Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

โตแล้วแต่ยังดูดนิ้ว ส่งผลเสียต่อการโครงสร้างฟันและการพูดออกเสียง

โตแล้วแต่ยังดูดนิ้ว ส่งผลเสียต่อการโครงสร้างฟันและการพูดออกเสียง

เรื่องของ “การดูดนิ้ว” สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์นะคะ โดยเริ่มได้ตั้งแต่อายุครรภ์ที่ 15 สัปดาห์ แต่เรื่องนี้คงไม่ใช่ปัญหาหากลูกน้อยสามารถเลิกดูดนิ้วได้เมื่ออายุราว ๆ 3 ขวบ ซึ่งปัญหาหลักของการที่ลูกดูดนิ้วไม่ใช่แค่เรื่องของสาเหตุอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของผลกระทบที่จะตามมาด้วยหากลูกน้อยอายุได้ 4 – 5 ขวบ แล้วแต่ก็ยังไม่เลิกดูดนิ้วเสียที

ปัญหาลูกชอบดูดนิ้ว

เมื่อทารกอยู่ในครรภ์ของคุณแม่ด้วยอายุที่ 15 สัปดาห์ เขาก็สามารถดูดนิ้วตัวเองได้แล้วค่ะ และเมื่อหลังคลอดแล้ว 4 เดือนลูกน้อยก็จะเริ่มดูดนิ้วอีกครั้ง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ในขั้นปากนั่นเอง

คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นได้จากที่ไม่ว่าลูกน้อยจะคว้าอะไรได้ปุ๊บก็จะเอาเข้าปากทันที นี่คือกระบวนการการเรียนรู้ของทารกค่ะ ไม่ใช่ว่าลูกอยากกินนะคะ และที่สำคัญ ยังเป็นการสร้างความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ตัวเองได้อีกด้วยค่ะ ซึ่งในเด็กบางรายไม่ใช่แค่ดูดนิ้วมือนะคะ แต่ยังเริ่มดูดนิ้วหัวแม่เท้าอีกด้วยค่ะ

โตแล้วแต่ยังดูดนิ้ว ผลเสียที่จะเกิดตามมา

ส่งผลให้โครงสร้างของฟันผิดปกติ

เพราะฟันแท้ที่ขึ้นมาจะขึ้นมาได้ไม่เต็มที่ ก็เพราะมีนิ้วที่คอยกันไว้ตลอดเวลา ดังนั้น ฟันแท้ที่ขึ้นมาจะมีลักษณะเหยิน ยื่น โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุเกิน 4 ปี แต่ยังดูดนิ้วอยู่

เกิดความผิดปกติที่นิ้วและเล็บ

โดยเฉพาะข้อนิ้วอาจส่งผลให้บิดเบี้ยวได้ บางรายต้องปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาได้อย่างถูกต้อง ถ้ามีอาการรุนแรงมาก อาจต้องถึงขั้นผ่าตัด ส่วนของเล็บอาจทำให้เกิดเล็บขบได้

ส่งผลเสียด้านจิตใจ

หากลูกต้องเข้าโรงเรียนแล้ว แต่ยังติดการดูดนิ้วอยู่ อาจทำให้เพื่อน ๆ ในห้องล้อได้ และยังถูกคุณพ่อคุณแม่ต่อว่าอีกด้วย หากเด็กถูกเพื่อนล้อแบบนี้ซ้ำ ๆ ปัญหาอาจบานปลายกลายเป็นเด็กจะไม่อยากไปโรงเรียนค่ะ

ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย

เพราะเด็กอาจไปจับสิ่งของต่าง ๆ หรือสถานที่ที่เป็นจุดจับร่วม ที่มีเชื้อโรค แล้วเอามือเข้าปากโดยที่ไม่ได้ระมัดระวัง จะส่งผลให้เจ็บป่วยได้ง่าย และบ่อย

ลูกดูดนิ้ว แก้ไขได้ไม่ยาก

ปัญหาลูกดูดนิ้ว สามารถแก้ไขได้ ปรับพฤติกรรมได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ดังนี้ค่ะ

อย่ากดดันให้ลูกเลิก หากลูกมีเรื่องกังวลใจ

เด็กก็ใช่ว่าจะไม่มีเรื่องเครียด หรือเรื่องกังวลนะคะ เริ่มแรกให้คุณพ่อคุณแม่ทำความเข้สใจสาเหตุก่อนว่าที่ลูกต้องดูดนิ้วนั้นมาจากอะไร เช่น การเรียนยากเกินไปตามเพื่อนไม่ทัน พ่อแม่หย่าร้างกัน ลูกต้องย้ายโรงเรียน อาจกังวลเรื่องการต้องปรับตัวใหม่ หรืออาจต้องมีการย้ายบ้าน ลูกไปเจอกับสังคมใหม่ เป็นต้น

ให้อำนาจการตัดสินใจกับลูก

หรือจะพูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าคุณพ่อคุณแม่อธิบายลูกเกี่ยวกับข้อเสียของการดูดนิ้วให้ลูกฟังแล้ว แต่ลูกยังไม่ยอมเลิก ให้บอกกับลูกค่ะ ว่า “ให้หนูเลือกเองเลยว่าจะเลิกเมื่อไหร่” เพราะในบางครั้ง บางคนเขาจะเลิกได้เองเมื่อพร้อม

ให้คุณพ่อคุณแม่อธิบายข้อเสีย และผลกระทบต่าง ๆ ก่อนนะคะ ก่อนที่จะให้ลูกตัดสินใจเอง

ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะมีการวางแผนไม่ให้มือและปากว่าง ด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ อาจเป็นการเล่นเกมหรือการกินขนม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะมีการวางแผนอย่างละเอียดและเป็นระบบ

อดทนอย่างใจเย็น

หลังจากที่คุณพ่อคุณแม่พยายามปรับพฤติกรรมลูกให้เลิกดูดนิ้วอย่างจริงจังแล้ว หลังจากนี้ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน (บางรายอาจมากกว่านั้น) ซึ่งสิ่งเดียวที่คุณพ่อคุณแม่จะทำได้ก็คือ ต้องอาศัยความอดทนอย่างใจเย็นค่ะ อย่าลืมตัวหลุดปรี๊ดแตกใส่ลูกเด็ดขาด เพราะนั่นจะเท่ากับว่าเราจะกลับไปเริ่มนับหนึ่งกันใหม่

ปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ค่ะคุณพ่อคุณแม่ การที่เราพยายามปรับพฤติกรรมลูกดูดนิ้วนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย การกดดันตัวเองไปก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะการกดดันตัวเองก็เท่ากับส่งต่อความกดดันให้ลูกด้วย และที่สำคัญจะทำให้ทุกอย่างแย่ลง เพราะฉะนั้น ค่อย ๆ แก้ไขอย่างใจเย็นนะคะคุณพ่อคุณแม่