Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

มาสอนเทคนิคการเข้าสังคมให้ลูกกันดีกว่า

ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงประมาณ 3 ขวบเป็นช่วง 3 ปีที่ลูกน่าจะเจอแต่ครอบครัวเป็นหลักแต่เมื่อถึงเวลาที่เขาจะต้องเข้าโรงเรียนถ้าคุณพ่อคุณแม่จะไม่เตรียมตัวให้เขาได้รู้ว่ากำลังจะต้องไปเจอสังคมใหม่ๆ ต้องมีเพื่อนและต้องมีทักษะการเข้าสังคมติดตัวไว้ล่ะก็อาจจะทำให้เป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าสังคมที่เป็นความทรงจำที่ไม่ดีกับลูกมากเท่าไรนัก

ถ้าจะให้ดีคุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมให้ลูกได้เริ่มรู้จักกับการทำงานร่วมกับผู้อื่น การเข้าสังคม การแบ่งปัน เสียสละ และมีน้ำใจ เป็นต้น แล้วค่อยๆ ปล่อยให้เขาไปเจอกับความเป็นจริงแล้วก็หัดปรับตัวไปตามสถานการณ์ก็ถือว่าเป็นการฝึกกระบวนการคิดที่ดีให้กับเขาเหมือนกัน

แล้วจะใช้วิธีไหนเข้ามาช่วยฝึกลูกได้บ้าง?

1.เริ่มจากการเปิดโอกาส

ถ้ารู้แล้วว่าใกล้ถึงเวลาที่ลูกกำลังจะมีเปิดเทอมแรกในชีวิตก่อนจะถึงวันจริงคุณพ่อคุณแม่ควรพาเขาไปเจอกับสังคมใหม่ๆ นอกบ้านบ้าง เช่น ให้ลองเล่นกับเด็กๆ เพื่อนๆ บริเวณบ้าน เพื่อเป็นการฝึกการเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคม ไม่ให้เขาประหม่าและกลัวพร้อมทั้งไม่มั่นใจในตัวเองเมื่อต้องไปเข้าสังคม แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ต้องพยายามยัดเยียดการเข้าสังคมให้ลูกมากนักเพราะเด็กวัย 3-5 ขวบนั้นอาจจะยังไม่ถนัดและกำลังอยู่ในช่วงเรียนรู้ไม่ต้องกังวลมากเกินไป

2.ขอความช่วยเหลือจากลูก

คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องทำตัวให้ดูต้องการความช่วยเหลือบ้างเพื่อดึงศักยภาพของลูกออกมากระตุ้นความมีน้ำใจให้ออกมาจากเขา หรือถ้าการจะสร้างสถานการณ์มันยากเกินไปก็อาจจะเป็นการขอให้เขาช่วยงานคุณเล็กๆ น้อยๆ ทำให้เขารู้สึกมีส่วนร่วมและมีประโยชน์ หลังจากที่งานลุล่วงก็ให้คุณชื่นชมเขา นี่แหละคือจุดที่จะทำให้เขารู้สึกว่าการได้ช่วยเหลือคนทำให้เขารู้สึกดีและประสบความสำเร็จจากนั้นเขาก็จะรู้สึกมั่นใจและเห็นคุณค่าในตัวเองมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

3.สวัสดีอย่าให้ขาดขอบคุณต้องไม่ลืมและกล้าที่จะขอโทษ

3 คำที่ควรสอนให้ลูกใช้จนเป็นนิสัยและรู้กาลเทศะเพื่อที่จะทำให้เขากลายเป็นเด็กที่น่ารัก วัยรุ่นที่น่าชื่นชม และผู้ใหญ่ที่เป็นตัวอย่างที่ดีในอนาคต นี่คือคำพื้นฐานที่จะเป็นสะพานในการเข้าสังคมให้กับลูกคุณได้เป็นอย่างดี และถ้าเขาพูดและมีการกระทำที่ดีแบบนี้บ่อยๆ ไม่แน่อาจจะกลายเป็นตัวอย่างให้เด็กคนอื่นๆ ที่เป็นเพื่อนของเขาทำตามก็ได้เมื่อเห็นว่าลูกคุณทำแบบนี้แล้วโดนชม

4.แบ่งปันมีประโยชน์อย่างไร…ลูกต้องรู้

การแบ่งปัน เสียสละ นั้นอาจจะเป็นเรื่องที่เด็กๆ ทำได้ยากถ้าไม่เข้าใจว่าทำแล้วจะมีอะไรดีและมีประโยชน์อย่างไร ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่คือครูคนแรกในการสอนเรื่องนี้ให้กับเขาได้ดีที่สุด เริ่มง่ายๆ ด้วยการเริ่มแบ่งปันกันในครอบครัวให้ลูกได้เห็นเป็นตัวอย่าง เช่น การแบ่งขนมของคุณพ่อให้คุณแม่ การที่คุณพ่อเลือกเสียสละล้างจานแทนคุณแม่เพราะคุณแม่เกิดปวดหัวขึ้นมา เป็นต้น ทำสิ่งดีๆ เหล่านี้พร้อมทั้งอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงเหตุผลต่างๆ ด้วยแล้วเขาก็จะค่อยๆ ซึมซับและเก็บมันไปใช้ได้เอง

5.คำชมยังจำเป็น

เมื่อพบเห็นว่าเขามีการเข้าสังคมเล่นกับเพื่อนได้เป็นอย่างดี หรือเขามาเล่าเรื่องราวในโรงเรียนให้ฟังว่าวันนี้เขาได้แบ่งปันอาหารกลางวันให้เพื่อน ก็ควรอย่างยิ่งที่คุณจะชื่นชมและสอบถามเขาอย่างสนใจ รับฟังทุกอย่างที่เขาอยากจะถ่ายทอด เพราะการชื่นชม การรับฟังอย่างใส่ใจของคุณทำให้เขาย้ำกับตัวเองได้ว่านี่แหละคือแนวทางที่ถูกต้องแล้ว และเขาก็จะสนุกกับการเข้าสังคมและเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากยิ่งขึ้น

นอกจากการค่อยๆ ปลูกฝังเทคนิคต่างๆ ในการเข้าสังคมให้ลูกแล้วนั้น การรับฟังลูกด้วยความใส่ใจนี่แหละก็คือเทคนิคอีกอย่างที่ทำให้ลูกเรียนรู้ว่าการพูดแล้วมีผู้ฟังที่ดีมันมีความหมายมากขนาดไหนและให้เขาเก็บสิ่งเหล่านี้ไปใช้ต่อไป ทุกอย่างของลูกในช่วงเด็กมีคุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างหากอยากให้ลูกเป็นแบบไหนคุณพ่อคุณแม่ก็ควรเป็นแบบนั้น