Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

เทคนิคเลี้ยงลูกให้ฉลาดและอารมณ์ดีด้วยเสียงหัวเราะ

เทคนิคเลี้ยงลูกให้ฉลาดและอารมณ์ดีด้วยเสียงหัวเราะ

คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ค่ะว่า การสร้างเสียงหัวเราะให้กับเด็กทารกโดยเฉพาะวัยแรกเกิด – 1 ขวบนั้น จะช่วยทำให้ลูกเป็นเด็กอารมณ์ดี ฉลาด และจะเป็นพื้นฐานที่ดีให้กับเด็ก เพราะเด็กจะเห็นทุกอย่างรอบตัวน่าสนุก จะทำให้เค้าอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอยู่เสมอ

ข้อดีของการเลี้ยงลูกให้ฉลาดด้วยเสียงหัวเราะ

  • ช่วยบริหารปอดและหัวใจ เพราะขณะที่ลูกหัวเราะ ร่างกายจะดึงเอาออกซิเจนเข้าไปในร่างกาย ทำให้มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมองมากขึ้น
  • เวลาที่ลูกหัวเราะอย่างมีความสุข ร่างกายจะหลั่งสาร “เอ็นโดรฟิน” ออกมา ทำให้ร่างกายสดชื่น แจ่มใส อารมณ์ดี พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
  • ช่วยให้ลูกเป็นเด็กที่มีสมาธิมากขึ้น เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ไว และมีประสิทธิภาพ

ในทางกลับกัน หากเด็กไม่มีอารมณ์ขันเลย เด็กจะมีหน้าตาเครียดบ้าง เศร้าบ้างดูอมทุกข์ตลอดเวลา ระแวงคนแปลกหน้าทุกคน ไม่ไว้ใจใคร มองโลกในแง่ร้าย ส่งผลให้ไม่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มีพัฒนาการช้าทั้งทางร่างกายและจิตใจ

หากมีนิสัยนี้ติดตัวไปจนวัยเรียน อาจถูกเพื่อนล้อเลียน หรือถูกกลั่นแกล้งได้ ส่งให้ได้เด็กไม่อยากเข้าสังคม ชอบเก็บตัว ส่งผลเสียต่อเด็กในหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็น IQ, EQ หรือ SQ


อยากให้ลูกมี EQ (ความฉลาดทางอารมณ์) สูง ๆ ต้องสอนลูกอย่างไร? สอนในเรื่องอะไรบ้าง? พบกับ 12 เทคนิคสั้น ๆ ทำได้ไม่ยากที่นี่ค่ะ

ลูกเป็นเด็กก้าวร้าว ชอบแย่งของเพื่อน ไม่มีใครอยากเล่นด้วยจะแก้ไขอย่างไรดี? แวะทางนี้ด่วนค่ะกับวิธีการเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กอ่อนโยน และรู้จักการปรับตัว SQ(Social Quotient) คลิกที่นี่

วิธีเลี้ยงลูกให้ฉลาด

ให้ลูกกินนมแม่ให้ได้นานที่สุด

เพราะในน้ำนมแม่จะมีสารอาหารสำคัญที่เรียกว่า “อัลฟา-แลตตัลบูมิน” ซึ่งเป็นสารอาหารประเภทโปรตีนชนิดหนึ่ง มีส่วนช่วยในการสร้างสารสื่อประสาทในสมองของเด็ก ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางสมองที่ดีสมวัย นอกจากนี้ยังมีสารอาหารอื่น ๆ ที่ร่างกายต้องการอีกมากมาย ที่ช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง เมื่อเด็กโตขึ้น เขาจะมีโอกาสฉลาดได้สูง

เล่นไปด้วย เรียนรู้ไปด้วย

ให้คุณแม่ลองชวนลูกมาทำกิจกรรมด้วยกันเพื่อเสริมสร้างทักษะในด้านต่าง ๆ ดูนะคะ เช่น การวาดภาพ การระบายสี เล่นดนตรี ร้องเพลง หรือเล่นเกมกลางแจ้ง เป็นต้น

สร้างและเปิดโอกาสในการเรียนรู้

คุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกได้เรียนรู้ ซึ่งคำว่า “ไม่ และ อย่า” เป็นคำที่ปิดกั้นการเรียนรู้ลูกอย่างสิ้นเชิง ยกเว้นเสียแต่ว่าคุณแม่ประเมินดูแล้วว่ากิจกรรมนั้น ๆ เสี่ยงอันตรายต่อลูก

พาลูกไปออกกำลังกาย

การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มการหมุนเวียนเลือดได้ดี ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ดี ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ เหล่านี้จะช่วยทำให้สมองปลอดโปร่ง ส่งเสริมในด้านกระบวนการการคิด และการวิเคราะห์ของลูก

