Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ท้องอ่อน ๆ ทำไมปวดหลัง พร้อมวิธีรับมือ

ท้องอ่อน ๆ ทำไมปวดหลัง พร้อมวิธีรับมือ

คุณแม่ที่เพิ่งเริ่มตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกบางคน อาจมีอาการปวดหลังได้ บางคนปวดตลอดเวลาแต่มีอาการไม่รุนแรง บางคนอาจปวดรุนแรงตั้งแต่ช่วงล่าง ไปจนถึงหลังส่วนบน ซึ่งอาจต้องนอนพักหลายวันทีเดียว คุณแม่มือใหม่บางคนอาจมีอาการปวดจนเกิดความกังวล ว่าเพราะอะไรเพิ่งท้องอ่อน ๆ แต่กลับมีอาการปวดหลัง วันนี้เรามีสาเหตุ พร้อมวิธีบรรเทาอาการปวดมาแนะนำค่ะ

ท้องอ่อน ปวดหลัง เกิดจากอะไร?

คุณแม่ที่ท้องอ่อน หรือท้องในช่วงไตรมาสแรกอาจมีอาการปวดหลัง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

ฮอร์โมน

ฮอร์โมนที่ว่านี้คือ รีแลกซ์ติน (Relaxtin) ที่ถูกสร้างขึ้นจากรังไข่ เป็นส่วนที่ช่วยกระตุ้นให้เอ็น และกระดูกเชิงกรานมีการขยายตัว เพื่อรองรับกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ความเครียด

บางครั้งคุณแม่มือใหม่อาจเกิดความกังวลโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้กล้ามเนื้อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายหดเกร็ง เส้นเอ็นตึง แบบนี้ก็ส่งผลให้เกิดอาการปวดได้

น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

น้ำหนักที่ว่านี้คือ น้ำหนักที่มดลูกขยายตัว, น้ำหนักของน้ำคร่ำ ฯลฯ ทั้งหมดนี้กระดูกสันหลังจะมีหน้าที่ที่ต้องแบกรับไว้ทั้งหมด

ได้รับแคลเซียมน้อยไป

ในขณะที่ทารกกำลังเจริญเติบโตนั้น ร่างกายของคุณแม่จำเป็นอย่างมากที่จะต้องได้รับแคลเซียมในปริมาณที่มากพอ เพราะแคลเซียมส่วนหนึ่งในร่างกายของคุณแม่ต้องแบ่งไปให้ลูกน้อยด้วย การปวดหลังจึงเป็นสัญญาณหนึ่งว่าคุณแม่ได้รับแคลเซียมในปริมาณที่น้อยเกินไป

มดลูกกำลังขยายตัว

ด้วยมดลูกที่กำลังมีการขยายตัวเพื่อรองรับการเติบโตของทารกในครรภ์ อวัยวะภายในจึงมีการขายและยืดออก

วิธีรับมือท้องไตรมาสแรก ปวดหลัง

การปวดหลังของคุณแม่ตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกสามารถเกิดขึ้นได้ค่ะ ซึ่งเรามีวิธีรับมือในเบื้องต้น เพื่อเป็นการบรรเทาอาการดังนี้

ควรทราบเกณฑ์น้ำหนักที่เหมาะสม

โดยรวมแล้วคุณแม่จะมีน้ำหนักที่ขึ้นมาไม่เกิน 10 -12 กิโลกรัมตลอดอายุการตั้งครรภ์ค่ะ โดยที่ทุกครั้งที่คุณแม่ไปพบคุณหมอตามนัด คุณหมอก็จะคำนวณค่า BMI ออกมาค่ะ

ค่อย ๆ เคลื่อนไหวอย่างระมัดระวัง

จริง ๆ แล้วการเคลื่อนไหวอย่างระมัดระวังเริ่มตั้งแต่คุณแม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์แล้วค่ะ เพราะแม้ว่าจะตั้งครรภ์อ่อน ๆ หากคุณแม่มีการเคลื่อนไหวตัวที่เร็วเกินไป และไม่ระมัดระวัง ตัวอ่อนที่เกาะอยู่ก็อาจหลุดได้ นั่นแปลว่า เกิดการแท้งนั่นเอง

ไม่ควรนั่งนานเกินไป

การนั่งอยู่กับที่นานเกินไป อาจทำให้คุณแม่ปวดหลัง ปวดไหล่ได้ ทางที่ดี คุณแม่ควรขยับตัวลุกเดินทุก ๆ 1 ชั่วโมง เพื่อยืดเส้นยืดสายบ้าง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการปวดหลังได้

เลือกเสื้อชั้นในสำหรับคนท้อง

ข้อนี้สำคัญค่ะ เพราะเสื้อในธรรมดาที่เคยใส่อยู่ก่อนท้อง จะไม่รองรับการขยายขนาดของลำตัวและหน้าอก สายเสื้อในอาจจะรั้งบริเวณบ่าเป็นเวลานาน แบบนี้ก็จะทำให้ปวดหลังได้เช่นกัน

ปรับเก้าอี้ และท่าทำงาน

สำหรับช่วงท้องไตรมาสแรก คุณแม่บางคนอาจยังทำงานอยู่ ควรเช็คระดับ และระยะของเก้าอี้ทำงาน และความสูงของการวางมือที่แป้นพิมพ์ให้มีความพอดีนะคะ โดยดูได้จากเมื่อเราวางมือที่คอมพิวเตอร์แล้ว ข้อมือกับแขนควรเป็นแนวเดียวกัน

สำหรับเก้าอี้ทำงาน ให้คุณแม่หาหมอนรองหลังมาช่วยพยุงหลัง รวมถึงหาที่วางเท้าวางไว้ใต้โต๊ะ เพื่อให้เลือดไม่ไหลตกเท้ามากเกินไป เป็นเหตุให้เท้าบวมได้

เลี่ยงการยกของหนัก

เพราะการยกของหนัก แล้วก้มผิดท่าอาจส่งผลเสียได้ทั้งต่อทารกในครรภ์ และหลังคุณแม่ได้ค่ะ โดยเฉพาะช่วงท้องอ่อน ๆ นี้ เสี่ยงแท้งได้เลยทีเดียว

มีอุปกรณ์การนอนที่เหมาะสม

นอกจากหมอนที่ใช้นอนกันทุกวัน ๆ แล้ว ในช่วงที่ตั้งครรภ์นี้ คุณแม่อาจหาหมอนรองสำหรับคนท้องมาช่วยพยุงท้องด้วยก็จะดีนะคะ โดยเฉพาะเมื่อน้ำหนักท้องมากขึ้น หมอนรองนี้จะช่วยพยุงและรับน้ำหนักท้องได้เป็นอย่างดี ช่วยให้คุณแม่หลับสบายมากขึ้น

ออกกำลังให้เหมาะสม

เป็นการออกกำลังกายที่เน้นการยืดเส้นยืดสายมากกว่าที่จะไปกระโดดแอโรบิคนะคะ การออกกำลังกายเบา ๆ ได้แก่ การเล่นโยคะ หรือการเดินช้า ๆ เพื่อการผ่อนคลาย เป็นต้น

การปวดหลังแม้ว่ายังท้องอ่อน ๆ นั้น สามารถเกิดขึ้นได้ค่ะ และคุณแม่สามารถแจ้งคุณหมอที่ดูแลคุณแม่ได้เลย เผื่อว่าเป็นข้อมูลให้คุณหมอได้ใช้ประกอบการดูแลคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยค่ะ