Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ภาวะเสี่ยงในหญิงตั้งครรภ์ และโรคประจำตัวที่ต้องเฝ้าระวัง

ภาวะเสี่ยงในหญิงตั้งครรภ์ และโรคประจำตัวที่ต้องเฝ้าระวัง

“ดีใจด้วยครับ คุณตั้งครรภ์ได้ 2 เดือนแล้ว”

เป็นครอบครัวไหนก็ดีใจที่ได้ยินแบบนี้ การตั้งครรภ์เป็นเรื่องธรรมชาติ การได้อุ้มท้องเป็นอะไรที่มีความสุขมาก แต่…ระหว่างทางของการตั้งครรภ์อาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบทุกคน ต้องเจอกับภาวะเสี่ยงระหว่างการตั้งครรภ์มากมาย ที่นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาเรื่องของโรคประจำตัวที่มีมาก่อนคลอดประกอบด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษ

ภาวะเสี่ยงตั้งครรภ์ คืออะไร?

การที่คุณแม่จะเข้าสู่ภาวะเสี่ยงได้ก็ต่อเมื่อมี “ปัจจัยเสี่ยงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อทั้งคุณแม่และ/หรือลูกน้อยในครรภ์” อย่างไรก็ตามถ้าคุณแม่แจ้งข้อมูลและรายละเอียดต่าง ๆ กับคุณหมอได้อย่างละเอียด คุณหมอก็จะสามารถประเมินสถานการณ์และเฝ้าระวังความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ค่ะ
ข้อมูลอ้างอิง phyathai.com

ปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง?

  • เคยมีประวัติการคลอดลูกแล้วลูกเสียชีวิตในครรภ์ระหว่างการคลอดและหลังคลอดมาก่อนหน้า
  • คุณแม่มีการตั้งครรภ์ในขณะที่มีอายุน้อยกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 40 ปี
  • มีเลือดออกท่งช่องคลอดระหว่างการตั้งครรภ์
  • มีประวัติการคลอดก่อนและหลังกำหนด หมายถึง คลอดก่อนอายุครรภ์ที่ 37 สัปดาห์ หรือคลอดอายุครรภ์เกิน 42 สัปดาห์ขึ้นไป
  • เคยมีประวัติแท้งบุตรมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง
  • มีประวัติการคลอดบุตรที่น้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม หรือมากกว่า 4,000 กรัม
  • มีภาวะทารกพิการทางสมอง
  • มีประวัติครรภ์เป็นพิษในครรภ์ก่อนหน้า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น “อาการครรภ์เป็นพิษ สามารถเกิดได้ระหว่างตั้งครรภ์แม่ไม่มีโรคประจำตัวมาก่อน

ก่อนท้องร่างกายก็แข็งแรงดี แต่ทำไมตอนท้องถึงมีอาการครรภ์เป็นพิษได้ล่ะ? อาการครรภ์เป็นพิษระหว่างตั้งครรภ์สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนค่ะ เพราะอะไร? คลิกที่นี่ค่ะ

  • มีครรภ์แฝด
  • มีกรุ๊ปเลือด Rh ที่เป็นลบ
  • มีความดันโลหิตสูง โดยมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มม.ปรอท
  • เป็นโรคไต
  • เป็นโรคหัวใจ
  • ติดยาเสพติดหรือสุรา
  • มีโรคประจำตัวเป็นโรคทางอายุรกรรม เช่น โรคโลหิตจาง ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะภูมิคุ้มกันไวเกิน (SLE) โรคทาลัสซีเมีย โรคลมชัก และวัณโรค เป็นต้น
  • เป็นโรคติดเชื่ออย่าง เชื่อ HIV กามโรค หรือเป็นพาหะตับอักเสบบี

ข้อมูลอ้างอิง bumrungrad.com

อาการผิดปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ควรมาพบแพทย์

  • คุณแม่มีอาการปวดศีรษะบ่อย ๆ
  • มีอาการจุกเสียดแน่นท้อง
  • มีขนาดท้องที่เล็กหรือใหญ่กว่าปกติ
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด
  • เมื่ออายุครรภ์เข้าสู่เดือนที่ 4 หรือ 5 แล้วลูกยังไม่ดิ้น

5 โรคควรระวังก่อนตั้งครรภ์

โรคหัวใจ

คุณแม่ที่มีปัญหาเรื่องหัวใจไม่ว่าจะเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว ปัญหาผนังกั้นห้องหัวใจมีรูโหว่ เมื่อวางแผนอยากจะตั้งครรภ์สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือการไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและประเมินความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ เพราะว่าปกติแล้วหัวใจก็ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดให้มีความสมดุลทั่วร่างกายและเมื่อตั้งครรภ์นั้นช่วงท้ายก่อนคลอดเลือดในร่างกายจะเพิ่มขึ้นถึง 40% ซึ่งในส่วนนี้จะทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเป็นอย่างมาก คุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจจึงอาจจะเสี่ยงต่อการหัวใจวายในขณะตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก

