Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

โพแทสเซียม สารอาหารสำคัญของแม่ท้อง ที่ควรรู้

โพแทสเซียม สารอาหารสำคัญของแม่ท้อง ที่ควรรู้

ในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ เรื่องของโภชนาการที่ดีเป็นสิ่งสำคัญค่ะ การกินอาหารควรกินให้ครบ 5 หมู่ แต่ไม่ใช่ว่ากินทุกอย่างในปริมาณที่เท่า ๆ กันค่ะ อย่างเช่น น้ำตาล หรือแป้ง กินได้บ้าง แต่ก็ไม่ควรกินเยอะ เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ ทั้งนี้ มีสารอาหารอีกตัวหนึ่งที่สำคัญต่อคุณแม่ท้องมาก ๆ นั่นคือ โพแทสเซียม บอกตามตรงจากประสบการณ์เลยค่ะว่า ก่อนหน้านี้ไม่ได้ให้ความสนใจกับสารอาหารตัวนี้เลย จนมาพบว่าตัวเองเป็นความดันโลหิตสูง ตัวการหนึ่งคือ เพราะโพแทสเซียมต่ำ สุดท้ายเมื่อตั้งครรภ์ แม่โน้ตต้องคลอดก่อนกำหนด

โพแทสเซียม คืออะไร?

โพแทสเซียมมีหน้าทีสำคัญคือ ช่วยรักษาสมดุลของของเหลวในร่างกาย และอิเล็คโทรไลต์ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ส่งแรงกระตุ้นจากเส้นประสาทไปยังกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อมีการหดตัว ซึ่งในร่างกายของเรามีโพแทสเซียมจำนวนมากที่สะสมอยู่ในเม็ดเลือดแดง ตับ กล้ามเนื้อ และกระดูก

โพแทสเซียมสำคัญต่อแม่ท้องอย่างไร?

มาทำความรู้จักกับโพแทสเซียมเพิ่มกันอีกสักหน่อยค่ะว่า โพแทสเซียมมีความสำคัญต่อร่างกายอย่างไร

ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ไม่อ่อนแรง

เพราะด้วยคุณสมบัติของโพแทสเซียมที่ช่วยให้กล้ามเนื้อมีการหดตัว ซึ่งถ้าร่างกายขาดโพแทสเซียมก็จะส่งผลให้กล้ามเนื้อไม่มีการหดตัว หรือเรียกว่ากล้ามเนื้ออ่อนแรงนั่นเอง

แม่โน้ตมารู้ว่าโพแทสเซียมต่ำก็คือ หลังคลอดน้องมิน (ตอนนั้นแม่โน้ตยังเป็นความดันโลหิตสูงอยู่) แม่โน้ตไปตรวจเลือด ผลออกมาว่าโพแทสเซียมต่ำอยู่ขั้นวิกฤติ แต่โชคดีที่ยังไม่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง คุณหมอจึงช่วยกันแก้ไขอาการนี้ก่อน ส่วนตอนนี้แม่โน้ตหายจากความดันโลหิตสูงแล้วค่ะ

ลดการเกิดตะคริวที่แขนและขา

นอกจากโพแทสเซียมที่จะช่วยบรรเทาอาการนี้แล้ว ยังมีสารอาหารอื่น ๆ ที่ช่วยลดอาการนี้ได้ อาทิ แมกนีเซียม และแคลเซียม

ช่วยเก็บกักของเหลวในร่างกาย

ปัญหาสุดคลาสสิกที่คุณแม่ตั้งครรภ์มักจะเจอก็คือ อาการเก็บกักน้ำในร่างกาย ซึ่งถ้าหากร่างกายได้รับโพแทสเซียมในปริมาณที่เพียงพอ ก็จะช่วยลดอาการนี้ได้ค่ะ

ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย

อิเล็คโทรไลต์เป็นแรธาตุชนิดหนึ่งในร่างกายที่สามารถนำไฟฟ้าได้ และอยู่กับเราในทุกส่วน ได้แก่ ปัสสาวะ กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ รวมไปถึงเลือด เป็นต้น ในคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีอิเล็คโทรไลต์ที่ไม่สมดุล ซึ่งจะผลให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงได้

ปริมาณโพแทสเซียมที่ร่างกายแม่ท้องต้องการต่อวัน

โพแทสเซียมเป็นสารอาหารสำคัญที่ร่างกายเราต้องการแม้จะไม่ได้มีการตั้งครรภ์ โดยปริมาณที่แนะนำของแต่ละช่วงวัย มีดังนี้

หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์

อายุ 14 – 18 ปี ร่างกายควรได้รับโพแทสเซียม 2,300 มิลลิกรัม/วัน
อายุ 19 ปี ขึ้นไป ร่างกายควรได้รับโพแทสเซียม 2,600 มิลลิกรัม/วัน

คุณแม่ตั้งครรภ์

อายุต่ำกว่า 18 ปี ร่างกายควรได้รับโพแทสเซียม 2,600 มิลลิกรัม/วัน
อายุ 19 ปี ขึ้นไป ร่างกายควรได้รับโพแทสเซียม 2,900 มิลลิกรัม/วัน

คุณแม่ในระยะให้นมบุตร

อายุต่ำกว่า 18 ปี ร่างกายควรได้รับโพแทสเซียม 2,500 มิลลิกรัม/วัน
อายุ 19 ปี ขึ้นไป ร่างกายควรได้รับโพแทสเซียม 2,800 มิลลิกรัม/วัน

อาการของแม่ท้องที่มีต่อโพแทสเซียม

อะไรก็ตามที่มีมากไปก็ไม่ดี มีน้อยไปก็ไม่ดี เราไปดูกันดีกว่าค่ะว่าถ้าคุณแม่ตั้งครรภ์มีโพแทสเซียมที่ไม่สมดุลแล้ว จะมีผลกระทบอะไรต่อร่างกายบ้าง

โพแทสเซียมต่ำ (Hypokalemia)

อาการที่เกิดจากโพแทสเซียมต่ำ

  • เกิดตะคริวได้ทั้งที่แขนและขา
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงทั้งแขนและขา
  • เวียนหัว หน้ามืด
  • มีอาการซึมเศร้า
  • ผิวแห้งมาก แตก คัน
  • ความดันโลหิตสูง

สาเหตุที่โพแทสเซียมต่ำ

  • คุณแม่อาเจียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่มีสารอาหารไปเลี้ยงร่างกาย
  • ท้องเสียบ่อย
  • มีภาวะคั่งน้ำ หรือมีอาการบวมน้ำ
  • ขาดการดูแลเรื่องอาหารที่ดี

โพแทสเซียมสูง (Hyperkalemia)

อาการที่เกิดจากโพแทสเซียมสูง

  • หัวใจผิดจังหวะ
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจไม่สะดวก หายใจลำบาก เนื่องจากปอดทำงานผิดปกติ
  • มีอาการชาตามแขนและขา

สาเหตุที่โพแทสเซียมสูง

  • คุณแม่กินอาหารเสริมมากเกินขนาด
  • กินอาหารที่มีโพแทสเซียมมากเกินไป

ลำพังที่เรายังไม่ได้ตั้งครรภ์ โพแทสเซียมก็เป็นสารอาหารที่จำเป็นแก่ร่างกายอยู่แล้ว ดังนั้น ขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ก็ควรเอาใจใส่เรื่องอาหารการกินให้มากขึ้น ซึ่งอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม ได้แก่ อะโวคาโด มันฝรั่ง กล้วย และพืชตระกูลถั่วต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงทั้งแม่ทั้งลูกน้อย อย่าลืมใส่ใจเรื่องโพแทสเซียมกันนะคะ