Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ลูกดิ้นแรงเกินไปแม่ก็ปวดท้อง ดิ้นน้อยเกินไปก็กังวล แบบไหนอันตรายกว่ากัน รับมืออย่างไร

ลูกดิ้นแรงเกินไปแม่ก็ปวดท้อง ดิ้นน้อยเกินไปก็กังวล แบบไหนอันตรายกว่ากัน รับมืออย่างไร

ลูกดิ้น” เป็นทางเดียวที่จะทำให้คุณแม่รู้ได้ว่าลูกน้อยยังแข็งแรงและปลอดภัยดีหรือเปล่า แต่ดิ้นแรงเกินไปจนแม่ปวดท้องแบบนี้จะแปลว่าลูกกำลังตกอยู่ในอันตรายไหม? แล้วถ้าดิ้นเบา นาน ๆ ดิ้นครั้งแบบนี้ล่ะ มีอะไรที่ต้องกังวลไหม? และวันนี้เราจะมาพูดคุยเรื่องนี้กันค่ะ

ความรู้สึกลูกดิ้นเป็นอย่างไร?

โดยทั่วไปแล้วคุณแม่ตั้งครรภ์จะเริ่มรู้สึกได้ว่าลูกดิ้นเมื่ออายุครรภ์เข้าสัปดาห์ที่ 16-20 จากการที่ลูกดิ้นคุณแม่จะรู้สึกเหมือนมีปลามาว่ายน้ำอยู่ในท้อง หรือบางครั้งก็รู้สึกเหมือนเส้นประสาทกระตุกเบา ๆ เพราะทารกมีการขยับตัวทั้งเตะ ต่อย ถีบ พลิกตัว และม้วนตัว ทารกจะดิ้นอยู่ในลักษณะนี้จนถึงสัปดาห์ที่ 32 และพอเข้าช่วงใกล้คลอดการดิ้นก็จะมีเปลี่ยนไปอีกเล็กน้อย

ลูกดิ้นแรงจนแม่ปวดท้อง

อายุครรภ์ของคุณแม่เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ลูกอาจจะดิ้นได้ถึง 30 ครั้งต่อชั่วโมง ซึ่งก็ถือว่าเยอะพอสมควร ในขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนพบว่าทารกในครรภ์ดิ้นมากกว่า 40 ครั้งต่อชั่วโมงเลยก็มี แต่…กรณีนี้จะพบได้ไม่บ่อยนัก เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5 ของแม่ตั้งครรภ์ทั่วไป

การที่ลูกดิ้นมาก หรือดิ้นแรงไม่ได้นับว่าเป็นตัวบ่งชี้ว่าจะมีภาวะแทรกซ้อนของสายสะดือ และไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความพิการของทารกในครรภ์ หรือจะเป็นสัญญาณที่บอกว่าคุณแม่จะมีการคลอดก่อนกำหนดแต่อย่างใด ที่สำคัญ หลังคลอดแล้ว การดิ้นแรงก็ไม่ได้หมายความว่าลูกจะเป็นเด็กไฮเปอร์เช่นกัน แท้จริงแล้วเป็นเพียงช่วงจังหวะการหลับและการตื่นของลูกค่ะ

ลูกดิ้นแบบไหนที่เรียกว่าอันตราย

ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ถึงแม้ว่าภาวะที่ลูกดิ้นแรงมีเพียงส่วนน้อย ซึ่งในส่วนน้อยนั้นก็เป็นเรื่องที่คุณแม่ควรสังเกตและใส่ใจ เพราะอาจเป็นสัญญาณอันตรายได้ก็คือ

“ลูกจะดิ้นแรงมากอยู่ซักระยะหนึ่ง หลังจากนั้นก็หยุดดิ้นไป และเงียบไปเลยไม่มีการดิ้นอีก”

จากลักษณะดังกล่าวนี้อาจเป็นสัญญาณอันตรายของภาวะเครียดอย่างเฉียบพลัน อันเกิดจากการกดสายสะดือ หรือรกลอกตัวก่อนกำหนดอย่างรุนแรง อาจส่งผลให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้

ถ้าลูกดิ้นน้อยจะอันตรายไหม เกิดจากอะไร?

