Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ไขข้อข้องใจ แม่ไม่สบายให้นมลูกได้ไหม?

ไขข้อข้องใจ แม่ไม่สบายให้นมลูกได้ไหม?

แม่ไม่สบายให้นมลูกได้ไหม?” เชื่อว่ามีคุณแม่ลูกอ่อนหลาย ๆ คนคงมีคำถามนี้ เพราะไม่รู้และไม่แน่ใจว่าถ้าตัวเองไม่สบายแล้วกินยาเข้าไป ยานั้นจะส่งถึงลูกน้อยผ่านทางน้ำนมด้วยไหม วันนี้แม่โน้ตมีคำตอบค่ะ

การผลิตน้ำนม

ก่อนที่เราจะไปเรื่องของยานั้น แม่โน้ตอยากพูดถึงกระบวนการการผลิตน้ำนมกันสักหน่อยก่อนว่า แท้จริงแล้วมีข้อเท็จจริงจากผู้เชี่ยวชาญระบุว่า กระบวนการผลิตน้ำนมของคุณแม่นั้น ธรรมชาติได้ให้ระบบรักษาความปลอดภัยในระดับที่สูงสดุมาด้วย นั่นคือ น้ำนมของคุณแม่กว่าจะออกมาสู่ปากของลูกน้อยนั้น ต้องผ่านการกรองมาแล้วจากผนังถึง 2 ชั้น ซึ่งก็คือ ผนังหลอดเลือดฝอย และผนังต่อน้ำนม ดังนั้น เมื่อคุณแม่กินยา ปริมาณยาจะผ่านเข้าไปที่น้ำนมแม่ได้ไม่ถึง 1%

ยาที่แม่ลูกอ่อนกินได้

หากวันหนึ่งคุณแม่เกิดมีอาการป่วยขึ้นมา และต้องได้รับยาเข้าจริง ๆ ก็มียาที่คุณแม่ลูกอ่อนกินได้ พร้อมวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องและปลอดภัยสำหรับลูกน้อย ดังนี้

ยาที่รักษาโรคทั่วไป

ซึ่งยาที่คุณแม่ลูกอ่อนสามารถกินได้ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาลดน้ำมูก ยาแก้คัดจมูก วิตามิน รวมถึงยาปฏิชีวนะ ที่มีความปลอดภัยมากพอสำหรับคุณแม่และลูกน้อยที่กำลังกินนมแม่ แต่จะยกเว้นปฏิชีวนะตัวหนึ่งชื่อ “เตตร้าซัยคลิน” ที่จะมีผลต่อฟันของทารก จะทำให้สีฟันเปลี่ยนเป็นสีเทาจุด ๆ

ยาที่มีน้ำหนักของโมเลกุลสูง

ได้แก่ อินซูลิน (เป็นยารักษาโรคเบาหวาน) ซึ่งจะไม่ขับออกมาทางน้ำนมแม่ รวมไปถึงยาที่ใช้ป้องกันการแข็งตัวของเลือดที่มีชื่อว่า “วอร์ฟาริน” ซึ่งจะจับตัวกับโปรตีนในกระแสเลือด ทำให้ไม่ถูกขับออกมากับน้ำนมแม่เช่นกัน

ยาที่ใช้รักษาอาการเจ็บปวดต่าง ๆ

ได้แก่ ยากลุ่มยาลดไข้ ยาแก้ปวด ซึ่งไม่มีผลต่อการให้นมของลูกน้อยเลยค่ะ แต่อย่างไรก็ตามคุณแม่ไม่ควรซื้อยามากินเอง แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการกิน และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดนะคะ

ยาที่กินแล้ว ควรงดให้นมลูก

  • ยาต้านมะเร็ง รวมถึงยากดภูมิต่าง ๆ ได้แก่ ไซโคลฟอสฟาไมด์ หรือไซโคลสปอริน ยาเหล่านี้จะทำหน้าที่ฆ่าเซลล์มะเร็ง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายลูกน้อยได้
  • ยารักษาโรคซึมเศร้า อาทิ ยาโปรแซค ซึ่งถ้าส่งผ่านไปยังลูกน้อยจะทำให้ลูกน้อยมีอาการซึมเศร้า หรือ ลิเธียม ที่สามารถขับออกมากับน้ำนมแม่ได้ถึง 1/2 หรือ 1/3 ของระดับยาในกระแสเลือด ถ้าหากลูกน้อยได้รับยานี้เป็นเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อระบบประสาทของลูกน้อยได้
  • ยาเออร์โกทามีน เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาโรคปวดไมเกรน หากส่งผ่านไปยังลูกน้อยจะทำให้ลูกน้อยท้องเสีย อาเจียน และมีอาการชักได้
  • อะทีนอล เป็นยาที่ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง และรักษาโรคไมเกรน ยานี้หากส่งถึงลูกน้อยจะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจลูกน้อยช้าลง ซึ่งคุณแม่ต้องระวังให้มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะลูกน้อยหรือทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือมีการทำงานที่ผิดปกติของไต
  • โบรโมคริปทีน เป็นยาที่ยับยั้งฮอร์โมนโปรแล็กติน ซึ่งมีผลให้การผลิตน้ำนมนั้นน้อยลงค่ะ
  • การเข้ารับการรักษาด้วยสารกัมมันตรังสี เช่น ไอโอดีน 131

ข้อควรระวังในการใช้ยาของคุณแม่ลูกอ่อน

บรรเทาอาการด้วยตัวเองก่อน

หากคุณแม่มีอาการเป็นหวัดเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือมีน้ำมูกแต่ยังไม่มาก ให้คุณแม่พยายามรักษาตัวเองก่อนนะคะ ด้วยการกินอาหารที่มีวิตามินซีสูง ๆ (แต่ก็ควรเน้นให้ครบ 5 หมู่นะคะ) ดื่มน้ำเปล่าสะอาดมาก ๆ พร้อมกับพยายามนอนพักผ่อนเยอะ ๆ

แจ้งคุณหมอทุกครั้ง ว่าอยู่ในระยะให้นมลูก

ข้อนี้ต้องแจ้งคุณหมอทุกครั้งนะคะ หากคุณแม่ยังต้องให้นมลูกน้อยอยู่ เพื่อที่คุณหมอจะได้จัดยาให้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

ปฏิบัติติตามคำแนะนำของคุณหมอ

นอกจากคุณแม่จะแจ้งคุณหมอเรื่องการให้นมลูกแล้ว ที่สำคัญคุณแม่ต้องปฏิบัติคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัดอีกด้วยนะคะ

หากคุณแม่ไม่สบาย จำเป็นต้องกินยาก็ยังสามารถทำได้ค่ะ หากอาการไม่สบายนั้นไม่รุนแรงมาก เพียงแต่อย่าลืมแจ้งคุณหมอนะคะ ว่าคุณแม่ยังต้องให้นมลูกอยู่

ข้อมูลอ้างอิง parentsone.com , enfababy.com