โรคลมชักหรือลมบ้าหมู

จริงๆ แนวโน้มโดยส่วนใหญ่สำหรับคุณแม่ที่เป็นโรคนี้กว่าร้อยละ 50 จะไม่มีอาการเพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ร้อย 40 บอกว่ามีอาการดีขึ้น และร้อยละ 10 แพทย์ผู้ดูแลครรภ์ต้องเพิ่มขนาดยาควบคุมการชัก เพราะอาการของโรคนี้เกิดจากแผลในสมองส่งผลต่อคลื่นสมองทำให้เกิดอาการคลื่นสมองผิดปกติทำให้เกิดอาการชักและหมดสติ โดยเมื่อหมดสติแล้วนั้นจะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนไปชั่วขณะหนึ่ง จุดนี้นอกจากจะส่งผลเสียให้คุณแม่แล้วยังส่งผลโดยตรงต่อลูกน้อยในครรภ์อีกด้วยจึงเป็นโรคที่ต้องคอยเฝ้าระวังไว้ให้ดี

โรคไต

ปกติแล้วไตจะเป็นอวัยวะที่คอยขับของเสียจากการเผาพลาญของร่างกายออกมาเป็นปัสสาวะซึ่งเมื่อตั้งครรภ์ลูกน้อยก็จะขับของเสียร่วมออกมาทางสายสะดือเข้าสู่กระแสเลือดของคุณแม่ด้วยในจุดนี้ไตของคุณแม่จะทำงานหนักขึ้น ซึ่งคุณแม่ที่มีปัญหาโรคไตอยู่แล้วจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงในด้านต่างๆ ในดีอีกด้วย

โรคทาลัสซีเมีย

เกิดจากยีนที่ผิดปกติจนทำให้เกิดการสร้างสารโพลีเปปไตด์โกลบินซึ่งเป็นส่วนสำคัญในเม็ดเลือดแดงให้เกิดลดน้อยลงหรืออาจถึงขั้นไม่สร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นมาเลย ทำให้มีอาการซีดเล็กน้อยหรือถึงขั้นต้องให้เลือดทดแทนกันเลยทีเดียว
โรคทาลัสซีเมียนี้เป็นการถ่ายทอดทางพันธุกรรมชนิดด้อย ซึ่งในบางครั้งแล้วนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็มักไม่มีอาการปรากฏแต่จะมียีนแฝงอยู่ในตัว เมื่อต่างฝ่ายต่างถ่ายทอดยีนด้อยร่วมกันจึงมีผลทำให้ลูกได้รับยีนที่ผิดปกติเต็มที่จนเป็นผลต่อการแสดงอาการของโรคทาลัสซีเมียได้ชัดเจนนั่นเอง

ไวรัสตับอักเสบบี

เป็นโรคที่พบเห็นกันบ่อยในประเทศไทยและมีคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เป็นพาหะของโรคนี้กันเป็นจำนวนมาก
โดยผู้ที่เป็นพาหะของโรคนี้มักมีโอกาสเกิดโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไปถึงกว่า 200 เท่าเลยทีเดียว และสามารถติดต่อกันง่ายที่สุดโดยผ่านทางเลือด ดังนั้นโอกาสที่ทารกจะติดโรคนี้จากแม่ก็โดยการสัมผัสกับเลือดที่เป็นพาหะในขณะคลอดนั่นเอง
วิธีป้องกันคือการฉีดวัคซีนป้องกันให้แก่ทารกภายใน 12 ชั่วโมงหลังคลอด และคอยฉีดกระตุ้นภูมิ ต้านทานอีก 3 เข็ม คือ ตั้งแต่หลังคลอด เมื่ออายุได้ 1 เดือน และ 6 เดือน และก็หมั่นพาลูกไปเฝ้าดูอาการและตรวจหาเชื้อพาหะเสมอนั่นเอง

การป้องกันและการรักษาภาวะแทรกซ้อน

ถึงแม้ว่าคุณแม่บางรายจะมีโรคประจำตัว แต่คุณหมอก็จะแนะนำให้คุณแม่มีการเตรียมความก่อนการตั้งครรภ์ โดยการมาปรึกษากับคุณหมอก่อนการมีบุตร เพื่อตรวจเช็คสุขภาพอย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการซักประวัติ การตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจเลือด เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ว่าคุณแม่พร้อมกับการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยตั้งแต่เริ่มแรกไปจนถึงหลังคลอด

ทั้งนี้ การดูแลตัวเองเบื้องต้นที่เหมาะสม ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ดังนี้

  • กินวิตามินโฟลิค (โฟเลต) 4 – 5 มิลลิกรัมต่อวัน เริ่มตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ไปตลอดจนคลอด
  • ได้รับวัคซีนป้องกันโรคได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
  • กินอาหารที่มีประโยชน์ พร้อมกับการควบคุมน้ำหนัก
  • ออกกำลังกาย ยืดเส้นยืดสายตามความเหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่
  • ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง

เพื่อให้การตั้งครรภ์ผ่านไปได้ด้วยดี แข็งแรงทั้งคุณแม่และลูก ทันทีที่คุณแม่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ ควรไปฝากครรภ์ทันทีนะคะ เพื่อแพทย์จะได้ประเมินอาการและดูแลอย่างใกล้ชิด หรือก่อนการตั้งครรภ์ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อทำการตรวจสุขภาพก็จะเป็นการดีที่สุดนะคะ


ก่อนท้องร่างกายก็แข็งแรงดี แต่ทำไมตอนท้องถึงมีอาการครรภ์เป็นพิษได้ล่ะ? อาการครรภ์เป็นพิษระหว่างตั้งครรภ์สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนค่ะ เพราะอะไร? คลิกที่นี่ค่ะ