Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

9 ข้อสำคัญ ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรใส่ใจ

ถ้าให้ถามคุณแม่ว่า “เมื่อรู้ว่าตัวเองกำลังจะมีลูก ช่วงเวลาไหนมีความสุขที่สุด?” เชื่อเลยค่ะว่าร้อยทั้งร้อยต้องตอบตรงกัน นั่นคือ “ช่วงเวลาที่อุ้มท้อง” เพราะเวลาที่ลูกน้อยอยู่ในครรภ์ ถ้าอายุครรภ์มากกว่า 4 เดือน ลูกน้อยก็จะดิ้น ขยับตัวไปมาอยู่ในท้องคุณแม่เชื่อมสายใยรักผ่านทางสายสะดือ

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ก็อย่าลืมใส่ใจดูแลตัวเองด้วยนะคะ อย่าลืมว่าเรามีลูกน้อยอีกคนในท้องที่ต้องดูแล วันนี้เราจะมาเช็คลิสต์กันทีละเรื่องค่ะว่ามีเรื่องที่คุณแม่ทำอยู่หรือเรื่องไหนตกหล่นไป ไปดูกันเลยค่ะ

Youtube : 9 ข้อสำคัญ ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรใส่ใจ

การทำงาน

ต้องบอกก่อนว่ามีคุณแม่หลายท่านที่ต้องทำงานนอกบ้านด้วย แต่ถ้าเราเข้าใจร่างกายของเราก่อน เราก็จะดูแลร่างกายตัวเองได้ดีค่ะ ซึ่งในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์นี้ร่างกายจะอ่อนเพลียง่าย ปวดเมื่อยง่าย หากคุณแม่ท่านใดที่นั่งทำงานก็อาจจะเปลี่ยนอิริยาบถเป็นเดินทุกๆ 2 ชม. หรือหากคุณแม่ท่านใดที่ต้องทำงานหนักๆ ก็ลองปรึกษาหัวหน้างาน เพื่อขอย้ายมาทำงานที่เบาลงนะคะ

การแต่งกาย

ควรเลือกใส่เสื้อผ้าที่สวมสบายไม่รัดจนเกินไป ร้องเท้าควรเลือกแบบส้นแบบนะคะ เพราะลำพังท้องที่โตขึ้นเรื่อยๆ ก็จะส่งผลต่อหลังและกล้ามเนื้อขาที่ต้องรับน้ำหนักมากอยู่แล้วค่ะ ที่สำคัญหากคุณแม่ล้ม อาจกระทบถึงลูกน้อยได้นะคะ

ออกกำลังกายเบาๆ

เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่จำเป็น เพราะการออกกำลังกายเบาๆ จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ทำให้คุณแม่หลับง่ายขึ้น ท้องไม่ผูกอีกด้วยค่ะ อาจจะใช้วิธีการออกกำลังกายในน้ำก็ได้นะคะ เพราะน้ำจะช่วยพยุงตัวเราไว้ ทำให้ลดแรงกระแทกจากการออกกำลังกายค่ะ

ฟันและช่องปาก

เพราะช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์นั้น จะมีระดับ “ฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรน” ที่เพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้มีปัญหาเรื่องฟันผุหรือเหงือกอักเสบขณะแปรงฟันได้ ปัญหาเหล่านี้จะค่อยๆ หมดไปในระยะปัปดาห์ท้ายๆ ใกล้คลอดนะคะ ดังนั้น หากคุณแม่ท่านใดกำลังเผชิญปัญหาเหล่านี้อยู๋ แนะนำให้ไปปรึกษาทันตแพทย์ทุก 6 เดือนนะคะ

น้ำหนักตัว

โดยรวมตลอดอายุของการตั้งครรภ์แล้วคุณแม่ควรมีน้ำหนักตัวไม่เกิน 10 กิโลกรัมนะคะ หากน้อยกว่านี้ จะมีโอกาสสูงที่ทารกจะมีน้ำหนักต่ำว่าเกณฑ์ หรือในทางกลับกับหากคุณแม่มีน้ำหนักตัวที่มากกว่า10 กิโลกรัม อาจส่งผลให้คลอดยาก เพราะเด็กตัวโตเกินไปและยังส่งผลให้แผลผ่าตัดติดกันช้า
แต่อีกนัยหนึ่งของคุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไป ไม่ได้หมายความว่าทารกจะตัวโตเสมอไปนะคะ เพราะโดยทั่วไปแล้วเด็กทารกจะมีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 3 กิโลกรัมค่ะ

