เมื่อลูกเริ่มก้าวเข้าสู่วัยของการเรียนรู้ในด้านการฟัง พูด อ่าน และเขียนมากขึ้นแล้วล่ะก็การหมั่นช่วยส่งเสริมและฝึกฝนเขาก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเพื่อเป็นการดูแลให้เขาเรียนรู้อย่างถูกทางนั่นเองและในวันนี้เราจะมาพูดถึงการช่วยลูกพัฒนาทักษะการเขียนกันก่อนเพราะถือว่าเป็นทักษะที่ยังแปลกใหม่และต้องการมีความรู้พื้นฐานในการฝึกพร้อมทั้งยังต้องใช้การประสานงานกันของสมองและมืออีกด้วย
ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ทำให้การเขียนกลายเป็นเรื่องหน้าเบื่อสำหรับลูกพยายามสร้างสรรค์ให้การฝึกเขียนของเขาเต็มไปด้วยความสนุกและความสนุกนี่แหละจะเป็นตัวการหลักทำให้ลูกสามารถพัฒนาทักษะในการเขียนไปได้อย่างรวดเร็วแถมไม่แน่เขาอาจจะกลายเป็นคนที่รักการเขียนไปเลยก็ได้
สารบัญ
มาเรียนรู้เทคนิคการส่งเสริมทักษะการเขียนของลูกกันก่อน
แหล่งการเรียนรู้ต้องดึงดูด
เมื่อคุณอยากจะเริ่มทำให้ลูกอยากเขียนหนังสือก็ต้องมีการฝึกซึ่งการจะให้ลูกน้อยยอมสนใจการฝึกก็คือการหาสิ่งมาล่อใจนั่นเอง ลองไปเลือกซื้อแบบฝึกหัดการเขียนตัวหนังสือไม่ว่าจะภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษก็ได้ในแบบที่มีสีสันลวดลายต่างๆ ที่ทำให้ลูกสนใจเอามาให้เข้าฝึก จะฝึกเขียนไปแวะระบายสีไปก็ได้ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป อย่างน้อยคุณก็ทำให้เขาสนใจได้แล้วในระดับหนึ่ง
ค่อยๆ อธิบายเหตุผลความสำคัญของการเขียนให้เขาฟัง
เด็กเล็กต้องใช้เวลาสักพักกว่าที่การบอกเล่า สั่งสอน และอธิบายจะทำให้เขาเข้าใจได้แต่ที่สำคัญกว่าก็คือต้องทำและไม่หยุดทำ เพราะมันจะค่อยๆ ซึมซาบเขาไปในความรู้สึกนึกคิดของเขาโดยอัตโนมัตินั่นเอง ต้องให้เขาเข้าใจว่าการอ่านออกเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอและถ้าเขาเขียนได้ด้วยทักษะนี้จะช่วยอะไรเขาได้อีกเยอะขนาดไหน
พ่อแม่คือต้นแบบของลูก
อยากให้ลูกเขียนแต่คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยทำให้เขาเห็นเลยมันคือแนวทางการสอนที่ไม่ดีแน่การทำให้เขาเห็นว่าคุณชอบการเขียนแม้แต่ในเวลาที่ไม่ใช่ช่วงของการสอนจะทำให้เขาอยากทำตามและเป็นการกระตุ้นการอยากเขียนให้แก่เขาได้เองแบบอัตโนมัติ
มองเห็นบ่อยๆ ก็ช่วยลูกได้
ลองหาโปสเตอร์ตัวอักษรหรือคำต่างๆ มาแปะไว้รอบๆ บ้านให้เขาได้เห็นบ่อยๆ เห็นได้ง่ายๆ ก็เป็นอีกเคล็ดลับหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมทักษะการเขียนของเขาให้พัฒนาขึ้น
สอนพูดไปพร้อมกับการเขียน
พูดช้าๆ ค่อยๆ เขียนตามที่พูดการฝึกทั้งสองประสาทให้สอดคล้องกันจะช่วยให้ลูกเรียนรู้ได้อย่างคล่องแคล่วและจดจำได้ดียิ่งขึ้น
สอนสะกดคำและอยู่เป็นตัวช่วยในการแก้ไขคำผิด
ตอนเราเด็กๆ การค่อยๆ สะกดไปทีละตัวช่วยให้เราเข้าใจและจำคำเหล่านั้นขึ้นได้มากเลยทีเดียวคุณพ่อคุณแม่น่าจะจำการฝึกแนวนี้ได้ซึ่งแม้ว่าจะผ่านมาหลายยุคหลายสมัยแล้วก็ตามการสะกดคำก็ยังช่วยเสริมทักษะการเขียนของลูกได้อยู่เช่นเดียวกัน และหากเขาเขียนผิดไม่จำเป็นต้องว่าเขาเพราะจะเป็นการกดดันเปล่าๆ ค่อยๆ แก้ไขให้เขาเห็นพากันเรียนรู้ไปอย่างช้าๆ เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนก็ย่อมอ่านออกเขียนได้แต่นี่คือการปลูกฝั่งให้เขาเรียนรู้ได้เร็วขึ้นและรักการเขียนมากเป็นพิเศษนั่นเอง
ขอให้ช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่สอนและส่งเสริมทักษะการเขียนของลูกนั้นให้เป็นช่วงเวลาที่ไม่มีความเครียดหรือความกดดันเข้ามาร่วมด้วยมากจนเกินไปเพราะหลักๆ แล้วจุดประสงค์ไม่ได้เพื่อให้ลูกเขียนให้เป็นเดี๋ยวนี้เดี๋ยวนั้นแต่มันคือการส่งเสริมให้เขามีความสุขและเตรียมพร้อมที่จะเปิดรับการเรียนรู้ทักษะการเขียนที่เขากำลังจะต้องไปเจอในโรงเรียนมากกว่า