Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

อ้วนเกินไปขณะตั้งครรภ์ แม่ลูกต้องเสี่ยงกับอะไรบ้าง

เชื่อว่าคุณแม่หลายๆ คนพอได้รู้ว่าตัวเองกำลังจะมีลูกน้อยมาดิ้นดุ๊กดิ๊กในท้องก็อดดีใจและตื่นเต้นไม่ได้ และอีกอย่างที่พ่วงมากับความรู้สึกดีใจก็คือ

“เย้! คราวนี้ชั้นจะได้กินเยอะๆ ตามใจปากเสียที”

กรณีนี้ไม่รวมถึงคุณแม่ที่แพ้ท้องนะคะ อย่างโน้ตเองไม่มีอาการแพ้ท้องเลย กลับกัน หิวทุก 2 ชม. ถ้าไม่ได้กินมือนี่จะสั่นเลย แต่อาหารที่โน้ตเลือกกินจะเน้นให้ครบ 5 หมู่ หรือถ้าหิวระหว่างมื้อก็จะมีผลไม้มาเสริมแทน ไม่อยากให้ตัวเองต้องมาแบกน้ำหนักที่เกินหลังคลอดเยอะๆ ค่ะ จะไม่คล่องตัว ไหนเราจะต้องเลี้ยงลูกเอง ทำงานบ้านเอง และอีกหลายสิ่งจิปาถะ

ซึ่งหลายคนยังคิดว่า “การที่เราทานอะไรเยอะๆ นั้นไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยก็ลงที่ลูกครึ่งหนึ่ง” ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดนะคะ แล้วเราต้องคุมอาหาร ต้องดูแลร่างกายอย่างไร เพื่อไม่ให้อ้วนเกินไปขณะตั้งครรภ์ แล้วคุณแม่กับลูกน้อยต้องเสี่ยงกับอะไรบ้างหากเป็นโรคอ้วนขณะตั้งครรภ์ วันนี้โน้ตมีข้อมูลมาฝากค่ะ

น้ำหนักแม่ท้องที่เพิ่มในแต่ละไตรมาส

กินอย่างไรไม่ให้อ้วน ขณะตั้งครรภ์

จริงๆ แล้ว ขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรใส่ใจเรื่องอาหารการกินมากเป็นพิเศษนะคะ ไม่ใช่อะไรก็ได้น้า^^ไม่อย่างนั้นหลังคลอดน้ำหนักจะค้างอยู่ที่ตัวคุณแม่เยอะ ต้องเลือกกินอะไร อย่างไรบ้างนั้น ไปดูกันค่ะ

  1. เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่คุณแม่ควรเน้นทานโปรตีนเป็นหลักเช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ ถั่ว เพื่อการนำไปใช้ในการสร้างอวัยวะและส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายของทารกในครรภ์พร้อมทั้งวิตามินจากพืชและผลไม้ งดเว้นอาหารที่เป็นแป้งและน้ำตาลในปริมาณมากๆเพราะขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์นั้น ร่างกายจะดึงคาร์โบไฮเดรตไปใช้น้อยมาก
  2. เน้นอาหารที่ย่อยง่ายและมีกากใยสูง เพื่อให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีและคุณแม่ก็ไม่ต้องเสี่ยงกับอาการท้องผูกค่ะ
  3. เคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อไม่ให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนักเกินไป เพราะขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone)จะทำให้ลำไส้บีบตัวได้ช้าลง จึงทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้น้อยลง นี่จึงเป็นเหตุให้คุณแม่ตั้งครรภ์นั้นท้องอืดและท้องผูกง่ายกว่าปกติค่ะ

ตามใจปาก ระวัง “เบาหวาน” ถามหา

เบาหวาน” เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ ซึ่งมีสาเหตุดังนี้

  1. คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในขณะที่อายุมากกว่า 35 ปี
  2. มีประวัติญาติพี่น้องเป็นโรคเบาหวานมาก่อน
  3. มักกินอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไป เช่น ขนมปัง เค้ก น้ำหวาน น้ำอัดลมชนิดต่างๆ หรือชอบกินผลไม้ที่มีแป้งและน้ำตาลสูง เช่น ทุเรียน น้อยหน่า ละมุด ลำไย ซึ่งที่ถูกควรเน้นอาหารประเภทโปรตีนเป็นหลัก

แม่ตั้งครรภ์จะออกกำลังกายได้หรือไม่?

การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดี และคุณแม่ตั้งครรภ์ยังสามารถออกกำลังกายได้ เพียงแต่ต้องไม่ให้กระเทือนถึงท้อง เช่นอะไรบ้าง?

  1. โยคะ เน้นให้กล้ามเนื้อได้ยืดตัว ซึ่งจะสามารถลดอาการปวดเกร็งตามกล้ามเนื้อได้อีกด้วย
  2. ออกกำลังกายที่ไม่มีการกระแทกแรง เช่น ว่ายน้ำ แต่ไม่ใช่ว่ายกลับไปกลับ 4×100 เมตรอะไรอย่างนั้นนะคะ เอาแค่ได้เขย่ง ได้ยืดแขนขา ได้เตะขาเบาๆ ก็พอค่ะ
  3. งดการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ วิ่ง แอร์โรบิค เป็นต้น

คุณแม่หลังคลอดไม่จำเป็นต้องโทรมนะคะ ยังกลับมาสวยสดใสได้เหมือนก่อนมีลูก ดังนั้น คุณแม่ท้องควรคุมอาหารเสียตั้งแต่ตอนนี้นะคะและที่สำคัญ ถ้าคุณแม่มีสุขภาพที่ดีแล้ว เราก็จะมีแรงกาย แรงใจที่ดี ส่งต่อความรักให้กับลูก และครอบครัวได้ต่อไปค่ะ เป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกท่านค่ะ