สอนให้ลูกรักการอ่าน

การอ่าน” เป็นการเพิ่มพูนความรู้ได้มากที่สุด คุณพ่อคุณแม่ควรหาหนังสือนิทานดี ๆ หรือหนังสือความรู้อื่น ๆ มาอ่านให้ลูกฟัง พร้อมกับคุณพ่อคุณแม่ที่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง หรือจะให้ลูกไปเลือกหนังสือด้วยตัวเอง แบบนี้ก็เป็นการกระตุ้นความอยากอ่านของลูกได้ดีทีเดียวค่ะ

สอนให้ลูกมองโลกแง่ดี คิดบวก

ก่อนจะสอนให้ลูกคิดบวก คุณพ่อคุณแม่ควรตอบสนองลูกในเชิงบวกก่อนค่ะ เพื่อที่ลูกจะได้เรียนรู้ว่า “ความคิดเชิงบวก” คืออะไร และทำอย่างไร เพราะการกระทำย่อมมาจากความคิด ดังนั้น ถ้าคิดดี คิดบวก เหล่านี้ก็จะแสดงออกมาทางพฤติกรรมค่ะ

ให้ความรัก แสดงความรักกับลูก

รักลูกไหม?” ถ้ารักก็แสดงความรักกับลูกเต็มที่เลยค่ะ แต่ต้องรักให้ถูกทางนะคะ การแสดงความรักที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลยก็คือ การกอดเขา หอมเขา เท่านี้ลูกก็สัมผัสได้ถึงความรักที่คุณพ่อคุณแม่มีให้แล้วค่ะ

ดูแลเรื่องโภชนาการให้ลูก

เด็ก ๆ ควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่ร่างกายต้องการเพียงพอ โดยเฉพาะสารอาหารที่จำเป็นต่อสมอง อย่างโอเมก้า 3 และ DHA เพราะเป็นสารอาหารที่ส่งเสริมการทำงานของสมองให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ใช้เทคโนโลยีให้เป็น

คงปฏิเสธไม่ได้ว่ายุคนี้อะไร ๆ ก็ทำผ่านแอพพลิเคชั่น การเรียนรู้ก็สามารถเรียนผ่านแอพพลิเคชั่นได้เช่นกัน เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ควรจำกัดเวลาดู และเลือกแอพพลิเคชั่นที่เหมาะกับลูกน้อย เท่านี้ก็สามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์แบบสูงสุดได้ค่ะ และเมื่อผนวกกับ “9 เทคนิคสอนลูกพูดภาษาอังกฤษได้ง่าย ๆ” แบบนี้ลูกเป็นเด็กสองภาษาได้แน่นอนค่ะ

แม่โน้ตใช้เทคโนโลยีนี้ในการฝึกน้องมินให้เป็นเด็ก 2 ภาษาค่ะ ซึ่งได้ผลดีทีเดียว เมื่อน้องมินดูคลิปนั้น ๆ ปุ๊บ เขาสงสัยว่าคำนั้นแปลว่าอะไรเขาก็จะถามแม่โน้ต คือที่ได้แน่ ๆ ก็จะเป็นทักษะการฟัง คำศัพท์ และสำเนียงในการพูดค่ะ


อยู่บ้าน จะสอนเริ่มสอนภาษาอังกฤษให้ลูกอย่างไรดี? พบกับ 9 เทคนิคที่จะทำให้คุณแม่สอนภาษาอังกฤษให้ลูกน้อยได้ง่าย ๆ ที่บ้าน คลิกที่นี่

ชื่นชม ให้กำลังใจลูก

บางครอบครัวกลัวว่าถ้าชมลูกแล้วลูกจะเหลิง แต่รู้หรือไม่คะว่าผลเสียของการไม่ชมลูกเลย จะส่งผลให้ลูกเป็นเด็กที่มี Self-esteem ต่ำ เมื่อโตขึ้นเขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่เรียกร้องความสนใจ ต้องการแต่ความรัก และอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ การชื่นชมลูกควรชื่นชมแต่พอควรค่ะ ไม่ได้ถึงขนาดว่าต้องให้รางวัลกันทุกครั้งไปนะคะ

แม่โน้ตก็ชมน้องมินค่ะ ชื่นชมแต่พอควร การชื่นชมลูก ไม่ใช่การเอาลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่น และด้อยค่าคนอื่น เพื่อให้ลูกเราดูดี แต่แม่โน้ตใช้วิธีเทียบกับพัฒนาการที่ผ่านมาของตัวน้องมินเองค่ะ แค่นี้เขาก็รู้สึกภูมิใจแล้วค่ะ

วิธีเลี้ยงลูกให้อารมณ์ดีด้วยเสียงหัวเราะ

อยากให้ลูกเป็นเด็กดีมีอารมณ์ขัน ฉลาด คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ ดังนี้ค่ะ