ความสะอาดของเต้านม

ขณะตั้งครรภ์ เต้านมจะมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น คุณแม่ควรเลือกซื้อเสื้อชั้นในให้พอดีใส่สบาย ส่วนการทำความสะอาด เวลาที่คุณแม่อาบน้ำอาจไม่ต้องถูสบู่ที่บริเวณหัวนมก็ได้นะคะ ป้องกันการแห้ง แตก และคันแต่หากมีอาการแห้งและคันมาก่อนหน้า แนะนำให้ทาโลชั่นบางๆ ได้ค่ะ
…และหากคุณแม่ท่านใดที่มีอาการหัวนมแตก หัวนมบอดให้รีบปรึกษาแพทย์นะคะ เพราะไม่อย่างนั้นอาจส่งผลต่อการให้นมลูกน้อยได้ค่ะ

เซ็กซ์

คุณหมอไม่ได้ห้ามเรื่องนี้นะคะ เพียงแต่คุณแม่ต้องหลีกเลี่ยงท่านอนหงาย เพราะเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น ท้องจะใหญ่ขึ้นน้ำหนักตัวของทารกและมดลูกกดทับเส้นเลือดดำส่งผลต่อการไหลเวียนของหลอดเลือดดำค่ะ

ที่สำคัญ…ควรงดเว้นในระยะใดบ้าง?

“ช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และ 1 เดือนสุดท้ายก่อนคลอดค่ะ”

การพักผ่อน

ตั้งแต่คุณแม่ทราบว่ากำลังจะมีน้อง แนะนำว่าควรนอนหลับพักผ่อนให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงการนอนกลางวันด้วยนะคะ เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น คุณแม่จะนอนหลับได้ยากขึ้น เวลานอนควรนอนตะแคง เอาหมอนมารองใต้ท้องและต้นขาด้านใน (เวลานอนตะแคง) เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นค่ะ

แหวนและเครื่องประดับต่างๆ

เอ…ข้อนี้จะเกี่ยวอะไรกับการตั้งครรภ์?

เกี่ยวอย่างมากเลยค่ะ เพราะเวลาที่เราตั้งครรภ์ น้ำหนักตัวเราจะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นแบบลืมไปเลยว่าใส่แหวนอยู่ จะมารู้ตัวอีกทีตอนใกล้คลอด เพราะเมื่อเวลาที่เราเข้าห้องผ่าตัด คุณหมอและพยาบาลจะแนะนำว่า “ไม่ให้เราใส่แหวนหรือเครื่องประดับเข้าห้องผ่าตัดเลย เพราะอุปกรณ์ในห้องผ่าตัดมีกระแสไฟฟ้า อาจเสี่ยงในเรื่องการช้อตคนไข้ผ่านเครื่องประดับได้

ซึ่งทั้งนี้ ทั้งนั้นทางโรงพยาบาลจะไม่ทราบหรอกค่ะ ว่าคุณแม่ใส่เครื่องประดับที่ทำจากวัสดุอะไร และถามว่าเปอร์เซ็นต์ที่โรงพยาบาลจะมีเหตุขัดข้องแบบนี้มีเท่าไหร่? บอกได้เลยค่ะว่าน้อยมาก เพียงแต่ “ป้องกันไว้ดีกว่าแก้

กลับหากคุณแม่ลืมถอด จะมาถอดเอาวันใกล้คลอด แต่ถอดไม่ออกแล้ว ทำอย่างไรดี? คำตอบคือ “ตัดนิ้ว” เอ้ย!…“ตัดแหวนอย่างเดียว” ค่ะ

แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมานี้ดูเหมือนว่าทำไมการตั้งครรภ์ดูจะเยอะยุ่งยากไปซะหมด ความจริงแล้ว ถ้าคุณแม่เช็คลิสต์ได้ตามนี้ และทำเป็นประจำ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะกลายเป็นเรื่องราวในชีวิตประจำวันของคุณแม่ไปโดยไม่รู้ตัวแล้วล่ะค่ะ