงขั้นเช็ดไม่ออก

แต่การดุเค้าหรือตีเค้า จะทำให้เค้าไม่กล้าที่จะเขียนอีกเลย ดูเหมือนเป็นเรื่องดีใช่มั้ยคะ แต่…คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ว่า การที่ลูกไม่จับดินสอสีเขียนอีกเลยไม่ว่าจะบนกำแพงหรือบนกระดาษนั้นจะทำให้พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กของลูกไม่แข็งแรง ส่งผลให้ “พัฒนาการด้านการขีดเขียนล่าช้า” ลูกจะลำบากเวลาที่ต้องลูกต้องเข้าเรียนในชั้นอนุบาล เรียนตามเพื่อนไม่ทัน สร้างความกดดันให้ลูก ทำให้ลูกเรียนอย่างไม่มีความสุข สุดท้าย…ลูกไม่อยากไปโรงเรียน

จินตนาการหดหาย

เพราะเด็กเค้ายังไม่รู้ว่าเค้าจะมีความชอบหรือความถนัดด้านไหน ดังนั้น การเล่นของเค้าในแต่ละเรื่อง จะเป็นการที่ทำให้เค้าได้เรียนรู้ว่า เค้าถนัดสิ่งไหน หรือไม่ถนัดสิ่งไหน

แต่ “การดุ” ของผู้ใหญ่จะทำให้เค้าไม่กล้าเล่น ไม่กล้าที่จะทำอะไรตามที่เค้าวาดฝันหรือจินตนาการไว้ ก็เหมือนกับผู้ใหญ่ได้ตีกรอบจินตนาการของลูกไว้โดยไม่รู้ตัว

ไม่รู้ว่าตัวเองถนัดด้านไหน

อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เพราะความที่เค้าเหมือนถูกตีกรอบไม่ให้ขีด ไม่ให้เขียน ก็เหมือนทำให้เค้าไม่ได้ปลดปล่อยจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ถูกบล็อก สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กเรียนรู้ได้ช้า ไม่รู้ว่าตัวเองถนัดด้านไหน ส่งผลให้คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่รู้ว่าจะสนับสนุนลูกในด้านใดดี

วัยเตาะแตะเป็นวัยแห่งความต้องการและปรารถนา (18 เดือน-3 ขวบ)

เด็กในวัยนี้เป็นวัยที่กำลังสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง เป็นวัยที่ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ช่างจดช่างจำ และแยกแยะว่าสิ่งไหนถูกสิ่งไหนผิด หากคุณพ่อคุณแม่มีเลี้ยงดูเค้าได้อย่างดี มีเหตุผลที่ถูกต้องในการสอนเค้า เค้าก็จะเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตนเอง ภาคภูมิใจในตนเอง

จำกันได้มั้ยคะ ผู้เขียนเคยอธิบายเรื่อง “Terrible Two (วัยทอง 2 ขวบ) คืออะไร? ข้อดีของ Terrible Two” ไปแล้ว ซึ่งก็คือวัยนี้เองค่ะ เด็กในวัยนี้เป็นวัยที่ดูจะชอบท้าทาย ดูว่ากรอบของตัวเองที่คุณพ่อคุณแม่กำหนดไว้ให้มีมากแค่ไหน แต่หากพ่อคุณแม่รู้ทันเด็กในวัยนี้ ก็จะทำให้การตอบสนองต่อความต้องการลูกได้ถูกต้องมากขึ้น


ลูก 2 ขวบ ชอบเอาแต่ใจ ขี้โวยวาย แบบนี้จะใช่ Terrible Two หรือเปล่า? คำตอบรอคุณแม่อยู่ในนี้แล้วค่ะ คลิกที่นี่

กลับกันหากเด็กในวัยนี้ได้รับการอบรมสั่งสอนมาอย่างผิดๆ มีเหตุผลก็เป็นเหตุผลแบบผิดๆ ก็จะทำให้เด็กกลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่อยากเข้าสังคม เพราะรู้สึกว่าคนอื่นเข้ากับเค้าไม่ได้ หนักๆ เข้า เด็กจะแยกตัวออกมาจากสังคม ชอบอยู่คนเดียว เก็บตัว และเป็นปัญหาสังคม

แม่ดุลูก ถูกที่ ถูกเวลา ลูกเชื่อฟังแน่นอน

ด้วยความที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนก็ต้องการให้ลูกเป็นคนดี การดุลูกยังสามารถทำได้อยู่ค่ะ เพียงแต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้หลักทั้ง 6 ข้อนี้เสียก่อน รับรองลูกเชื่อฟังแน่นอนค่ะ

