เรื่องอาการปวดเมื่อยตามร่างกายกับคุณแม่ท้องเป็นของคู่กันจริงๆ ค่ะผู้เขียนผ่านมาแล้วเข้าใจดี 555 เพราะยิ่งอายุครรภ์มากขึ้น คุณแม่ก็ยิ่งต้องรับน้ำหนักมากขึ้น และส่วนที่ทำหน้าที่แบกรับโดยตรงคือส่วนหลังซึ่งก็ทำให้ส่วนอื่นพากันปวดเมื่อยตามไปด้วยโดยเฉพาะเท้า “การนวดฝ่าเท้าหรือการกดจุดฝ่าเท้า” จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณแม่ท้องต้องการมากถึงมากที่สุด แต่….คำถามคือ
“แม่ท้องจะนวดฝ่าเท้าหรือกดจุด เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้หรือไม่?”
สารบัญ
คนท้องนวดฝ่าเท้าหรือกดจุดฝ่าเท้าได้หรือไม่
“เท้า” เป็นอีกหนึ่งอวัยวะที่รับบทหนัก ย้ำ! บทหนักจริงๆ ค่ะ เพราะคุณแม่ต้องยืน ต้องเดินพร้อมกับต้องแบกน้ำหนักของลูกไว้ ด้วยความที่ลูกโตขึ้นทุกวัน ท้องก็ใหญ่ทุกวัน น้ำหนักก็จะเพิ่มมากขึ้นทุกวันเช่นกัน ดังนั้น พอหมดวันคุณแม่ก็จะรู้สึกปวดเมื่อยเท้าเอามากๆ
ซึ่งหนึ่งในหลายๆ ทางออกที่คุณแม่จะนึกถึงเพื่อบรรเทาความปวดเมื่อย นั่นก็คือ “การนวดกดจุดฝ่าเท้าหรือการฝังเข็ม”
ในความเชื่อของคนโบราณ
ห้ามไม่ให้คุณแม่ท้องทำการนวดฝ่าเท้า กดจุดฝ่าเท้า หรือแม้กระทั่งการฝังเข็ม แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาและยังไม่มีคำอธิบายในทางวิทยาศาสตร์ออกมายืนยันว่าทำได้หรือไม่
ตามศาสตร์แพทย์จีน
ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า “การนวดกดจุดฝ่าเท้า” นั้น นับเป็นการกระตุ้นลมปราณได้เช่นเดียวกับ “การฝังเข็ม” เพราะการฝังเข็มจะมีตำแหน่งของการฝังตามจุดต่างๆ ที่สามารถไปกระตุ้นการคลอดได้ โดยทำให้มดลูกเกิดการบีบรัดตัวเป็นอันตรายต่อเด็ก สามารถทำให้ “คลอดก่อนกำหนด” หรือ “แท้ง” ได้
เพราะ “ฝ่าเท้า” นับเป็นที่รวมของเส้นประสาทมากมายที่เชื่อมเข้ากับทุกส่วนของร่างกาย เป็นจุดรวมลมปราณของอวัยวะต่างๆ รวมถึงมดลูก ดังนั้น จึงควรเลี่ยงการนวดกดจุดหรือการฝังเข็มทั้งที่ฝ่าเท้าและร่างกายขณะท้องก่อนนะคะ โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรก
ทั้งนี้ ทั้งนั้นก็ยังไม่เคยมีกรณีที่ออกมายืนยันชัดเจนว่าการฝังเข็มตามศาสตร์ของแพทย์แผนจีนนั้นจะส่งผลให้คลอดก่อนกำหนดหรือแท้ง แต่ทางที่ดี ควรป้องกันไว้ก่อนดีกว่านะคะ หากคุณแม่เมื่อยมากๆ ลองมาแก้ปัญหาที่ต้นเหตุกันก่อนนะคะ
สาเหตุที่ทำให้ปวดเมื่อยฝ่าเท้า
รองเท้าไม่เหมาะสม