เล่นจ๊ะเอ๋

คุณพ่อคุณแม่สามารถเล่นจ๊ะเอ๋ได้ง่ายๆ เลยค่ะ เพียงแค่ใช้ผ้าหรือมือ ปิดหน้า พอเปิดหน้าก็จ๊ะเอ๋กับลูก แรกๆ ลูกอาจจะงง ๆ นิ่งๆ เพราะเด็กทารกเค้าจะเข้าใจแค่ว่าเมื่อไม่เห็นหน้าคุณพ่อคุณแม่ แสดงว่าไม่อยู่ แต่เมื่อลูกเริ่มคุ้นเค้าก็จะเริ่มหัวเราะส่งเสียงดังเองค่ะ

เป่าพุงนุ่มๆ

คุณพ่อคุณแม่ลองเป่าพุงลูก พร้อมทำเสียงประหลาด ๆ ลูกก็จะรู้สึกลุ้นว่าคุณพ่อคุณแม่จะเป่าเมื่อไหร่ แล้วจะมีเสียงไหม เท่านี้ก็เรียกเสียงหัวเราะได้แล้วล่ะค่ะ

ทำเสียงตลก

การทำเสียงตลกแบบหลากหลายเสียง ลูกๆ ก็ขำได้เช่นกันค่ะ ผู้เขียนเองก็ลองทำเสียงบีทบ็อกซ์ ซึ่งก็ทำไม่เป็นหรอกค่ะ แต่ก็ทำเพื่อให้เค้าได้หัวเราะ ก็ได้ผลนะคะ ทีนี้เค้าทำตามเลย^^ กางมือเอาไปปิดปากตัวเอง แล้วพ่นลมออกมา บางทีก็มีน้ำลายกระเซ็นพอเป็นกระสัย

ฟัดตัวลูก

ขณะที่คุณพ่อคุณแม่กำลังฟัดตัวลูกนั้น อาจทำเสียง “ง่ำ ๆ ๆ” ไปด้วยก็ได้นะคะ แกล้งทำให้ลูกได้ลุ้นว่าคุณพ่อคุณแม่จะง่ำส่วนไหนต่อไป ซึ่งง่ำแขน ง่ำขา ง่ำนิ้วมือ ฯลฯ ก็ได้หมดค่ะ

จั๊กจี้

แรก ๆ คุณพ่อคุณแม่อาจจั๊กจี้ในจุดที่ลูกชอบหัวเราะก็ได้นะคะ แล้วค่อยผลัดเป็นเอื้อมมือไปตรงโน้นที ตรงนี้ที ลูกก็จะลุ้นไปเอง เพราะไม่รู้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะจั๊กจี้เค้าตรงจุดไหน ข้อนี้อาจทำให้หัวเราะกันเหนื่อยทั้งคุณพ่อคุณแม่และคุณลูกก็ว่าได้นะคะ

ปูไต่

ปูไต่จะให้สนุก ต้องลองไต่ที่สีข้าง หลัง หรือเท้าค่ะ รับรองได้ผล

ใช้ของเล่นบีบมือที่มีเสียง

ของเล่นที่ว่านี้ส่วนมากจะเป็นยาง ที่เวลาปล่อยมือจากการบีบจะมีลมเข้าไปข้างในของของเล่น ทำให้มีเสียง เดี๋ยวนี้ของเล่นแบบนี้มีให้เลือกหลายแบบค่ะ นับเป็นการฝึกพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก (มือ) ให้กับลูกด้วยนะคะ

หม่ำนิ้วเด็ก

บางทีคุณพ่อคุณแม่เกิดอาการหมั่นเขี้ยวลูก ก็สามารถเล่นกับลูกได้ด้วยการเม้มปากแล้วหม่ำนิ้วลูกเล่น ไล่ไปทีละนิ้ว จนตอนนี้ลูกผู้เขียนเองบางทีเค้าก็เอานิ้วเข้าปากผู้เขียนเองก็มีค่ะ เค้าอยากเล่นอีก^^

พากย์เสียงสัตว์ต่าง ๆ

บ้านไหนมีสัตว์ที่เป็นของเล่นหรืออาจเป็นการเล่านิทานก็ได้ค่ะ ให้คุณพ่อคุณแม่ลองทำเสียงสัตว์หรือทำเสียงของตัวละครที่แตกต่างกันไป เด็ก ๆ จะเกิดความสนใจเพราะความแตกต่างของเสียงจะมีระดับสูงต่ำไม่เท่ากัน นอกจากจะสร้างเสียงหัวเราะให้กับลูกได้แล้ว ยังช่วยเสริมสร้างสมาธิให้กับลูกได้อีกด้วยค่ะ

เมื่อลูกมีพื้นฐานทางอารมณ์ที่ดี มีพัฒนาการทางสมองที่พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ลูกก็จะสนุกกับการเรียนรู้ ซึ่งทำให้ลูกความฉลาดได้นั่นเอง