Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

รู้ทันอารมณ์คุณแม่หลังคลอด

เชื่อว่าคุณแม่หลายๆ ท่านคงทราบกันดีว่าเวลาที่เราตั้งครรภ์นั้น อารมณ์ของเราเปลี่ยนแปลงง่าย อ่อนไหวง่าย รวมไปถึงฉุนเฉียวได้ง่ายเช่นกัน บางครั้งบางหนคุณแม่เองก็ไม่ทราบสาเหตุเหมือนกันว่าทำไมเราเองโกรธได้ง่ายขนาดนี้?

และอีกเช่นกัน…หลังคลอด อารมณ์ของคุณแม่ก็แปรปรวนไม่แพ้ขณะตั้งครรภ์ บางคนอาจหนักกว่าเสียด้วย ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของ “ฮอร์โมน” ในร่างกายอย่างรวดเร็วทั้งสิ้นยิ่งไปกว่านั้น คุณแม่มือใหม่ที่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียวไม่มีใครมาสลับวับเปลี่ยน อย่างนี้จะเหนื่อยหน่อย

วันนี้ผู้เขียนจึงอยากชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจตัวเองและรับมือกับอารมณ์หลังคลอดกันซักนิด

เหตุจากสถานการณ์ภายนอก

ความเหนื่อยล้า

เรียกได้ว่าเป็น “ช่วงรับน้อง” ของคุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกจริงๆ เนื่องจากลูกน้อยจะร้องกินนมทุกๆ 2-3 ชม. และซึ่งการกินนมของลูกก็ใช้เวลา คุณแม่ก็ได้แต่นั่งตาโหลให้นมลูกกันไป และเป็นในลักษณะนี้ตลอด 24 ชม. ดังนั้น เรื่องของการเหวี่ยงวีนจึงเกิดขึ้นได้ง่ายมาก

ความเจ็บป่วยทางร่างกาย

หลังคลอดของคุณแม่ทุกคน ไม่ว่าจะคลอดแบบธรรมชาติหรือแบบผ่าคลอดย่อมต้องได้รับความเจ็บปวดเป็นทุนเดิม ถ้าคลอดธรรมชาติก็จะฟื้นตัวเร็วกว่าแผลผ่า เพราะแผลผ่านนั้นคุณแม่ยังต้องคอยรักษาดูแลบาดแผลไม่ให้เป็นหนอง ไม่ให้ติดเชื้ออีก ซึ่งต้องอาศัยการใส่ใจมากเป็นพิเศษ

ความวิตกกังวล

ข้อนี้ต้องบอกว่า เพราะความที่เป็นคุณแม่มือใหม่ อะไรที่คุณแม่หลังคลอดคิดได้ในหัว จะเป็นกังวลได้ทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องลูก เรื่องสามี เรื่องงานบ้าน เรื่องรายได้ เรื่องการเจ็บป่วย ฯลฯ และที่สำคัญ

ความคาดหวัง

คุณแม่มือใหม่จะมีความคาดหวังในหลายๆ เรื่อง อาทิ ตั้งปณิธานว่าจะเป็นแม่ที่ดีที่สุด จะเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด จะไม่ใช้วิธีการตีลูก จะใจเย็นๆ จะทำงานบ้านให้ดีที่สุด บ้านต้องสะอาดเหมือนแรกตอนที่ยังไม่มีลูก จะดูแลทั้งลูกและสามีให้ดีที่สุด เรียกว่า ฉันต้องเป็นเพอร์เฟคชันนิสต์(Perfectionist)ซึ่งทังหมดนี้จะเป็นการกดดันตัวเองเปล่าๆ

ฮอร์โมน

อีกหนึ่งสาเหตุที่คุณแม่หลังคลอดทุกคนเลี่ยงไม่ได้เลยก็คือ การลดลงของเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างรวดเร็วส่งผลให้อารมณ์ของคุณแม่แปรปรวนได้ ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการปรับตัวซักระยะหนึ่ง

