Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ปวดท้อง…ถ่ายลำบาก…ภาวะท้องผูกขณะตั้งครรภ์

แบบไหนถึงเรียกว่าท้องผูก?

อาการท้องผูก คือ เป็นความรู้สึกถึงความไม่สบายท้องซึ่งเกิดจากการบีบตัวของลำไส้เป็นไปด้วยความยากลำบาก ไม่บ่อยเท่าที่ควร และมีการถ่ายอุจจาระเป็นก้อนแข็ง ซึ่งอาการนี้มักพบบ่อยในหญิงตั้งครรภ์ กว่า 50% รู้สึกอึดอัดไม่สบาย ในบางรายที่มีอาการรุนแรงจนนำไปสู่อาการของริดสีดวงทวารหนัก เนื่องจากการเบ่งทำให้เส้นเลือดบริเวณนั้นโป่งพอง รวมถึงอุจจาระที่แข็งอาจทำให้เส้นเลือดฉีกขาด จึงเกิดอาการคัน และเจ็บปวดเวลาถ่ายอุจจาระ

สาเหตุของอาการท้องผูก

  1. ร่างกายหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์เพื่อเตรียมร่างกายแม่ให้พร้อมกับการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์จนกระทั่งคลอด ทำให้กล้ามเนื้อลำไส้ผ่อนคลายและหดตัวได้น้อยลง มีผลทำให้อาหารและของเสียเคลื่อนตัวผ่านทางเดินอาหารได้ช้าลง อุจจาระจึงค้างในลำไส้นานก็เริ่มแข็งตัวมากขึ้นเพราะถูกดึงน้ำจากกากกลับเข้าสู่ลำไส้ อุจจาระจึงกลายเป็นก้อนแข็ง หรือผิดรูปทำให้ระคายเคืองท้อง ถ่ายออกได้ลำบาก
  2. มดลูกขยายใหญ่ขึ้น จึงมีการเบียดบังพื้นที่อื่นของอวัยวะภายในเช่นกระเพาะอาหารและลำไส้ พอทางเดินอาหารมีพื้นที่แคบลง อุจจาระก็ลำเลียงไปยังลำไส้ตรงและทวารหนักได้ยากขึ้น
  3. อาหารเสริม วิตามินรวม และแร่ธาตุสำหรับบำรุงครรภ์ โดยเฉพาะธาตุเหล็กและแคลเซียมมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการท้องผูกได้อยู่แล้ว เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องได้สารอาหารเหล่านี้ที่เพิ่มมากขึ้นก็ยิ่งท้องผูกมากกว่าคนธรรมดาไปอีก
  4. ภาวะเครียดและอดนอน ทั้งสองอย่างนี้มักเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้

วิธีการปฏิบัติตัวและป้องกันอาการท้องผูก

  1. เพิ่มปริมาณใยอาหาร โดยเฉพาะใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งจะช่วยดูดซับน้ำขณะของเสียเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ และเป็นการเพิ่มเนื้ออุจจาระ ช่วยให้อุจจาระนิ่ม และทำให้การบีบตัวของลำไส้เป็นไปตามปกติ จึงช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้ แหล่งที่มีปริมาณใยอาหารมาก ได้แก่ ผลไม้ ผัก เมล็ดถั่ว ถั่วเปลือกแข็ง ขนมปังโฮลวีท ข้าวกล้องและข้าวไม่ขัดสี ข้าวโอ๊ต รำข้าว เมล็ดแมงลัก ลูกพรุน
  2. ดื่มน้ำมากๆ โดยน้ำจะช่วยให้ใยอาหารทำงานได้ดีขึ้น การดื่มน้ำอย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน อาจเป็นน้ำเปล่า น้ำผลไม้ ซุป นมถั่วเหลือง น้ำข้าวบาร์เล่ย์
  3. บริโภคผลิตภัณฑ์จากนมที่มีส่วนผสมของพรีไบโอติกหรือโพรไบโอติก ได้แก่ โยเกิร์ตชนิดไขมันต่ำที่มีจุลินทรีย์โพรไบโอติค หรือจะเป็นนมสำหรับแม่ตั้งครรภ์ที่มีพรีไบโอติค
  4. ทำกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ในระดับเบาจนถึงปานกลาง จะช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ได้ เช่นกิจกรรม การเดิน ว่ายน้ำ และออกกำลังกายที่เหมาะกับคุณแม่ตั้งครรภ์ประมาณ 20-30 นาทีไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์