Site icon คุณแม่ลูกอ่อน

วิธีเพิ่มน้ำนมแม่ ด้วยเทคนิค 4 ดูด และความเข้าใจผิดว่าน้ำนมน้อย

วิธีเพิ่มน้ำนมแม่ ด้วยเทคนิค 4 ดูด และความเข้าใจผิดว่าน้ำนมน้อย

หนึ่งในหลาย ๆ อย่างเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกที่ทำให้คุณแม่กังวลไม่น้อยเลยก็คือ เรื่องของ “น้ำนม” คุณแม่หลายคนกังวลว่าน้ำนมจะไม่พอ หรือบางครั้งก็เข้าใจไปเองว่าน้ำนมไม่พอซึ่งวันนี้เราจะมาดูกันค่ะว่า “น้ำนมน้อย” นั้น แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร พร้อมกับ “เทคนิค 4 ดูด” จาก นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กันค่ะ

น้ำนมแม่น้อย จริงหรือ?

คุณแม่บางคนเข้าใจว่าตัวเองมีน้ำนมน้อย ไม่พอเลี้ยงลูก จนส่งผลให้เกิดความเครียด คราวนี้ล่ะน้ำนมน้อยจริงเลย แต่ความจริงแล้วคือ…

เพราะเต้านมไม่คัด ไม่เจ็บ จึงเข้าใจว่าไม่มีน้ำนมหรือน้ำนมน้อย

ร่างกายของมนุษย์แม่มีความมหัศจรรย์ค่ะ เพราะร่างกายจะมีการปรับตัวทางด้านการผลิตน้ำนมตามความต้องการของลูกน้อยค่ะ เรียกได้ว่าถ้าเต้านมมีการกระตุ้นไม่ว่าจะเป็นการดูดหรือการปั๊มบ่อยและมาก น้ำนมก็จะผลิตออกมามาก กลับกันค่ะ ถ้าเต้านมถูกกระตุ้นน้อย น้ำนมก็จะผลิตออกมาน้อย

ลูกหลับคาเต้า ทั้งที่ยังไม่อิ่ม เมื่อตื่น จึงร้องเพราะหิว

เรียกได้ว่าเด็กส่วนใหญ่มักจะหลับคาเต้า แม้ยังกินไม่อิ่ม ซึ่งวิธีสังเกตว่าลูกกินอิ่มหรือยัง ให้ดูว่าลูกหลับและคายเต้าออกมาไหม ถ้าคายออกมาแสดงว่าอิ่มแล้ว แต่ถ้าลูกหลับแต่ยังไม่คายเต้า หรือเพียงแต่อมหัวนมค้างไว้ แสดงว่าลูกยังกินไม่อิ่มค่ะ ให้คุณแม่กระตุ้นลูกน้อยด้วยวิธีนี้ค่ะ

  • ใช้นิ้วชี้เขี่ยริมฝีปากล่างของลูกเบา ๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกดูดต่อ หรือ
  • ใช้นิ้วเขี่ยแก้มเบา ๆ พร้อมเรียกชื่อลูกไปด้วย
  • แต่ถ้าลูกหลับและไม่ยอมปล่อยเต้า ให้เอาลูกออกจากเต้าก่อน ปลุกให้ตื่น หลังจากตื่นแล้วค่อยเอาเข้าเต้าอีกครั้ง

สาเหตุที่ทำให้น้ำนมแม่น้อย

คราวนี้เรามาดูกันค่ะว่าสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้น้ำนมแม่น้อย มีอะไรบ้าง

  • ให้ลูกเข้าเต้าเพื่อดูดการผลิตน้ำนมช้าเกินไป
  • ลูกเข้าเต้าผิดวิธี โดยที่ลูกงับแค่หัวนม งับไม่ถึงลานนม

ถ้าเป็นแบบนี้ในระยะยาว จะส่งผลให้หัวนมคุณแม่แตกและเจ็บได้ค่ะ

  • ให้ลูกเข้าเต้าน้อยเกินไป โดยต่ำกว่าวันละ 8 ครั้ง โดยมากมักเกิดกับเด็กที่กินนมผสมด้วย ซึ่งการให้ลูกดื่มน้ำหลัง กินนมจะทำให้ลูกอิ่มเร็ว หรือเด็กที่มีอายุครบ 6 เดือน คุณแม่ต้องให้อาหารเสริม ทำให้ลูกเข้าเต้าน้อยลง น้ำนมก็ผลิตได้น้อยตามไปด้วย
  • คุณแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน เมื่อกลับมาบ้านการปั๊มนมก็น้อยลงไป หรือปั๊มออกน้อยเกินไป หรือทิ้งระยะการปั๊มนมนานเกินกว่า 3 – 4 ชั่วโมง
  • เกิดจากความเหนื่อย ความเครียด และความกังวล รวมถึงกินอาหารน้อยเกินไป
  • คุณแม่กินยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่เป็นฮอร์โมนรวม ในระยะ 6 เดือนแรกหลังคลอด

เทคนิค 4 ดูด เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนมแม่

ดูดเร็ว

ลูกที่เมื่อคลอดออกมาใหม่ๆ แนะนำให้ดื่มน้ำนมแม่ให้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี (เอาว่าเมื่อคุณแม่พร้อมด้วยนะคะ) เพราะน้ำนมแรก หรือ ที่เราเรียกกันทั่วไปว่า “น้ำนมเหลือง หรือ โคลอสตูม (Colostrum)” นั้น มีประโยชน์มาก ๆ (มากล้านตัว^^) ลูกยิ่งรับส่วนนี้ไปมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดีต่อลูกมากเท่านั้น เพราะเป็นส่วนที่เสริมสร้างร่างกายให้เติบโตแข็งแรงและสร้างภูมิต้านทานโรคได้อย่างดีเยี่ยมทีเดียว

