Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

รวมโรคเด่นที่เด็กมักเป็นในฤดูฝน

ช่วงนี้บ้านเราก็เข้าฤดูฝนแบบเต็มตัว ตกทั้งวัน ตกทุกวัน เวลาที่ฝนตกนับเป็นช่วงเวลาการเฉลิมฉลองของเหล่าเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียทั้งหลาย ซึ่งทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะในเด็กซึ่งภูมิคุ้มกันของเค้ายังไม่แข็งแรงและยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ โรคที่เด็กเป็นกันส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ

เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้คอยสังเกตลูกว่ามีอาการผิดปกติอย่างไร เข้าข่ายว่าเป็นโรคอะไรนั้น วันนี้โน้ตรวบรวมโรคของเด็กที่มักพบในฤดูฝนมากฝากค่ะ มีอะไรบ้างไปดูกันค่ะ

โรคเด่น โรคเด็กที่พบมากในฤดูฝน

โรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ หรือ Infuenzaมักเป็นโรคที่พบบ่อยในลำดับต้นเลยก็ว่าได้ เพราะไทยเป็นประเทศในเขตร้อนชื้น ซึ่งไข้หวัดใหญ่จะต่างจากไข้หวัดธรรมดาตรงที่เด็กจะมีไข้ ปวดหัว ปวดตามตัว ปวดกล้ามเนื้อ ไอ หรือเจ็บคอ ซึ่งเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบและผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 60 ปี หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ควรฉีดประมาณ 1-2 เดือน ก่อนฤดูกาลระบาดของโรคในแต่ละปี ทุกๆ ปี โดยสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป

โรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากเกิดจากเชื้อไวรัส(Enterovirus 71, Coxsackie) จริงๆ แล้วเป็นโรคที่สามารถพบได้บ้างประปรายตลอดทั้งปี เพียงแต่จะระบาดมากก็ในฤดูฝน โดยอาการที่พบคือ เด็กจะมีไข้ ผื่น ตุ่มใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า มีแผลในปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น และเหงือก บางรายผื่นอาจเริ่มขึ้นที่ก้นและเข่าร่วมด้วย พบมากในเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือน – 3 ขวบ ติดต่อกันได้ทางละอองน้ำลายไอ จาม หรืออุจจาระ โดยมีระยะฟักตัวอยู่ที่ 3-6 วัน

โรคนี้สามารถหายเองได้ภายใน 3-10 วัน แต่สาระสำคัญจะอยู่ที่เด็กบางคนเป็นมากจนทำให้กินอะไรไม่ได้ กลืนน้ำไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ และควรระวังไม่ให้มีไข้สูงเกินไป เพราะอาจชักได้ บางรายอาจมีภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี เช่น สมองอักเสบหรือเยื้อหุ้มสมองอักเสบ

ดังนั้น หากพบว่าลูกเริ่มมีอาการที่น่าสงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ควรรีบปรึกษาคุณหมอทันที

โรคไข้เลือดออก

โรคนี้มียุงลายเป็นพาหะ มีโอกาสเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยจะมีไข้สูงมากหลังจากได้รับเชื้อแล้ว 3 วันกินยาลดไข้ก็ไม่หาย ปวดหัว ปวดกระบอกตา หรือปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง หน้าแดง และปากแดง

หากเด็กได้รับเชื้อนี้เข้าไปอาจเริ่มอาการปวดที่ชายโครงด้านขวาซึ่งเป็นตำแหน่งของตับ (ตับโต) มีอาเจียน มีภาวะขาดน้ำ หากพบกลุ่มอาการเหล่านี้ ให้ปรึกษาคุณหมอทันที ซึ่งคุณหมอจะทำการตรวจดูว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ ก็โดยการนำยางมารัดแขนที่ความดันระดับหนึ่ง เพื่อดูจุดที่มีเลือดออกว่าใช่หรือไม่ เป็นต้น

โรคอีสุกอีใส

ชื่อนี้คงคุ้นหูคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างดี โรคนี้เกิดขึ้นได้บ่อย เมื่อติดแล้วก็มักจะเป็นกันทอดๆ ลักษณะอาการคือ มีไข้ ผื่นแดง มีตุ่มน้ำใสๆ ตามตัว เริ่มจากบริเวณท้อง แล้วลามไปที่ต้นแขน ขา และใบหน้า หลังจากนั้นจะเป็นสะเก็ด และเกิดแผลเป็นได้ อาการเหล่านี้จะหายได้เองใน 2 – 3 สัปดาห์

โรคนี้มีวัคซีนป้องกันซึ่งเป็นวัคซีนเสริม (คุณพ่อคุณแม่เลือกให้ฉีดหรือไม่ฉีดก็ได้ค่ะ) สามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่ 1 ขวบเป็นต้นไป และไปกระตุ้นอีกครั้งตอนเด็กอายุได้ 4 ขวบ

โรคท้องเสียหรือโรคอุจจาระร่วงทีเกิดจากไวรัสโรต้า

โรคท้องร่วงนี้เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้า โดยเด็กๆ มักติดกันผ่านการสัมผัสกับของเล่น อาหาร หรือของใช้ใกล้ตัวเด็กที่ไม่สะอาด เพราะเด็กมักจับสิ่งของและเอามือเข้าปากโดยไม่รู้ตัว พบกันมากให้เด็กที่มีอายต่ำกว่า 5 ขวบ

จากสถิติทั่วโลกรวมถึงไทย โรคนี้ทำให้เด็กทารกและเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ เสียชีวิตมาแล้วกว่า 6 แสนคน โดยประมาณ

วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันมีอยู่ 2 ชนิด คือ วัคซีนที่มีส่วนประกอบของเชื้อโรต้า1 สายพันธุ์ และ 5 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดหยอด ควรให้ลูกได้หยอดวัคซีนตัวนี้เมื่อลูกอายุได้ 2 เดือน เพราะเด็กจะเริ่มที่จะสัมผัสกับเชื้อโรครอบๆ ตัวแล้ว

โรคไอพีดีหรือปอดบวม

โรคไอพีดี หรือที่เรียกว่า Invasive Pneumococcal Disease (IPD) คือโรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ “นิวโมคอคคัส” ซึ่งทำให้ติดเชื้อในกระแสเลือดและที่เยื่อหุ้มสมอง อาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะหากเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ

หากติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดหัวอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง หากเป็นในเด็กเล็ก เค้าจะงอแง

เด็กๆ สามารถไปรับวัคซีนป้องกันโรคนี้ได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือนขึ้นไป และฉีดเข็มต่อไป เมื่ออายุได้ 4, 6 และ 12 – 15 เดือน

ทั้งนี้ หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นลูกมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ซึม ทานข้าวได้น้อย หรือ อ่อนเพลีย ควรพาลูกไปพบคุณหมอทันทีนะคะ