Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

แม่ท้องอารมณ์อ่อนไหว ขี้น้อยใจ แปรปรวนบ่อย สาเหตุมาจากอะไร? รับมืออย่างไร?

แม่ท้องอารมณ์อ่อนไหว ขี้น้อยใจ แปรปรวนบ่อย สาเหตุมาจากอะไร? รับมืออย่างไร?

ก่อนที่จะรู้ว่าตัวเองท้อง สามีโน้ตเอาชุดตรวจครรภ์มาให้ตรวจ เราเองก็ตรวจแบบงง ๆ สามีเอามาให้ตรวจ 2 ชุด สรุปผลได้ว่าท้อง สุดท้ายสามีบอกว่าที่ให้ตรวจเพราะรู้สึกว่าหลัง ๆ เรานี้อารมณ์แปรปรวนเหลือเกิน เดี๋ยวดี เดี๋ยววีน (นี่ถ้าไม่ท้องแสดงว่าตัวเองเป็นไบโพลาร์เลยนะ 555) ว่าแต่มันเพราะอะไรกันนะ ทำไมแม่ท้องถึงได้มีอารมณ์อ่อนไหว ขี้น้อยใจ บางทีก็เหวี่ยงวีน วันนี้เราจะไปดูสาเหตุพร้อมวิธีรับมือกันค่ะ

Youtube : แม่ท้องอารมณ์อ่อนไหว ขี้น้อยใจ แปรปรวนบ่อย สาเหตุมาจากอะไร? รับมืออย่างไร?

สาเหตุแม่ท้องอารมณ์อ่อนไหว แปรปรวนบ่อย

แม่ท้องมีอารมณ์อ่อนไหว แปรปรวน เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เมื่อกี้ยังหัวเราะอยู่เลย ตอนนี้เหวี่ยงซะแล้ว จริง ๆ แล้วการที่แม่ท้องมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างนี้ก็มาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ ก็จะมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายขณะตั้งครรภ์ ผนวกกับความกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างในชีวิต ทั้งร่างกาย ชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงกังวลว่าจะทำหน้าที่ของแม่ได้ดีแค่ไหน เราไปดูกันในรายละเอียดในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของแต่ละไตรมาสกันเลยดีกว่าค่ะ

อาการของคุณแม่ท้องในไตรมาสแรก

เพราะฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในร่างกายของคุณแม่จึงส่งผลต่ออารมณ์ของแม่ท้องเป็นอย่างมาก เริ่มตั้งแต่

แพ้ท้อง

คลื่นไส้ เวียนหัว อาเจียน บางคนได้กลิ่นอาหารบางอย่างไม่ได้เลย จะมีอาการทันที และในบางคนอีกเช่นกัน ถ้าหากมีอาการแพ้ท้องมาก ๆ ก็จะทำให้แม่ท้องไม่มีจิตใจจะทำอะไรแล้ว เดี๋ยวเหม็น เดี๋ยวอาเจียนแบบนี้ทั้งวัน

หิวบ่อย

บางคนแพ้ท้องทั้งวี่ทั้งวัน แต่ในขณะที่บางคนก็กินทั้งวี่ทั้งวันอีกเช่นกัน อย่างโน้ตนี่เองค่ะ ไม่แพ้ท้องเลย แถมหิวทุก ๆ 2 ชั่วโมง ตอนเช้าก่อนเข้าออฟฟิศต้องซื้ออาหารตุนไว้ก่อนขึ้นตึก ซึ่งถ้าคนทั่วไปกินได้ทั้งวัน แต่ของโน้ตคือกินได้ครึ่งวันค่ะ

อารมณ์อยากกินแต่กินไม่ไหว

สำหรับแม่ที่แพ้ท้อง กินเข้าไปเท่าไหร่ก็อาเจียนออกมาหมด รู้สึกอยากกินนะคะ แต่ก็ไม่กล้ากิน กลัวเหนื่อยที่จะอาเจียนอีก จึงส่งผลให้หงุดหงิดและเครียดขึ้นมาได้

กังวลเกี่ยวกับลูกในท้อง

ด้วยความที่แม่ท้องแล้วแพ้ท้อง ทำให้เกิดความกังวลว่าลูกจะได้ขาดสารอาหารไหม? จะแข็งแรงหรือเปล่า? อยากฝืนกินก็กินไม่ไหว

อาการของคุณแม่ท้องในไตรมาสที่สอง

ในระหว่างที่แม่ยังต้องอุ้มอยู่นี้ ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอารมณ์อยู่นะคะ เนื่องด้วยเพราะฮอร์โมนเหมือนเดิมแต่เบาลงกว่าช่วงไตรมาสแรก อาการโดยรวมคือ