วิธีรับมือกับอารมณ์ที่แปรปรวน

เมื่อคุณแม่เริ่มรู้ถึงสาเหตุแล้ว คราวนี้เรามาดูวิธีรับมือกันค่ะ

พักผ่อน ลูกหลับแม่หลับด้วย

อย่างเพิ่งส่ายหัวค่ะ เข้าใจว่าเทคนิคนี้จะใช้ได้เฉพาะเด็กที่นอนง่าย นอนนาน นอนเป็นเวลา แต่อย่างของผู้เขียนลูกนอนแค่ 15 นาทีในเวลากลางวัน ถ้านานหน่อยก็ 1 ชม. แรกๆ ผู้เขียนก็เครียดเหมือนกันว่าลูกนอนแค่นี้ แม่จะเอาเวลาที่ไหนไปนอน ไหนจะงานบ้าน ล้างขวดนม เผลอๆ ยังไม่ทันเสร็จเลย ลูกตื่นแล้ว

แต่ผ่านไประยะหนึ่งก็บอกตัวเองว่า ลูกหลับปุ๊บ แม่หลับด้วย งานอื่นไว้ทีหลัง เมื่อลูกตื่นแล้วเราสามารถเอาลูกเข้าเป้ตามติดไปกับเราได้ เราก็สามารถล้างขวดนมได้สบาย แต่เรื่องพักผ่อนต้องมาก่อน

ชวนคุณพ่อไปเปลี่ยนบรรยากาศ

หากบ้านไหนที่คุณพ่อต้องทำงานนอกบ้าน คุณแม่เลี้ยงลูกอยู่คนเดียว เย็นๆ หลังจากที่คุณพ่อกลับมาจากที่ทำงานแล้ว ลองชวนคุณพ่อไปเปลี่ยนบรรยากาศ พาลูกไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะดูบ้างก็จะดีนะคะ ถือเป็นเวลาของครอบครัวอีกช่วงนึงเลย

ปล่อยวางบ้าง

เรื่องอะไรก็ตามที่คุณแม่กังวลอยู่นั้น ถ้ามันยังคงฟุ้ง ยังคงลอยวนอยู่ในหัว ลองลิสต์มันลงมาในกระดาษ แล้วจัดลำดับความสำคัญดู พยายามเหลือให้น้อยที่สุด เพราะเรารู้อยู่แล้วว่า เวลาส่วนใหญ่ต้องให้กับลูก โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนแรก อะไรที่ยังรอได้ให้พักไว้ก่อน จะได้ไม่เป็นการกดดันตัวเอง

อย่าเกรงใจ หากต้องหาคนช่วยเลี้ยง

อ๊ะๆ ที่บอกว่าต้องหาคนช่วยเลี้ยงนั้น หมายถึง ปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติพี่น้องนะคะ เพราะคนเหล่านี้เป็นคนที่เราไว้ใจได้ อย่าอายที่จะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ เพราะหากคุณแม่ไม่ไหวจริงๆ การเลี้ยงลูกก็จะกลายเป็นความเครียดที่ส่งผลต่อการเลี้ยงลูกได้ เพราะลูกจะรับรู้ได้ค่ะ หากคุณแม่เครียด และทารกก็จะเครียดตาม

ต้นเหตุของความเครียดบางอย่างเราสามารถควบคุมมันได้ บางอย่างเราควบคุมไม่ได้ ดังนั้น การได้รู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองก็จะทำให้เรามีสติได้เร็วขึ้น หยุดการกระทำที่ฉุนเฉียวได้เร็วขึ้น และที่สำคัญ คุณพ่อควรให้ “ความเข้าใจ” และ “กำลังใจ” ซึ่งกันและกัน สิ่งนี้จะทำให้ครอบครัวเป็นครอบครัวที่อบอุ่นมากขึ้นค่ะ