Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

อาการท้องแข็ง ใกล้คลอด แบบนี้ต้องไปพบแพทย์

อาการท้องแข็ง ใกล้คลอด แบบนี้ต้องไปพบแพทย์

อาการท้องแข็งเป็นอาการที่มักเกิดกับคุณแม่ที่ใกล้จะคลอดลูกน้อยแล้ว โดยคุณแม่จะมีหน้าท้องแข็ง ร่วมกับมีอาการปวดท้องคล้ายปวดประจำเดือนหรือปวดหน่วง ๆ คล้ายปวดอุจจาระ ทั้งนี้ทั้งนั้น อาการดังกล่าวอาจเป็นแค่สัญญาณเตือน ซึ่งยังไม่ได้จะคลอดจริง แล้วอาการท้องแข็งใกล้คลอดเป็นอย่างไร วันนี้เรามาดูกันค่ะ

ท้องแข็งหลอก มีอาการอย่างไร?

ส่วนใหญ่แล้วอาการท้องแข็งหลอกมักจะเกิดขึ้นในอายุครรภ์ที่ 28 – 40 สัปดาห์ จนทำให้คุณแม่บางรายเข้าใจว่าอาการนี้คือ อาการท้องแข็งใกล้คลอด อาการท้องแข็งหลอกนี้มักจะเกิดขึ้นในขณะที่คุณแม่รู้สึกเหนื่อย เครียด หรือเดินเป็นระยะเวลานาน ๆ รวมถึงในขณะที่คุณแม่มีภาวะขาดน้ำ ซึ่งลักษณะของอาการท้องแข็งหลอก มีดังนี้

  • รู้สึกแน่นท้อง หรือมีอาการไม่สบายท้องเป็นระยะ ๆ
  • ส่วนมากมักไม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย หรือถ้ามีก็อาจเป็นอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ได้รุนแรงมากขึ้น
  • อาการท้องแข็งจะหายไปเมื่อปัสสาวะ เปลี่ยนท่าทางการนอน หรือเปลี่ยนท่านั่ง

วิธีบรรเทาอาการท้องแข็งหลอก

เนื่องจากอาการท้องแข็งหลอกส่วนใหญ่จะไม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย อาจจะมีก็แค่อาการไม่สบายท้อง ซึ่งหากคุณแม่รู้สึกอึดอัดสามารถทำตามนี้ได้ เพื่อเป็นการบรรเทาอาการนะคะ

  • ดื่มน้ำเปล่าสะอาด เพราะอาการท้องแข็งหลอก ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะที่ร่างกายคุณแม่ขาดน้ำ
  • ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนท่าทางการนั่งหรือการนอน หรืออาจลูกขึ้นเดินช้า ๆ เพื่อเป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย
  • ยืดเส้นยืดสาย ออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย และมีสมาธิมากขึ้น

ท้องแข็ง vs ท้องอืด ต่างกันอย่างไร?

คุณแม่มือใหม่บางรายอาจเกิดความสับสนระหว่างอาการท้องแข็งกับอาการท้องอืด เพราะทั้งสองเป็นการที่ไม่สบายท้องเหมือนกัน อย่างไรก็ตามยังพอมีความแตกต่างให้คุณแม่ได้สังเกตกันได้ค่ะ ดังนี้

  • สัมผัสหน้าท้องแล้วไม่รู้สึกว่าหน้าท้องแข็ง
  • อาการท้องอืด มักทำให้มีอาการเสียดท้อง ส่วนท้องแข็งจะทำให้รู้สึกปวดท้องคล้ายกับช่วงที่มีประจำเดือน
  • อาการมักเกิดขึ้นแล้วหายไป โดยที่ไม่มีรูปแบบตายตัว
  • ถ้าได้ผายลมแล้วอาการจะดีขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง pobpad.com

ท้องแข็ง ใกล้คลอด (ท้องแข็งจริง) มีอาการอย่างไร?

