Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ตรวจหลังคลอด สำคัญอย่างไร ตรวจอะไรบ้าง

ตรวจหลังคลอด สำคัญอย่างไร ตรวจอะไรบ้าง

ตรวจหลังคลอด ถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญ สำหรับคุณแม่ที่มีการคลอดลูกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะมีการนัดโดยแพทย์อีกครั้ง เมื่อต้องออกจากโรงพยาบาล เนื่องจากว่าร่างกายของคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลง ไม่เพียงแต่ทางด้านร่างกายเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของจิตใจ เป็นสิ่งที่ทั้งคุณแม่และคนใกล้ตัวจะต้องเตรียมรับมือ หรืออาจจะมีสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้  ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีในการดูแลตัวเอง เพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูและสามารถปรับตัวได้ ให้พร้อมรับมือกับบทบาทความเป็นแม่ได้อย่างราบรื่น

ความสำคัญของการตรวจหลังคลอด ยังถือว่าเป็นสิ่งที่คุณแม่ไม่ควรละเลย เนื่องจากว่าคุณแม่บางท่านมีความเข้าใจว่าตนเองนั้น สามารถฟื้นฟูสุขภาพร่างกายและจิตใจได้ โดยไม่มีความผิดปกติใดๆเกิดขึ้น จึงไม่มีการเข้าพบตามที่แพทย์นัด ซึ่งจริงๆแล้ว นั่นอาจส่งผลเสียต่อร่างกายในระยะยาวได้ เพราะร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะอวัยวะภายในร่างกาย เช่น ขนาดของมดลูก หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนก็ตาม สำหรับคุณแม่ที่มีความกลัวภายในจิตใจ มาดูกันก่อนว่าแพทย์จะทำการตรวจและสอบถามข้อมูลอะไรบ้าง เพื่อเป็นการเตรียมตัวก่อนเข้าพบแพทย์ตามนัด

ตรวจหลังคลอดกี่เดือน

เมื่อคุณแม่ออกจากโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว โดยปกติแพทย์จะนัดเข้าไปตรวจร่างกายหลังคลอดอีกครั้ง เมื่อผ่านไป 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เพื่อตรวจดูความเปลี่ยนแปลงของร่างกายโดยละเอียด รวมถึงคัดกรองโรคต่าง ๆ ที่คุณแม่มีความเสี่ยงได้ โดยอาการผิดปกติที่จะพบได้บ่อยสำหรับคุณแม่หลังคลอด นั่นก็คือ อาการปวดท้องอย่างรุนแรง มีก้อนบริเวณเต้านม มีไข้รุนแรง มีเลือดออกทางช่องคลอด เป็นต้น

ตรวจหลังคลอด ตรวจอะไรบ้าง

ตรวจหลังคลอดโดยหลัก ๆ แล้วแพทย์จะมีการตรวจร่างกายของคุณแม่ รวมถึงการตรวจภายในร่วมด้วย สำหรับขั้นตอนในการตรวจร่างกายนั้น จะเหมือนกับการตรวจร่างกายทั่วไป โดยจะมีการอธิบายรายละเอียดของการตรวจร่างกายของคุณแม่หลังคลอดไว้ ดังต่อไปนี้

การตรวจร่างกายทั่วไป

ด้วยการชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต มีการตรวจบริเวณหน้าท้อง สำหรับคุณแม่ที่ใช้วิธีในการคลอดโดยการผ่าคลอด นอกจากนี้ ยังมีการตรวจบริเวณเต้านม เพื่อประเมินประสิทธิภาพในการผลิตน้ำนมได้ปริมาณที่เพียงพอต่อลูกน้อยหรือไม

การตรวจภายใน

สำหรับการตรวจภายใน สำหรับคุณแม่ที่คลอดด้วยวิธีธรรมชาติ จะต้องทำการตรวจสอบบริเวณแผนฝีเย็บ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง มีอาการผิดปกติมั้ย บริเวณแผลหายสนิทดีหรือยัง อีกทั้งขั้นตอนในการตรวจมดลูกของคุณแม่หลังคลอดว่ามีการอักเสบหรือติดเชื้อหรือไม่ โดยในขั้นตอนนี้จะมีการตรวจมะเร็งปากมดลูกให้กับคุณแม่ด้วยตามความเหมาะสม

