Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

ฝากครรภ์ คืออะไร? ทำไมต้องฝากครรภ์

ฝากครรภ์ คืออะไร? ทำไมต้องฝากครรภ์

ด้วยระยะเวลาการตั้งครรภ์โดยปกติแล้วจะอยู่ที่ 9 เดือน ซึ่งระยะเวลาที่ยาวนานขนาดนี้ในช่วงที่คุณแม่ต้องอุ้มท้องเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อยบ้าง การที่คุณแม่ตั้งครรภ์แล้วได้อยู่ใกล้ชิดกับคุณหมอนับเป็นสิ่งจำเป็นค่ะ ทำไมถึงจำเป็น? ทำไมต้องฝากครรภ์? วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกันค่ะ

ฝากครรภ์ คืออะไร?

การฝากครรภ์ คือ การที่คุณหมอจะดูแลการตั้งครรภ์ของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม รวมถึงการเฝ้าระวัง ติดตามความผิดปกตอิอันอาจจะเกิดขึ้นได้ในขณะที่ตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการให้คำแนะนำและความรู้เกี่ยวกับข้อปฏิบัติตนต่าง ๆ ในขณะตั้งครรภ์ ซึ่งคุณหมอจะมีการนัดตรวจสุขภาพตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์

ทำไมต้องฝากครรภ์

จุดประสงค์ของการฝากครรภ์นั้น ก็เพื่อให้คุณหมอแน่ใจและมั่นใจได้ว่าคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์นั้นมีความแข็งแรงตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ ซึ่งระหว่างนี้หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น คุณแม่จะได้สามารถเข้าปรึกษาคุณหมอ และได้รับการดูแลรักษาได้อย่างทันท่วงที
เพราะคุณแม่ตั้งครรภ์มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ควรรู้ไม่ว่าจะเป็นด้านโภชนาการ การใช้ยา การมีเพศสัมพันธ์ การเตรียมตัวก่อนคลอด รวมไปถึงการให้นมลูก นอกจากนี้ยังมีในเรื่องของการวางแผนครอบครัวหลังจากการคลอดแล้ว เบื้องต้นคุณแม่ควรรู้จักสังเกตตัวเองว่ามีอาการผิดปกติอะไรหรือไม่ มีการเจ็บครรภ์ ลูกดิ้นเยอะ ดิ้นน้อย หรือไม่ดิ้นเลย เพื่อเข้ารับการดูแลรักษาได้อย่างถูกต้องต่อไป
คุณแม่มือใหม่บางคนอาจจะกังวลว่า “ฝากครรภ์ครั้งแรกตรวจอะไรบ้าง เตรียมตัวอย่างไร” โดยทั่วไปก็จะมีการตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด วัดความดัน การซักประวัติ ฯลฯ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการดูแลและรักษาคุณแม่ในอนาคตค่ะ


ฝากครรภ์ครั้งแรกต้องทำอย่างไร? เตรียมอะไรไปบ้าง? ข้อมูลครบจบในที่เดียว จะฝากครรภ์ต้องทำอะไรบ้าง เอกสารที่ใช้มีอะไร คลิกที่นี่

หลังรับฝากครรภ์ทำอะไรอีกบ้าง?

ตรวจสุขภาพคุณแม่และทารกในครรภ์

เมื่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เข้าพบคุณหมอ คุณหมอจะทำการซักประวัติ เรื่องของประจำเดือนขาด โรคประจำตัวต่าง ๆ การตั้งครรภ์ และการคลอดในท้องที่ผ่านมา ตลอดจนทำการตรวจสภาวะของทารกในครรภ์ก่อน ๆ หลังจากนั้นก็จะทำการตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการในส่วนที่จำเป็น ทั้งนี้ก็เพื่อการวินิจฉัยว่ามีการตั้งครรภ์และค้นหาสภาวะที่ต้องระวังสำหรับการตั้งครรภ์ในครั้งนี้