การดิ้นของลูกเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกในท้องยังแข็งแรงดี แม้บางครั้งลูกอาจดิ้นน้อยลงไปบ้าง หรือดิ้นผิดเวลาบ้างก็อาจมีสาเหตุมาจาก

ทารกในครรภ์กำลังหลับ

ลูกอาจจะกำลังหลับสบายอยู่ในท้องที่อบอุ่นของคุณแม่อยู่ค่ะ

ทารกมีขนาดตัวที่ใหญ่จนขยับตัวยาก

เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นลูกน้อยในครรภ์ก็มีขนาดตัวที่ใหญ่มากขึ้นในขณะที่ขนาดของมดลูกยังเท่าเดิม โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ 32

วิธีรับมือกับเรื่องการดิ้นของลูก

ถ้าหากคุณแม่พบว่าช่วงเวลาที่ลูกควรดิ้นเยอะที่สุดแต่กลับกลายเป็นดิ้นน้อยหรือดิ้นต่ำกว่าเกณฑ์ที่เคยเป็น คือ ต่ำกว่า 10 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมง มีการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เบื้องต้นให้คุณแม่ลองกระตุ้นลูกเพื่อการตอบสนองด้วยวิธีการดังนี้ค่ะ

  • ทานของว่าง
  • ดื่มน้ำเย็น หรือเครื่องดื่มหวาน ๆ
  • ขยับร่างกาย เคลื่อนไหวไปมา อาจเป็นการเดินไปเดินมาก็ได้ค่ะ
  • เปิดเพลงเสียงดัง

ทั้งหมดนี้ หากลูกในครรภ์ยังไม่มีการตอบสนองให้คุณแม่รีบไปปรึกษาคุณหมอ เพื่อให้คุณหมอได้ทำการตรวจวินิจฉัย ซึ่งวิธีที่นิยมใช้กันก็คือ

ตรวจอัลตราซาวน์ (Fetal Ultrasound)

ซึ่งภาพที่ได้คือคุณแม่จะเห็นการเคลื่อนไหวของลูกในครรภ์ อัตราการเต้นของหัวใจ และท่าท่างของลูก

ตรวจสุขภาพของทารกในครรภ์ (Nonstress Test)

เป็นการตรวจอัตราการเต้นของหัวใจของทารก โดยทำแผ่นเหล็กขนาดเล็กที่ทาเจลวางบนท้อง และใช้เข็มขัดคาดไว้ เพื่อไม่ให้แผ่นเหล็กเคลื่อน

ตรวจวัดความเร็วของเลือดในหลอดเลือดของลูกในครรภ์ (Fetal Doppler Velocimetry)

วิธีนี้จะคล้ายกับวิธีการตรวจสุขภาพของทารก แต่ข้อนี้จะมีการใช้คลื่นเสียงร่วมด้วย เพื่อตรวจการไหลเวียนของเลือดภายในรกและสายสะดือ ซึ่งจะทำให้คุณแม่ทราบอัตราการเต้นของหัวใจของทารกค่ะ

เพราะฉะนั้นลูกดิ้นแรง และยังดิ้นต่อไป แบบนี้ไม่น่ากังวลค่ะ แต่ถ้าเป็นช่วงที่ลูกดิ้นน้อยลง หรือไม่ดิ้นในช่วงที่ควรดิ้น แบบนี้สิคะน่าห่วงกว่า เอาเป็นว่าถ้าคุณแม่รู้สึกว่าช่วงนี้ลูกในท้องควรดิ้นแต่เขาไม่ดิ้น ให้ไปพบคุณหมอทันทีค่ะ อย่ารอจนว่านัดถัดไป

อ้างอิง
Th.theasianparent.com
Pobpad.com