Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

มีมูกเลือดออกขณะตั้งครรภ์ อันตรายไหม?

มีมูกเลือดออกขณะตั้งครรภ์ อันตรายไหม?

เรื่องของ “มูก” สำหรับผู้หญิงคงพอจะรู้กันมาบ้างเวลาที่เรามีประจำเดือนเราจะเจอกับมูกนี้ แต่ถ้าหากคุณแม่กำลังตั้งครรภ์อยู่แต่กลับมีมูก หรือมีมูกเลือดออกมา อาจทำให้คุณแม่เกิดความกังวลได้ว่านี่อาการปกติหรือไม่ แล้วถ้าเป็นมูกเลือดถือว่ายังปกติอยู่ไหม? หรืออย่างร้ายแรงที่สุดแบบไหนที่ควรพบแพทย์ วันนี้เรามีข้อมูลมาแนะนำค่ะ

มูก คืออะไร?

มูกจะมีลักษณะคล้าย ๆ กับวุ้นเหนียวข้น โดยทั่วไปมูกที่เกิดระหว่างการตั้งครรภ์มักจะพบได้ในช่วงที่คุณแม่มีอายุครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งมูกนี้จะถูกสร้างขึ้นหลังจากที่ไข่กับอสุจิเกิดการปฏิสนธิแล้ว โดยจะอยู่บริเวณปากมดลูก ซึ่งถ้าคุณแม่อาบน้ำหรือเอากระดาษเช็ดบริเวณอวัยวะเพศก็จะพบมูกได้ค่ะ

มูกเลือด คืออะไร?

โดยทั่วไปแล้วเป็นมูกชนิดเดียวกันกับมูกที่ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ค่ะ เพียงแต่จะต่างกันเล็กน้อยในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์อยู่ในระยะใกล้คลอด ด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าระยะของทารกที่อยู่ในครรภ์ใกล้จะสมบูรณ์แล้ว ปากช่องคลอดของคุณแม่เริ่มมีการขยายตัวมากขึ้น เพื่อเตรียมให้ทารกคลอดออกมา และในขณะที่ปากมดลุกกำลังขยายตัวนั้น อาจมีเส้นเลือดฝอยบางส่วนแตกจึงส่งผลให้มูกนั้นกลายเป็นมูกเลือดนั่นเองค่ะ

วิธีสังเกตระหว่างมูกกับมูกเลือด

จะรู้ได้อย่างไรว่าแบบไหนคือมูก แบบไหนคือมูกเลือด เรามีวิธีสังเกต ดังนี้

  • ปกติแล้วมูกจะมีสีครีม หรือสีเหลือง หรือขาวอมเหลือง แต่ในบางครั้งอาจมีบ้างที่เป็นสีชมพูอ่อน ๆ
  • มูกที่มีการปนของเลือด ก็มักจะมีสีสีน้ำตาลปนออกมา สีชมพู หรืออาจเป็นสีแดง

มีมูกเลือดคือสัญญาณใกล้คลอดใช่ไหม?

จากที่กล่าวไปว่าการพบมูกเลือดมักจะพบในคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 แต่ก็อาจไม่ใช้ 100% ที่จะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าใกล้คลอดค่ะ ทั้งนี้ คุณแม่ควรสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

ท้องคล้อยต่ำลง

โดยให้คุณแม่สังเกตท้องนะคะว่าเหมือนมีขนาดเล็กลงและคล้อยต่ำลงกว่าปกติหรือไม่ เพราะนั่นแสดงว่าทารกกำลังเคลื่อนลงไปใกล้กับปากมดลูกมากขึ้น คุณแม่จะปวดปัสสาวะถี่ขึ้น เนื่องจากทารกจะไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ

มีภาวะน้ำเดิน

ภาวะน้ำเดิน คือ ภาวะที่ถุงน้ำคร่ำแตก มีน้ำใสไหลออกมาจากช่องคลอด หากเกิดกรณีนี้ให้ควรพบแพทย์ทันที

มดลูกขยายตัว

หากคุณแม่เริ่มน้ำเดินแล้ว หลังจากที่เข้าพบแพทย์แล้ว จำเป็นที่จะต้องรอก่อนค่ะ เนื่องจากการจะคลอดลูกได้นั้น ต้องรอให้ปากมดลูกเปิดที่ 4 เซนติเมตรก่อน

จากประสบการณ์ตรงในการรอคลอดห้องฉุกเฉิน ซึ่งมีคุณแม่หลายรายมาก ๆ ค่ะ ที่นอนรอดูกอาการในห้องฉุกเฉินโดยมีทั้งที่รอคลอดปกติ และเป็นแบบโน้ตคือ อาการครรภ์เป็นพิษ บางรายก็มีภาวะเบาหวาน ซึ่งดพยาบาลจะเดินมาดูคุณแม่ที่รอคลอดท่านอื่น ๆ บ่อยมาก และเมื่อพร้อมคลอด พยาบาลจะตะโกนบอกกันว่า “ปากช่องคลอดเปิดแล้ว 4 ซม. ค่า เตรียมเข้าห้องคลอดได้เลย” จะว่าไปก็ครึกครื้นดีนะคะ ครั้งหนึ่งในชีวิตกับห้องคลอดฉุกเฉิน

มีมูกเลือดช่วงไหนที่ควรพบแพทย์

การมีมูกเลือดบางครั้งอาจดูว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เกิดมูกเลือดควบคู่กันไปด้วยค่ะว่าช่วงไหนที่เป็นอันตรายและควรพบแพทย์

มีอายุครรภ์น้อยกว่า 36 สัปดาห์

หากคุณแม่พบว่าตนเองมีมูกเลือดในช่วงสัปดาห์ที่ 1-36 เป็นไปได้ว่าอาจเป็นสัญญาณการแท้งหรืออาจคลอดก่อนกำหนด ควรพบแพทย์โดยด่วน เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และได้รับการรักษาต่อไป

มีอายุครรภ์มากกว่า 37 สัปดาห์

หากพบมูกเลือดในช่วงนี้ ผนวกกับคุณแม่ก็ยังไม่มีอาการใด ๆ เพิ่มเติม ข้อนี้ไม่ต้องกังวลไปค่ะ แต่เพื่อความมั่นใจสามารถไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยอยางละเอียดต่อไปได้เช่นกัน

การมีมูกหรือมูกเลือดระหว่างการตั้งครรภ์ บางครั้งอาจไม่ใช่สัญญาณในด้านลบเสมอไป ทั้งนี้ คุณแม่ควรสังเกตอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมด้วย หรือหากไม่มั่นใจ ยังคงกังวลกับอาการที่เกิดขึ้น แนะนำให้เข้าปรึกษาแพทย์ได้ค่ะ อย่างน้อยหากไม่มีอะไรร้ายแรง คุณแม่ก็จะได้อุ้มท้องต่อไปอย่างมีความสุขจวบจนวันกำหนดคลอดค่ะ