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ

  • ตรวจปัสสาวะ : เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ และตรวจหาความผิดปกติของภาวะไตหรือภาวะครรภ์เป็นพิษ (Pre-eclampsia)
  • ตรวจความเข้มข้นของเลือด : เพื่อดูภูมิคุ้มกันและโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้
  • ตรวจอัลตร้าซาวน์ : เพื่อตรวจดูอายุครรภ์ และดูความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น ความพิการในส่วนต่าง ๆ อัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อเป็นการประเมินดูว่าทารกนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

การติดตามพัฒนาการของทารกในครรภ์อย่างใกล้ชิด

ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ มดลูกจะอยู่ในตำแหน่งของอุ้งเชิงกราน เมื่ออายุครบ 5 เดือน ยอดมดลูกจะอยู่ที่ระดับสะดือ และเมื่อครบกำหนดคลอดมดลูกจะอยู่เกือบถึงลิ้นปี่

ในส่วนน้ำหนักของคุณแม่ในช่วง 3 เดือนแรก น้ำหนักยังคงขึ้นน้อยอยู่ เนื่องจากคุณแม่ส่วนใหญ่จะมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ กินอาหารได้น้อย โดยเฉลี่ยแล้วน้ำหนักจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1 – 1.5 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งตลอดการตั้งครรภ์น้ำหนักของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 10 – 12 กิโลกรัม ซึ่งในจำนวนนี้จะเป็นส่วนของทารก รก และน้ำคร่ำประมาณ 5 กิโลกรัม เป็นส่วนของมดลูกและส่วนอื่น ๆ ของคุณแม่อีก 7 กิโลกรัมค่ะ

ข้อมูลอ้างอิง chularat3.com

สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์พึงระวัง

  • ความเครียด และความวิตกกังวล เพราะจะทำให้เกิดความหดหู่ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ อาจเกิดอาการแท้งได้ หากไม่สามารถปล่อยวางได้ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาทางแก้ไข
  • การใช้ยา ไม่ควรใช้ยาโดยปราศจากการปรึกษาคุณหมอก่อน เพราะจะส่งผลให้แท้งได้เช่นกัน
  • ควรกินอาหารที่สุกแล้วเท่านั้น หลีกเลี่ยงอาหารดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ เพราะอาหารเหล่านี้ยังคงมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่ คุณแม่อาจท้องเสียได้
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะจะอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์โดยตรง ส่งผลให้ลูกน้อยมีน้ำหนักน้อย ไม่ได้ตามเกณฑ์ หรือหากติดบุหรี่มาก ๆ อาจแท้งลูกได้
  • ห้ามลดน้ำหนัก เพราะคุณแม่ท้องต้องการสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมาก ควรกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ ลดปริมาณแป้งและน้ำตาลลง เพื่อป้องกันการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เน้นอาหารประเภทผักและผลไม้ โฟเลต แคลเซียม และธาตุเหล็ก
  • ห้ามมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในช่วงการตั้งครรภ์อ่อน ๆ เนื่องจากคุณแม่บางคนเคยมีประวัติการแท้งลูกมาก่อน เพื่อเป็นการลดปัจจัยเสี่ยง ควรรอจนกว่าทารกจะแข็งแรงพอ
  • ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด เนื่องจากภายในช่องคลอดจะมีแบคทีเรียที่คอยปกป้องเชื้อโรคอยู่แล้ว มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ หากใช้น้ำยาสวนล้างก็เท่ากับเปิดทางให้เชื้อโรคเข้าได้ง่ายขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง sanook.com

หลังจากที่คุณแม่ทำการตรวจด้วยชุดตรวจการตั้งครรภ์แล้ว และแน่ใจว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ ควรฝากครรภ์กับคุณหมอทันที เพื่อความปลอดภัยและความแข็งแรงของทั้งคุณแม่และลูกน้อยนะคะ