Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

อาการครรภ์เป็นพิษ สามารถเกิดได้ระหว่างตั้งครรภ์แม่ไม่มีโรคประจำตัวมาก่อน

อาการครรภ์เป็นพิษ สามารถเกิดได้ระหว่างตั้งครรภ์แม่ไม่มีโรคประจำตัวมาก่อน

ในสังคมปัจจุบันหลายครอบครัวมีลูกเมื่ออายุมาก บางคนมีลูกเมื่ออายุเกิน 35 ปี เหตุเพราะต้องทำงานเก็บเงิน เตรียมพร้อมหากมีลูก ซึ่งนั่นก็หมายถึงความเสี่ยงที่ลูกไม่สมบูรณ์หรือครรภ์เป็นพิษก็สูงตามไปด้วยเช่นกัน ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เฉพาะหญิงที่มีอายุเกิน 35 ปีกลุ่มเดียวที่จะเสี่ยงต่ออาการครรภ์เป็นพิษ

อาการครรภ์เป็นพิษ

ภาวะครรภ์เป็นพิษจะพบได้เมื่ออายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ขึ้นไป (ประมาณ 5-6 เดือน) แต่ระยะที่พบบ่อยที่สุดคือ 7 เดือนขึ้นไป โดยจะมีอาการหลักๆ ดังนี้

  • บวมตามร่างกาย ตั้งแต่เหนือตาตุ่มขึ้นมา กดแล้วมีรอยบุ๋ม หากบวมมากจะขึ้นที่เปลือกตา ลักษณะเวลาเราลืมตาจะเหมือนคนเพิ่งตื่นนอน ลืมตาได้ไม่เต็มที่ มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (เกินสัปดาห์ละ 1 กิโลกรัม)
  • ความดันโลหิตสูง ตั้งแต่ 160/110 มม. ปรอท ขึ้นไป คุณแม่บางท่านขึ้นถึง 220/110 มม. ปรอท ก็มี มีอาการปวดศีรษะ ทานยาแก้ปวดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ตาพร่ามัว เห็นแสงไฟเป็นแสงวูบวาบหรือเป็นแฉก อาจตาบอดชั่วขณะ คลื่นไส้อาเจียน
  • จุกที่ลิ้นปี่ หายใจไม่สะดวก
  • ตรวจพบสารไข่ขาว (โปรตีนอัลบูมิน) ในปัสสาวะสูง ปกติแล้วเราจะไม่พบสารไข่ขาวในปัสสาวะเลย ยกเว้นผู้ที่เป็นโรคไตบางชนิด แต่หากตรวจพบสารนี้ในครรภ์ที่มีค่าเท่ากับ 1+ ก็ถือว่าผิดปกติแล้วล่ะค่ะ

อาการครรภ์เป็นพิษแบ่งได้เป็น 2 ระยะ

  • ระยะก่อนชัก (Pre-eclampsia – พรีอีแคลมเซีย) ผู้ป่วยจะมีแค่อาการบวม ความดันโลหิตสูง และพบสารไข่ขาวในปัสสาวะสูง
  • ระยะชัก (Eclampsia – อีแคลมเซีย) ผู้ป่วยจะชักและอาจหมดสติได้ ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ถึงขั้นเสียชีวิตได้

จากที่กล่าวมาข้างต้นในระยะก่อนชัก คุณแม่ต้องคอยสังเกตตัวเองด้วยนะคะ เพราะจะมีอาการนำชักมาเป็นสัญญาณเตือนเราก่อน คือ ตาพร่ามัว หายใจไม่ออกเหมือนจุกที่ลิ้นปี่ ปวดศีรษะ หากเป็นมากอาจมีอาเจียนในบางราย ซึ่งถ้ามีอาการดังกล่าว ควรแจ้งแพทย์หรือพยาบาลทันทีค่ะ

ระดับความรุนแรงของอาการครรภ์เป็นพิษ

อาการครรภ์เป็นพิษสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้

ระดับที่ไม่รุนแรง

ในระดับนี้คุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะมีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท แต่จะไม่เกิน 160/110 มิลลิเมตรปรอท และยังไม่พบภาวะแทรกซ้อน

ระดับรุนแรง

คุณแม่ตี่งครรภ์จะมีความดันโลหิตสูงกว่า 160/110 มิลลิเมตรปรอท หรือมีการตรวจพบความผิดปกติของอวัยวะต่าง ๆ อาทิ ไตทำงานลดลง ตับอักเสบ เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดแดงแตก เป็นต้น

ระดับรุนแรงและมีภาวะชัก

ในระดับนี้คุณแม่ตั้งครรภ์จะมีอาการชัก เกร็ง หมดสติ บางรายอาจมีเลือดออกในสมอง หากคุณแม่เข้าระดับนี้ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยเร็วที่สุด มิเช่นนั้นมีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

