Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ แม้ผอมก็เป็นได้ ส่งผลร้ายต่อลูก

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ แม้ผอมก็เป็นได้ ส่งผลร้ายต่อลูก

ขณะที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างมากค่ะ โดยเฉพาะเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ความเสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนก็จะมีมากขึ้น ซึ่งวันนี้เราจะพูดถึงเรื่องของโรคเบาหวานกันค่ะ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั้นมีความเสี่ยงต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ และคุณแม่หลาย ๆ คนอาจจะเข้าใจไปว่าเราไม่ได้มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ คงไม่เป็นหรอก ความจริงแล้วจะเป็นเช่นนั้นไหม เราไปไล่เรียงกันเลยค่ะ

อาการโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

จากสถิตแล้วโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะไม่มีอาการใด ๆ ที่เด่นชัดมากนัก แต่ก็พอที่จะสังเกตอาการได้ ซึ่งดูแล้วจะคล้าย ๆ กับภาวะน้ำตาลในเลือดสูง คือ

  • กระหายน้ำมากกว่าปกติ
  • ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
  • รู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติ
  • รู้สึกอ่อนเพลีย ต้องการนอนพักผ่อนมากกว่าปกติ

ผลกระทบโรคเบาหวานที่มีต่อคุณแม่

คุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะมีผลกระทบต่อตัวคุณแม่ ดังนี้

เสี่ยงเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ

คุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะมีโอกาสที่จะเกิดอาการครรภ์เป็นพิษได้ คือร่างกายมีความดันโลหิตที่สูงร่วมกับมีโปรตีนรั่วออกมากับปัสสาวะมากกว่าปกติ โดยมากจะพบได้บ่อยในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์

เสี่ยงต่อการผ่าท้องคลอด

คุณแม่ที่วางแผนเอาไว้ว่าต้องการจะคลอดลูกแบบธรรมชาติ หากเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจต้องมีการเปลี่ยนแผน และเสี่ยงต่อที่จะคลอดด้วยวิธีผ่าตัดแทน เนื่องจากทารกจะมีขนาดใหญ่กว่าปกติ

มีโอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2

โอกาสที่จะพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นี้มีได้มากกว่าผู้หญิงปกติถึง 7.4 เท่า

เสี่ยงต่อโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ

หากคุณแม่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงและติดต่อกันเป็นเวลานาน จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เช่น เบาหวานขึ้นตา โรคไต โรคหัวใจ และเส้นประสาทถูกทำลาย เป็นต้น

ผลกระทบโรคเบาหวานที่มีต่อทารกในครรภ์

สำหรับผลกระทบต่อทารกมีดังนี้

  • เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
  • น้ำหนักของทารกแรกคลอดมากกว่าเด็กปกติ เช่น ทารกที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ ทำให้ไม่สามารถคลอดแบบธรรมชาติได้ หรืออาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายขณะคลอดได้
  • ทารกจะมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำทันทีเมื่อหลังคลอด
  • ทารกจะมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
  • เสี่ยงที่ทารกจะเสียชีวิตในครรภ์ได้
  • ทารกที่คลอดจากคุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานจะมีโอกาสเป็นโรคอ้วน และอาจพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคต

ปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

คุณแม่ตั้งครรภ์ลักษณะไหนที่ถือว่าความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน มีดังนี้

  • คุณแม่มีน้ำหนักมากเกินเกณฑ์
  • ใครรภ์ก่อนหน้า คุณแม่เคยมีประวัติเป็นโรคเบาหวานมาก่อน
  • ในครอบครัวเคยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • เป็นโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome)
  • ก่อนจะตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มักจะพบว่ามีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดที่สูงกว่าปกติ แต่อาจไม่สูงพอที่จะวินิจฉัยพบว่าเป็นโรคเบาหวาน
  • มีคลอเสลเตอรอลในเลือดสูง
  • มีความอ้วนตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์

การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

หากคุณแม่พบว่าเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สามารถดูแลตัวเองได้ ดังนี้

ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม

คุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สามารถออกกำลังกายได้ค่ะ โดยให้เลือกประเภทของการออกกำลังกายที่ไม่มีผลกระทบต่อลูกในครรภ์ เช่น การเดินหรือวิ่งเหยาะ ๆ, การเต้นรำ, การว่ายน้ำ, หรือการออกกำลังกายเฉพาะส่วนบน โดยใช้เวลา 30 นาที ซึ่งจะให้ดีควรปรึกษาแพทย์ก่อนนะคะ

ดูแลควบคุมเรื่องโภชนาการ

คุณแม่ยังสามารถทานอาหารได้ 3 – 5 มื้อต่อวัน แต่ในปริมาณที่ไม่มากเกินไป โดยเน้นลดอาหารจำพวกแป้ง หรือน้ำตาล จะให้ดีหันมาทานข้าวซ้อมมือจะดีที่สุด เพิ่มอาหารจำพวกโปรจีนเข้าไป ทานผัก และงดอาหารที่มีความหวานมาก ๆ หรือแม้แต่ผลไม้ก็ไม่ควรทานผลไม้ทีมีความหวานมาก ๆ เช่น ทุเรียน มะม่วงสุก เงาะ ลำไย หรือลิ้นจี่ เป็นต้น รวมถึงงดของทอด หรืออาหารที่มีไขมันสูง ๆ

ใช้ยารักษาเบาหวานร่วมด้วย

บางรายหากมีอาการมาก จำเป็นที่จะต้องใช้ยาร่วมด้วย ซึ่งจะเป็นยาฉีด คุณแม่บางคนก็ต้องฉีดวันละหลายครั้ง

เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

การเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ไม่มีใครอยากเป็นค่ะ แต่ถ้าหากมันเกิดขึ้นแล้วให้คุณแม่สังเกตร่างกายของตัวเองอย่างสม่ำเสมอนะคะ เช่น ถ้ารู้สึกว่าอ่อนเพลียมากเกินไป น้ำหนักตัวขึ้นเร็วมากเกินไป ท้องไม่โตขึ้น ลูกดิ้นน้อยลง หรือไม่ดิ้นเลย ลักษณะนี้ ควรพบแพทย์ทันทีนะคะ