เมื่อคุณแม่รู้ตัวว่าท้อง ควรเปลี่ยนรองเท้าให้เหมาะสม เพราะลูกจะเติบโตมากขึ้นทุกวัน ดังนั้น รองเท้าสำหรับคนท้องที่ควรเป็นแบบไม่มีส้น และมีพื้นยางกันลื่น พื้นรองเท้าไม่ควรแข็งหรือนิ่มเกินไป เพราะเวลาที่คุณแม่ลงน้ำหนักจากการเดินก็จะทำให้คุณแม่ยิ่งปวดเท้ามากขึ้นค่ะ
มีอาชีพที่ต้องยืนนานๆ
หากเป็นไปได้ คุณแม่ควรแจ้งหัวหน้างานทราบกำลังตั้งท้อง และขอเปลี่ยนหน้าที่ชั่วคราวเป็นงานที่นั่งโต๊ะแทน เพื่อช่วยลดอาการปวดเมื่อยเท้าได้ค่ะ
เดิน หรือนั่งหลังค่อมเป็นเวลานาน
คุณแม่ท้องบางท่านยังต้องเดินทางไปทำงานอยู่ เพราะฉะนั้น ในหนึ่งวันหากคุณแม่ต้องเดินหรือนั่งหลังค่อมทำงานเป็นเวลานาน ๆ จนเกิดความเคยชิน (ตั้งแต่ยังไม่ท้อง) แบบนี้ก็สามารถทำให้ปวดเมื่อยฝ่าเท้าได้ค่ะ
วิธีที่ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยฝ่าเท้าสำหรับคนท้อง
หากคุณแม่ลองแก้ที่ต้นเหตุแล้ว แต่ก็ยังปวดเมื่อยอยู่ดี ลองใช้วิธีนี้ดูนะคะ
แช่เท้าในน้ำอุ่น
ให้คุณพ่อช่วยเตรียมน้ำอุ่นในกะละมัง จากนั้นใส่เกลือเม็ดหยาบลงไป คนจนเกลือละลายดี คุณแม่มีหน้าที่แค่นั่งเก้าอี้ที่สบายพอดีตัว ถ้าปรับเอนได้ก็จะดีมากเลยค่ะ นำเท้าทั้งสองข้างแช่ในน้ำอุ่น ประมาณซัก 30 นาที เท่านี้ก็ทำให้คุณแม่ได้ผ่อนคลาย สบายตัวแล้วล่ะค่ะ
วานคุณพ่อช่วยบีบนวดเบาๆ
คนท้องอาจมีอารมณ์แปรปรวนจากฮอร์โมนอยู่แล้วเป็นทุน มิหนำซ้ำต้องแบกท้องที่หนักอีกตั้ง 9 เดือน แถมปวดเมื่อยฝ่าเท้าไปอีก ดังนั้น ไม่แปลกค่ะที่อาจมีอารมณ์หงุดหงิดกันบ้าง แต่คุณพ่อสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยฝ่าเท้าและร่างกายได้โดย บีบนวดคอ บ่า ไหล่ ขา แขน และเท้าเบาๆ เอาแค่ให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายเท่านั้นนะคะ ไม่ต้องแรงแบบที่ร้านนวดนะคะ
ยกเท้าขึ้นสูงเล็กน้อย
หากคุณแม่เริ่มรู้สึกว่ามีอาการปวดขา ให้นวดบริเวณน่องเบา ๆ แล้วค่อย ๆ เหยียดขาออกไป โดยพยายามหลีกเลี่ยงการเหยียดปลายเท้า เพราะอาจยิ่งทำให้เกิดอาการตะคริวได้
ลุกขึ้นยืน
ให้คุณแม่ลุกขึ้นยืนบนพื้นราบแข็ง จากนั้นค่อย ๆ ยกขาขึ้นไปด้านหน้า เพื่อเป็นการยืดกล้ามเนื้อส่วนน่อง ทำซ้ำช้า ๆ นะคะ จนกว่าอาการปวดเมื่อยจะทุเลาลง
เนื่องฝ่าเท้าเป็นจุดศูนย์รวมของระบบประสาทต่าง ๆ ในร่างกาย ดังนั้น หากคุณแม่เมื่อยมาก ๆ จริง ๆ แนะนำเลือกวิธีที่ปลอดภัยที่สุดนะคะ ทีนี้ในส่วนของหัวล่ะ “คนท้องนวดได้ไหม คนท้องนวดหัวได้ไหม” (Another article) ไปนวดหน้าเสริมสวย หรือนวดเพื่อผ่อนคลายได้หรือเปล่า ด้วยหลักการแล้วคุณแม่ก็ควรเลือกวิธีที่ปลอดภัยที่สุดเช่นกันนะคะ