Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ฝากครรภ์ครั้งแรกตรวจอะไรบ้าง เตรียมตัวอย่างไร

ฝากครรภ์ครั้งแรกตรวจอะไรบ้าง เตรียมตัวอย่างไร

ทันทีที่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ สำหรับคุณแม่มือใหม่อาจจะดีใจได้ 3 วินาที หลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นความกังวลเล็ก ๆ ว่าเราจะเป็นคุณแม่ที่ดีได้ไหมนะ ลูกจะแข็งแรงไหมนะ จะไปฝากครรภ์ที่ไหนดี ฯลฯ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ คุณแม่ควรไปฝากครรภ์ก่อน ซึ่งการฝากครรภ์ คุณหมอจะตรวจอะไรบ้างนะ คุณแม่ต้องเตรียมตัวอย่างไร ไปติดตามกันค่ะ

การเตรียมตัวไปฝากครรภ์

จะฝากครรภ์ที่ไหนดี? เรื่องนี้ไม่ได้มีกฎเกณฑ์กำหนดตายตัว แต่ก็มีแนวทางให้คุณแม่ได้นำปพิจารณา ดังนี้

เลือกสถานที่ใกล้บ้าน

ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉิน การเลือกโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านจะทำให้เดินทางได้สะดวก ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที

เลือกคุณหมอที่คุณแม่ไว้ใจ

โดยพิจารณาจากประสบการณ์ และประวัติการทำงาน จะทำให้คุณแม่คลายกังวลได้เยอะทีเดียว

เลือกตามงบประมาณ

จะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนก็ตามสะดวก ตามงบประมาณที่มีค่ะ

สิ่งที่ต้องเตรียมเมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรก

ในครั้งแรกที่คุณแม่ไปฝากครรภ์ ควรเตรียมเอกสารและข้อมูลต่าง ๆ ไปด้วย ดังนี้

  • บัตรประชาชนของทั้งคุณพ่อ และคุณแม่
  • ประวัติการเจ็บป่วย โรคประจำตัว ข้อมูลการแพ้ยา การคลอดลูก การแท้งบุตรในครรภ์ก่อนหน้า รวมถึงประวัติเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรม
  • ข้อมูลของการมีรอบเดือนครั้งสุดท้าย โดยนับจากวันแรกของการมีรอบเดือนครั้งสุดท้าย

ฝากครรภ์ครั้งแรกตรวจอะไรบ้าง?

โดยทั่วไปคุณหมอจะทำการตรวจร่างกาย ดังนี้

ตรวจปัสสาวะ

เพื่อดูว่ามีน้ำตาลในปัสสาวะหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณแม่ไม่ได้เป็นเบาหวานแทรกซ้อน รวมถึงดูว่ามีโปรตีนออกมาด้วยหรือไม่ เพื่อดูการทำงานของไต ซึ่งถ้าตรวจพบในช่วงหลังของการตั้งครรภ์ร่วมกับมีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย แปลว่าคุณแม่มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะมีภาวะครรภ์เป็นพิษ

ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง

ซึ่งจะเป็นการบอกได้คร่าว ๆ ถึงเชิงกรานได้ ถ้าคุณแม่ตัวเล็ก อาจทำให้คลอดได้ยาก ถ้าเชิงกรานไม่ได้สัดส่วนกับขนาดของลูก

ตรวจเลือด

พยาบาลจะเจาะเลือดที่บริเวณข้อพับประมาณ 10 ซีซี เพื่อนำไปตรวจดูความเข้มข้นของเลือด ส่วนประกอบของเลือด กรุ๊ปเลือด โรคเลือดธาลัสซีเมีย รวมถึงตรวจหาเชื้อบางชนิด เช่น หัดเยอรมัน ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี และเอดส์

วัดความดันโลหิต

หากวัดค่าออกมาได้เกิน 149/90 มิลลิเมตรปรอท ถือว่ามีความดันโลหิตสูง

อัลตร้าซาวด์

เพื่อเป็นการดูท่าของทารกว่ากำลังอยู่ในท่าใด ส่วนนำเป็นส่วนของศีรษะหรือไม่ และเป็นการประมาณขนาดและน้ำหนักของทารกในครรภ์ และที่สำคัญคือ เป็นการทำให้แน่ใจว่าท่าของทารกจะไม่เป็นอันตรายต่อทั้งทารกเองและคุณแม่

การติดตามสุขภาพครรภ์และพัฒนาการทารกในครรภ์

สามารถแบ่งออกได้เป็นไตรมาส ดังนี้

ไตรมาสที่ 1

นับตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ – 14 สัปดาห์ โดยคุณหมอจะนัดตรวจทกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง โดยมีการตรวจ ดังนี้

  • ตรวจปัสสาวะหรือเลือด เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์
  • ตรวจคัดกรองการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด หรือกระเพราะปัสสาวะ
  • ตรวจเลือดสำหรับการตรวจครรภ์ครั้งที่ 1 เพื่อหาโรคเอดส์ กามโรค ตับอักเสบบี/ซี หมู่เลือด และโรคธาลัสซีเมีย
  • ตรวจเลือดคุณแม่เพื่อคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือตรวจหาสารบางชี้ความเป็นดาวน์ซินโดรม
  • ตรวจอัลตร้าซาวด์ เพื่อกำหนดอายุครรภ์

ไตรมาสที่ 2

คุณหมอจะนัดตรวจทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งมีการตรวจ ดังนี้

  • ตรวจเลือด เพื่อคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
  • เจาะน้ำคร่ำ เพื่อตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์ (เฉพาะกรณีที่มีความเสี่ยง)
  • ตรวจอัลตร้าซาวด์ เพื่อดูเพศของทารกในครรภ์ และติดตามพัฒนาการของทารก

ไตรมาสที่ 3

คุณหมอจะนัดตรวจทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งจะมีการตรวจ ดังนี้

  • สอนให้คุณแม่รู้จักการนับลูกดิ้น
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และบาดทะยัก
  • ตรวจเลือดสำหรับฝากครรภ์ครั้งที่ 1 (โรคเอดส์ กามโรค ตับอักเสบบี/ซี หมู่เลือด และโรคธาลัสซีเมีย)
  • ตรวจอัลตร้าซาวด์ เพื่อคำนวณน้ำหนักตัว และติดตามสุขภาพของทารกในครรภ์

สำหรับการฝากครรภ์ในครั้งแรก เมื่อเสร็จในเรื่องการตรวจปัสสาวะ และตรวจเลือดแล้ว คุณแม่จะได้รับสมุดฝากครรภ์ ซึ่งทุกครั้งที่คุณแม่ไปพบคุณหมอควรนำติดตัวไปด้วยทุกครั้งนะคะ เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมา และจำเป็นต้องเข้าที่โรงพยาบาลอื่น คุณหมอท่านอื่นจะได้มีข้อมูลของคุณแม่และลูกน้อยค่ะ

ข้อมูลอ้างอิง nakornthon.com , rakluke.com