ดูดบ่อย

ปกติแล้วทารกจะมีกระเพาะที่เล็กมากอยู่แล้ว ดังนั้น เค้าจะหิวบ่อยประมาณทุก 2-3 ชม. หรืออย่างน้อยวันละ 9 ครั้ง ดังนั้น จึงเป็นโอกาสให้คุณแม่ขยันเอาลูกเข้าเต้าบ่อย ๆ หรือลูกหิวเมื่อไหร่ก็ให้เอาเข้าเต้าทันทีแรกๆ น้ำนมอาจไม่ค่อยเยอะ ไม่เป็นไรค่ะ ให้ลูกช่วยดูดกระตุ้นบ่อย ๆ น้ำนมก็จะเริ่มผลิตขึ้นมาได้เยอะเอง หรือ…หากก่อนที่จะเอาลูกเข้าเต้าให้คุณแม่นำผ้าชุบน้ำอุ่น ประคบรอบเต้าคลึงเบาๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้น้ำนมไหลเวียนดี ลูกก็จะดูดได้ง่ายขึ้นค่ะ

ดูดถูกวิธี

ขณะที่ลูกอ้าปากจะเข้าเต้าคุณแม่นั้น ให้คุณแม่จัดการดูดให้ถูกต้อง โดยให้ลูกงับเข้าไปถึงลานนม ซึ่งเหงือกจะอยู่ในตำแหน่งที่สามารถกดรีดตรงกระเปาะน้ำนมใต้ลานนมได้ ลิ้นอยู่ที่ใต้ลานนม ริมฝีปากลูกไม่เม้มเข้า ซึ่งขณะที่ดูดเหงือกจะขยับเข้าหากันกดลงบนลานนมเป็นจังหวะ น้ำนมจะไหลเข้าปาก คุณแม่จะได้ยินเสียงกลืนน้ำนมเบา ๆ

“ถ้าหากลูกไม่งับเข้าไปถึงลานนมจะเกิดอะไรขึ้น?”

หากลูกงับไปไม่ถึงลานนมแล้วดูดนมแม่ จะทำให้ลูกดูดนมได้น้อยเหนื่อย หงุดหงิด สุดท้ายลูกจะร้องไห้ เพราะไม่อิ่ม ส่วนคุณแม่…นาน ๆ ไปอาจทำให้หัวนมแตกได้ เพราะเหงือกลูกจะขบกับหัวนม จะเจ็บมากทำให้ไม่สามารถให้นมลูกได้ค่ะ

ดูดเกลี้ยงเต้า

โดยทั่วไปคุณแม่ควรให้ลูกได้ดูดนมเข้าเต้า 8-12 ครั้งต่อวัน และข้างละประมาณ 10-20 นาที โดยให้ดูดทีละข้าง ให้ลูกดูดจนกว่าเต้าจะนิ่ม หากลูกไม่อิ่มค่อยเปลี่ยนมาให้อีกข้างหนึ่ง
แต่หากลูกอิ่มได้ในเต้าเดียว แต่คุณแม่รู้สึกว่านมยังมีนมอยู่ ในมื้อต่อไปให้ลูกเริ่มดูดจากเต้าที่ค้างไว้ก่อน เพื่อให้ลูกได้รับคุณค่าของนมแม่อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนหัว ส่วนกลาง และส่วนท้ายของนม

วิธีสังเกตว่าลูกอิ่มหรือไม่

คุณแม่มือใหม่อาจจะยังไม่แน่ใจหรือไม่รู้ว่าลูกที่ทานนมแม่ไปนั้นอิ่มดีหรือเปล่า ให้สังเกตดังนี้ค่ะ

ถ้าลูกอิ่ม

  • เต้านมแม่จากเดิมที่คัดตึง หลังลูกดูดนมแล้วเต้าจะนิ่มลง
  • หลังกินนม ลูกจะนอนหลับสนิท หลับสบาย
  • ไม่ตื่นมาร้องหิวระหว่างมื้อ
  • ลูกจะปัสสาวะ 6 ครั้งขึ้นไป และอุจจาระ 4-8 ครั้ง ภายใน 24 ชม.
  • ลูกที่ได้กินนมแม่จะมีน้ำหนักขึ้นโดยเฉลี่ย 18-30 กรัมต่อวัน หรือ 125-210 กรัมต่อสัปดาห์

จากทั้งหมดที่กล่าวมา วิธีในการเพิ่มน้ำนมนอกจากจะให้ลูกดูดกระตุ้นแล้วยังมีวิธีอื่น ๆ อีกนะคะ เช่น การทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นอาหารที่ช่วยกระตุ้นการผลิตน้ำนมได้ดี อย่าง หัวปลี กับ “8 เมนูหัวปลี สำหรับคุณแม่ พร้อมวิธีทำ” ใบกะเพรา หรือฟักทอง เป็นต้น ที่สำคัญคุณแม่ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ และไม่เครียดนะคะ


มีหัวปลีแต่ไม่รู้จะทำเมนูอะไรดี อยากเพิ่มน้ำนมให้ลูก? แวะทางนี้เลยค่ะกับ 8 เมนูหัวปลี สำหรับคุณแม่ พร้อมวิธีทำที่แสนง่าย คลิกที่นี่