Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

รับการตรวจดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) แม่ท้อง ฟรี! ไม่ต้องเจาะน้ำคร่ำที่โรงพยาบาล

คุณแม่ที่ท้องเมื่ออายุเกิน 35 ปี คงกังวลว่าลูกในท้องจะสมบูรณ์ปกติดีหรือไม่ ครบ 32 หรือเปล่า หรือไม่ก็…ลูกเราจะเป็นดาวน์ซินโดรมมั้ย ซึ่งการตรวจดาวน์ซิมโดรมนี้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะอาศัยการเจาะน้ำคร่ำอย่างเดียว ซึ่งต้องบอกว่าคุณแม่บางท่านก็ไม่กล้าเจาะ
แต่วันนี้…ภาครัฐมีแคมเปญดีๆ ออกมาให้คุณแม่ท้องได้เฮ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ซึ่งส่วนมากมักจะได้รับคำแนะนำให้ตรวจคัดกรองความผิดปกติของลูกน้อยในท้อง เพื่อให้ทราบได้ก่อนว่าลูกจะมีความเสี่ยงเป็นดาวน์ซินโดรมหรือไม่

สถิติของเด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรม

ปัจจุบันมีคุณแม่ท้องที่คลอดลูกราวๆ 700,000 คน/ปี พบว่ามีทารกที่อยู่ในกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมถึงปีละ 800-1,000 คน ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยเรามีเด็กที่อยู่ในกลุ่มอาการนี้ราว 80,000 คน ทั่วประเทศ โดยทารกที่เกิดจากคุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี มีความเสี่ยงที่จะเป็นดาวน์ซินโดรมได้ประมาณ 1 ต่อ 800 คน ขณะที่คุณแม่ท้องที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปี มีความเสี่ยงเพียง 1 ต่อ 1,000 คน เท่านั้น
ที่สำคัญ การดูแลเด็กที่มีอาการดาวน์ซินโดรมต้องมีค่าใช้จ่ายตลอดชีวิตเฉลี่ยคนละ 2.5 ล้านบาท นับว่าเป็นภาระค่อนข้างหนักทีเดียวสำหรับครอบครัว

ตรวจคัดกรอง ฟรี!

นายแพทย์ วัช สุนทราจารย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า

“กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองอาการดาวน์ซินโดรมในแม่ตั้งครรภ์มาตลอด โดยเฉพาะแม่ท้องกลุ่มเสี่ยง ซึ่งมีโอกาสที่จะคลอดทารกเป็นโรคนี้สูง 2 – 3 เท่าจากคนทั่วไป หากคุณแม่ไปฝากครรภ์ตามโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขก็จะได้รับการตรวจคัดกรองภาวะดาวน์อยู่แล้ว แต่แม่ส่วนใหญ่ค่อนข้างกังวลเรื่องความปลอดภัยและภาวะเสี่ยงจากการเจาะน้ำคร่ำ”

ในปีทางกระทรวงสาธารณสุขจึงเปิดบริการให้คุณแม่ท้องที่มีอายุตั้งแต่35 ปีขึ้นไป เข้ารับ การตรวจดาวน์ซินโดรม ฟรี! เพื่อที่จะได้ทราบถึงปัญหาได้อย่างรวดเร็ว และช่วยกันงานแผนครอบครัวต่อไป โดยเปลี่ยนจากการเจาะน้ำคร่ำมาใช้การเจาะเลือดแทน ซึ่งได้รับการยอมรับจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย

โดยก่อนหน้านี้ ได้เคยมีการนำร่องการตรวจคัดกรองด้วยวิธีเจาะเลือดไปแล้วใน 3 พื้นที่ จาก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งคณะทำงานได้ทำการคัดกรองอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559-2561 รวมระยะเวลากว่า 3 ปีเต็ม พบว่าวิธีนี้คุ้มค่า จึงควรทำการขยายการบริการนี้ให้ทั่วประเทศ

การยื่นขอรับบริการ

คุณแม่ท้องที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป คนไหนมีความสนใจจะขอรับบริการสามารถทำได้โดย…

  • แจ้งความจำนงได้ที่โรงพยาบาลภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ
  • คุณแม่ต้องมีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
  • คุณแม่ต้องมีสิทธิหลักประกันสุขภาพ จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะสำนักงานหลักประกันสุขภาพจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ตรวจดาวน์ซินโดรมมีกี่แบบ

การตรวจดาวน์ซินโดรมมีทั้งหมด 4 แบบ ดังนี้ค่ะ

การเจาะน้ำคร่ำ

99% คือ ความแม่นยำของวิธีนี้ เพราะสามารถตรวจโครโมโซม 46 แท่ง 23 คู่ของลูกน้อยในท้องได้ทั้งหมด นอกจากความเสี่ยงเรื่องดาวน์ซินโดรมแล้ว ยังบอกเพศได้ และบอกความผิดปกติอื่นๆ ได้อย่างแม่นยำอีกด้วย แต่การเจาะน้ำคร่ำก็มีความเสี่ยงที่จะแท้งลูกได้ ทางที่ดีควรตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วยวิธีอื่นก่อน

อัลตร้าซาวน์และตรวจเลือด

วิธีนี้คัดกรองง่าย สะดวก และนิยมกันมาก แต่ไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าลูกเป็นดาวน์ซินโดรมหรือไม่

เจาะเลือดคุณแม่

เป็นการเจาะเลือดเพื่อนำสารเคมี 4 ชนิดได้แก่ อัลฟ่าฟีโตโปรตีน (alpha feto-protein) เอสตริออล (estriol) เอชซีจี (hCG) อินฮิบิน เอ (Inhibin A) แพบเอ (PAPP-A) มาตรวจเพื่อคำนวนหาอัตราความเสี่ยงของทารกในครรภ์ โดยสามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 16-14 สัปดาห์

ใช้เทคนิค NIPT

เป็นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถวิเคราะห์ดีเอ็นเอได้ทั้งคุณแม่และลูกน้อย ด้วยการเจาะเลือด ไม่ต้องกระทบลูกน้อย และไม่เสี่ยงต่อการแท้ง แต่…ค่าใช้จ่ายสูงมาก

ทั้งนี้ คุณแม่ท้องจะเลือกตรวจวิธีไหนก็แล้วแต่สะดวกนะคะ เป็นกำลังใจให้แข็งแรงทั้งคุณแม่และลูกน้อยค่ะ