  • เมื่อจับที่บริเวณท้องจะรู้สึกแข็งไปทั่วทั้งท้อง ไม่มีส่วนใดเลยที่นิ่ม
  • มีอาการปวดเป็นระยะ ๆ เช่น ทุก ๆ 10 นาที และในการปวดแต่ละครั้งจะปวดนานถึง ½ – 1 นาที เป็นต้น
  • เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถต่าง ๆ แล้วอาการท้องแข็งก็ยังคงอยู่
  • โดยมากมักพบว่าจะมีอาการปวดร่วมกับน้ำเดิน รวมถึงมีมูกเลือดปนออกมาด้วย
  • ท้องเคลื่อนต่ำลง หรือเรียกว่า “อาการท้องลด หรือ ท้องลง” นั่นแสดงว่าลูกน้อยเคลื่อนตัวลงมาที่อุ้งเชิงกรานแล้ว เพื่อเตรียมตัวคลอด ระยะนี้คุณแม่จะเริ่มหายใจได้สะดวกมากขึ้น เนื่องจากลูกน้อยไม่ได้ไปกดทับกระบังลมแล้ว
  • ปวดปัสสาวะบ่อย เนื่องจากลูกน้อยเคลื่อนตัวมาอยู่บริเวณกระเพาะปัสสาวะแทน
  • มีอาการท้องเสียหรือถ่ายเหลว เนื่องจากร่างกายมีการคลายฮอร์โมน “โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin)” เข้าสู่กระแสเลือด เพื่อเตรียมพร้อมในการคลอด ส่งผลให้มดลูกหดตัวและช่วยขยายปากมดลูกให้กว้างขึ้น ซึ่งก็เป็นการกระตุ้นการขับถ่ายด้วยเช่นกัน
  • ปวดหลัง ปวดอุ้งเชิงกราน ปวดก้นกบ แม่ท้องส่วนใหญ่จะพบอาการปวดนี้ได้จาก 1 ใน 3 ของแม่ท้องทั้งหมด เนื่องจากหลังของคุณแม่อยู่ในลักษณะโค้งมาเป็นระยะเวลานานหลายเดือน เพื่อรองรับลูกน้อยในครรภ์ และเมื่อลูกน้อยเคลื่อนต่ำลงมาก็จะเป็นส่วนของอุ้งเชิงกรานที่ต้องรับน้ำหนักเอาไว้ อาการนี้จะปวดมากขึ้นจนกว่าจะใกล้คลอด
  • หลับยาก บางรายอาจนอนไม่หลับ
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ๆ ขึ้น ๆ ลง ๆ

ท้องแข็ง ใกล้คลอดแบบไหนควรไปพบแพทย์ด่วน!

แล้วต้องรอให้ปวดท้องมากแค่ไหน แล้วท้องแข็งแบบไหนที่ควรไปดพบแพทย์ด่วน มีดังนี้ค่ะ

  • พบว่ามีมูกเลือดออกมาจากช่องคลอด แม้ว่าจะมีหรือไม่มีอาการท้องแข็งก็ตาม
  • มีเลือดสด ๆ ออกมาจากช่องคลอด เพราะอาการนี้ไม่ใช่อาการท้องแข็งธรรมดา แต่อาจมีรกเกาะต่ำหรือรกขวางทางคลอด
  • มีอาการปวดท้ออย่างรุนแรงในแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ลักษณะของอาการเจ็บท้องคลอด
  • มีน้ำคร่ำใส ๆ ไหลออกจาช่องคลอด นี่แสดงว่าถุงน้ำคร่ำที่ใช้ห่อหุ้มตัวลูกน้อยนั้นรั่วหรือแตก และเมื่อไปถึงโรงพยาบาล ต้องทำการเตรียมคลอดภายใน 24 ชั่วโมง

สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่เริ่มเข้าสู่ช่วงที่สามารถเกิดอาการท้องแข็งได้ โดยทั่วไปก็จะเริ่มตั้งแต่สัปดาห์ที่ 28 ของการตั้งครรภ์ ควรหมั่นสังเกตตัวเองว่ามีอะไรผิดปกติไปหรือไม่ หากเริ่มมีอาการท้องแข็งลองทำตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่ถ้าทำทุกทางแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์ด่วนนะคะ