ปรับใจตัวเองให้เป็นกลาง

ทุกคนสามารถผิดพลาดกันได้ค่ะ แล้วนับประสาอะไรกับเด็กเล็กที่เพิ่งลืมตาดูโลกมาไม่กี่ปี จะให้ลูกรู้จักการแก้ปัญหาได้ในทุกเรื่อง หรือจะให้คุมอารมณ์ให้ได้ทันทีก็คงจะดูใจร้ายไปนิด เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งด่วนสรุปลูกในสิ่งที่ลูกทำนะคะ

รับฟังลูกให้จบเสียก่อน

ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” คำนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรระวังในเรื่องการนำไปใช้ด้วยนะคะ เพราะในบางครั้งถึงแม้ว่าเรามีประสบการณ์มาก่อน แต่เชื่อเถอะค่ะว่าบางเหตุการณ์เราคาดไม่ถึงแน่นอน โดยเฉพาะกับลูกของเรา ลองเปิดใจฟังเหตุผลของลูกให้จบเสียก่อน แม้บางครั้งเหตุผลของลูกอาจดูไร้เดียงสาสำหรับผู้ใหญ่ แต่มันก็คือความคิดและมุมมองในแบบเด็ก ๆ ที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ยิ้มก็เป็นได้นะคะ

ควรดุลูกที่ “พฤติกรรม” ไม่ใช่ตัวตนของลูก

ตัวอย่างเช่น ลูกโมโหเขวี้ยงของเล่นลงพื้น คุณแม่ควรพูดกับลูกว่า “แม่ไม่ชอบทีหนูเขวี้ยงของเล่นแบบนี้เลย” ไม่ใช่ “แย่มาก ทำไมเป็นเด็กแบบนี้!

การที่คุณแม่ดุลูกหรือตำหนิที่ตัวตนของลูกบ่อย ๆ จะทำให้ลูกฝังหัวว่าตัวเองทำอะไรก็ไม่ดี ทำอะไรก็ผิดไปหมด ตัวเองไม่มีคุณค่า สุดท้ายลูกจะกลายเป็นเด็กที่มี Self-esteem ต่ำ หรือจะพูดง่าย ๆ ก็คือ ลูกจะเป็นเด็กที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเองนั่นเองค่ะ

ไม่ดุลูกต่อหน้าคนอื่น

เพราะลูกก็มีหัวใจค่ะ ไม่ใช่การที่เป็นคุณพ่อคุณแม่แล้วจะทำอะไรลูกก็ได้ ลูกก็รู้สึกเสียหน้าเป็นค่ะ คือถ้ามีอะไรให้กลับมาคุยกันที่บ้านจะดีที่สุด

สอบถามความคิดเห็นลูก

เมื่อลูกทำผิด ให้ถามเหตุผลของลูกก่อน อย่าเพิ่งรีบดุลูก แต่ใช้วิธีพูดคุยกัน และถามลูกว่าถ้ามีการทำผิดซ้ำอีก จะให้คุณแม่ลงโทษด้วยวิธีไหน ให้ลูกได้ช่วยออกความคิดเห็นไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการป้องกัน การแก้ไข และการลงโทษ

ตั้งสติ ก่อนจะปรี๊ดแตกใส่ลูก

หายใจเข้า-ออกลึก ๆ ก่อนค่ะ เพราะคุณแม่ไม่ควรใช้อารมณ์กับลูก ต้องหนักแน่นเอาไว้ก่อน เพราะการดุลูก หรือการห้ามลูก ก็เหมือนกับประโยคที่ว่า “ยิ่งห้าม ยิ่งยุ” แต่ให้คุณแม่ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนวิธีคิด โดยให้เข้าใจธรรมชาติของเด็ก ถ้าเราให้ความเข้าใจลูกมากพอ ลูกจะเป็นเด็กที่อ่อนโยน และเข้าใจผู้อื่นได้เช่นกันค่ะ

คุณพ่อคุณแม่ทุกคนล้วนแล้วแต่อยากให้ลูกเป็นเด็กดี ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข “การดุลูก” จะทำให้พัฒนาการลูกหยุดชะงัก แต่ “การพูดคุย และการตักเตือนลูกด้วยความเข้าใจ” จะทำให้ลูกหันมาฟังคุณแม่ได้มากกว่าแน่นอนค่ะ