ผู้ที่เสี่ยงต่ออาการครรภ์เป็นพิษ

  • หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 35 ปี
  • หญิงตั้งครรภ์แฝด
  • หญิงที่มีโรคประจำตัวก่อนการตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต และโรคไมเกรน เป็นต้น
  • หญิงที่มีระยะการตั้งครรภ์ห่างจากครั้งแรกมากกว่า 10 ปี
  • หญิงที่เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษในครั้งก่อน
  • หญิงที่มีพี่น้องหรือญาติสายตรงที่เคยมีประวัติครรภ์เป็นพิษมาก่อน เช่น มารดา พี่สาว หรือน้องสาวในท้องเดียวกัน เป็นต้น

การตรวจวินิจฉัยอาการครรภ์เป็นพิษ

เมื่อแพทย์สงสัยว่าคุณแม่อาจมีความเสี่ยงในเรื่องของอาการครรภ์เป็นพิษ แพทย์จะทำการตรวจดังนี้ค่ะ

  • ตรวจร่างกาย
  • ตรวจเลือด
  • ตรวจปัสสาวะ
  • ตรวจอัลตร้าซาวน์ เพื่อดูการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์

แล้ววางแผนการรักษาต่อไปค่ะ

การตรวจคัดกรองอาการครรภ์เป็นพิษ

แพทย์สามารถตรวจคัดกรองได้โดยดูจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ การเจาะเลือด รวมถึงการอัลตร้าซาวน์ เพื่อดูการไหลเวียนของเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมดลูก โดยอาจมีการพิจารณาให้ยาแอสไพริน เพื่อป้องกันการเกิดอาการครรภ์เป็นพิษ ซึ่งสามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงได้ถึง 60%

วิธีรักษาผู้ป่วยในภาวะครรภ์เป็นพิษ

หากมีอาการไม่มาก

คุณหมอจะให้พักฟื้นที่บ้าน เดินให้น้อยที่สุด พักผ่อนนอนหลับให้ได้มากที่สุด ห้ามมีเพศสัมพันธ์ เพราะการมีเพศสัมพันธ์จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง ฟังการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์ วัดความดันอย่างสม่ำเสมอ และสังเกตอาการนำชักข้างต้น หากเริ่มมีอาการดังกล่าวให้รับไปพบแพทย์ทันทีค่ะ

หากอยู่ในขั้นที่รุนแรง

โดยมีความดันมากกว่า 160/110 มม.ปรอท แพทย์จะให้นอนพักที่โรงพยาบาล ควบคุมน้ำและอาหาร พร้อมทั้งฉีดยากันชัก และฟังการเต้นของหัวใจของทารก ภายหลังการรับการรักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการมากขึ้น แพทย์จะพิจารณาทำคลอดต่อไป

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีไหนที่การันตีได้ 100% แต่คุณแม่ก็สามารถปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงได้นะคะ เช่น

  1. นอนหลับให้เพียงพอ
  2. ออกกำลังกายเบาๆ
  3. ดื่มน้ำให้มาก (ประมาณ 8 แก้วต่อวัน)
  4. งดทานอาหารรสจัด อาหารหมัก ดอง ของทอด ของมัน
  5. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มชา หรือ กาแฟ
  6. เสริมแคลเซียม เพราะแคลเซียมสามารถช่วยลดความดันโลหิตสูงและภาวะแทรกซ้อนจากครรภ์เป็นพิษได้
  7. เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์ทันที และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  8. หากคุณแม่รู้สึกว่ามี “อาการครรภ์ผิดปกติ ต้องรีบไปพบแพทย์ด่วน

ตอนนี้ท้องได้ 5 เดือนแล้วมีตกขาวเยอะมากจะเป็นอันตรายอะไรไหม? พบกับ 9 อาการผิดปกติที่ควรไปพบแพทย์ จะมีอาการอะไรบ้าง คลิกที่นี่ค่ะ

แม้ว่าในช่วงก่อนการตั้งครรภ์คุณแม่จะมีร่างกายที่แข็งแรงก็จริง แต่เมื่ออยู่ในช่วงตั้งครรภ์สุขภาพของคุณแม่จะเปลี่ยนแปลงไปมาก คุณแม่จึงต้องหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเรื่องของอาหารคุณแม่ควรหาข้อมูลด้วยนะคะว่า “ครรภ์เป็นพิษห้ามกินอะไร?” เพื่อที่จะไม่ไปกระตุ้นให้มีการคลอดก่อนกำหนด และถ้าหากไม่แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นคืออะไร ควรไปปรึกษาแพทย์ด่วนค่ะ


ครรภ์เป็นพิษห้ามกินอะไร? อาการครรภ์เป็นพิษ หากรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ อาหารที่ควรเลี่ยงเราได้รวบรวมไว้แล้ว ที่นี่ คลิกเลย

ข้อมูลอ้างอิง
Bangkokhospital.com