อาการแพ้ท้องทุเลาลง

แม่ท้องที่เคยมีอาการแพ้หนัก ๆ ช่วงนี้ส่วนใหญ่จะเบาลงแล้วค่ะ จะเป็นช่วงที่แม่ ๆ ต้องทำน้ำหนักกันหน่อย แต่ก็ควรอยู่ในความดูแลและคำแนะนำของคุณหมอนะคะ

อารมณ์ยังขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่

เพราะฮอร์โมนในร่างกายแม่ท้องยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่

อาการปวดตามร่างกาย

ด้วยความที่อายุครรภ์เริ่มมากขึ้น การที่แม่ท้องต้องแบกน้ำหนักที่มากขึ้นเรื่อย ๆ อาการปวดตามส่วนต่าง ๆ ก็จะเริ่มตามมา อาทิ ปวดเข่า ปวดหลัง หรือปวดเท้า เป็นต้น

ความกังวลเกี่ยวกับลูกในท้อง

ในไตรมาสนี้จะเป็นช่วงที่แม่ท้องต้องมีการเจาะน้ำคร่ำ เพื่อหาเช็คว่าลูกในท้องปกติดีหรือไม่ จึงทำให้แม่เกิดความกังวลเล็กน้อย แต่ถ้าเราคิดเรื่องนี้อยู่ทุกวัน ก็จะส่งผลต่ออารมณ์แม่อยู่ลึก ๆ เหมือนกันโดยที่แม่เองก็ไม่รู้ตัว

มีความต้องการทางเพศสูง

เพราะอาการแพ้ท้องต่าง ๆ เริ่มเบาลง ไม่หนักเหมือนเมื่อก่อน จึงทำให้แม่รู้สึกมีความต้องการทางเพศสูงได้ค่ะ

อาการของคุณแม่ท้องในไตรมาสที่สาม

นอนไม่ค่อยหลับในเวลากลางคืน เพราะท้องที่เริ่มใหญ่ขึ้น จนทำให้เกิดความอึดอัดได้ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของความเหนื่อยล้า อาการปวดเมื่อย ซึ่งทำให้ไม่สบายเนื้อสบายตัว จึงส่งผลต่ออารมณ์ได้เช่นกัน

วิธีรับมือแม่ท้องอารมณ์อ่อนไหว แปรปรวน

อดทน

ท่องไว้ค่ะ “อดทน” และความจริงคือ ต้องอดทนให้มากขึ้นกว่าเดิม แล้วตั้งสติ หากแม่ท้องเริ่มรู้ตัวเองว่าเริ่มจะมีอารมณ์ที่แปรปรวนควรพาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ตรงนั้นก่อน

เปิดใจพูดคุยกับสามี

ส่วนตัวโน้ตเองสนับสนุนเรื่องการพูดคุยนะคะ เพราะการไม่คุย ไม่ปรับความเข้าใจกัน ยิ่งจะทำให้ปัญหาบานปลายค่ะ

เตรียมใจ เตรียมรับมือกับอาการแพ้ท้อง

เพราะเวลาที่แม่ท้องมีอาการแพ้ท้องหนัก ๆ กินก็ไม่ได้ เพลียก็เพลีย หิวก็หิว แต่ทำอะไรไม่ได้มันจะหงุดหงิดมากนะคะ เพราะฉะนั้นคุณแม่ต้องเตรียมอาหารที่คุณแม่พอกินได้เอาไว้บ้างนะคะ เอาไว้ต่อกลอนกับอาการแพ้ท้อง

หาเวลาพักให้ได้

เข้าใจค่ะว่าแม่ท้องจะนอนก็ลำบาก เอาเป็นว่าถ้าช่วงไหนนอนได้นอนเลยค่ะ

นั่งสมาธิหรือโยคะเบา ๆ

มีแม่ท้องหลายคนที่ใช้วิธีนั่งสมาธิหรือโยคะเบา ๆ เพื่อให้ใจไม่ต้องวิตกกังวลในเรื่องการตั้งครรภ์ เรื่องลูกในท้อง รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ในอนาคตมากเกินไป

จากที่อ่านมาทั้งหมดสาเหตุที่ทำให้อารมณ์แปรปรวนส่วนใหญ่จะมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนซึ่งขึ้นสูงปรี๊ดเลยทีเดียว แต่ถ้าแม่ท้องรู้ทันอารมณ์ของตัวเองแล้วระงับไม่ให้เหวี่ยงวีนหรือสามารถดับอารมณ์นั้น ๆ ได้จะดีมากเลยค่ะ โดยเฉพาะกับลูกน้อย เพราะอารมณ์ที่ขุ่นมัว หงุดหงิดจะส่งผลต่อลูกน้อยในท้องได้ค่ะ