ประเมินสภาพจิตใจ

ขั้นตอนสุดท้ายในการตรวจหลังคลอด นั่นก็คือการประเมินสภาพจิตใจของคุณแม่ ว่าอยู่ในสภาวะปกติหรือไม่ อาการที่พบได้มาก นั่นก็คืออาการของโรคซึมเศร้าหลังคลอด ที่มักจะพบได้บ่อย และจำเป็นต้องเฝ้าระวัง

เตรียมตัวสำหรับตรวจหลังคลอดอย่างไร

เชื่อได้ว่าสำหรับคุณแม่มือใหม่ ที่จะต้องเตรียมตัวเพื่อไปพบแพทย์ มีเมื่อการนัดดูอาการหลังคลอด มักจะทำตัวไม่ถูกและรู้สึกตื่นเต้น จนทำให้อาจละเลยหน้าที่ที่สำคัญนี้ไป โดยการเตรียมตัวนั้น แนะนำให้คุณแม่เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการคลอดและการฝากครรภ์ไปทั้งหมด หากคุณแม่มีโรคประจำตัวอื่นๆร่วมด้วย ก็ควรเตรียมข้อมูล หรือหากมีเอกสารยืนยัน ก็สามารถนำไปด้วยได้เช่นเดียว นั่นก็เพื่อให้แพทย์ได้รู้ถึงความสุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดกับคุณแม่โดยตรงได้

ดูแลตัวเองหลังคลอด อย่างไรดี

นอกจากการตรวจหลังคลอดแล้ว สิ่งที่คุณแม่จะต้องคำนึงถึง นั่นก็คือการดูแลตนเองหลังคลอดนั่นเอง จะทำอะไรและไม่สามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาพปกติได้เร็วมากยิ่งขึ้น

การเคลื่อนไหวร่างกาย

แนะนำให้คุณแม่ทำการเคลื่อนไหวร่างกายของตนเอง ในช่วงหลังคลอด ด้วยวิธีในการเดินไปมา เพื่อให้กล้ามเนื้อที่พักผ่อนไปนาน ได้กลับมาฟื้นฟู และช่วยสมานแผลให้หายเร็วมากยิ่งขึ้น

การรับประทานอาหาร

คุณแม่หลังคลอดควรทานอาหารที่มีรสอ่อน หรือ รสไม่จัด เลือกทานอาหารที่ย่อยได้ง่าย มีกากใยอาหารสูง เพื่อป้องกันอาการท้องผูก และควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ด้วย

พักผ่อนให้เพียงพอ

เราเข้าใจได้ว่าคุณแม่หลังคลอด มักจะมีเวลาในการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามหากมีเวลาหรือมีโอกาส ควรแบ่งเวลามาให้ตนเองได้พักผ่อน เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูบ้าง

การมีเพศสัมพันธ์

สำหรับคุณแม่หลังคลอด ควรงดมีเพศสัมพันธ์ในช่วงก่อนการนัดของแพทย์ ในช่วงก่อนสัปดาห์ 4-6 เพื่อให้แพทย์สามารถตรวจปากมดลูกและอวัยวะบริเวณนั้นได้ว่ามีการคืนสภาพที่ปกติหรือไม่ รวมถึงป้องกันการติดเชื้อบริเวณโพรงมดลูกอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าการตรวจหลังคลอดไม่มีอะไรที่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะตามขั้นตอนจะมีการตรวจเพียงแค่การตรวจร่างกายทั่วไป รวมถึงการตรวจภายในที่จำเป็น นั่นก็เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่ และให้แพทย์ได้ตรวจประเมินสภาวะของจิตใจ หากคุณแม่ต้องการหลีกเลี่ยงขั้นตอนนี้ บอกไว้เลยว่าไม่ควรทำอย่างยิ่ง ขอแนะนำให้คุณแม่ไปตรวจร่างกายตามที่แพทย์นัด จะได้สบายใจได้ว่าคุณแม่จะไม่มีอาการไม่พึงประสงค์หลังจากคลอดลูกเรียบร้อยแล้ว และการตรวจประเมินหลังคลอดนั้น ยังไม่มีอาการเจ็บแต่อย่างใด