คุณพ่อคุณแม่อาจจะเคยได้ยินมาบ้างว่า การดูแลรักษาฟันและช่องปากของลูกน้อยนั้น ควรเริ่มตั้งแต่ยังเป็นทารกอยู่ ถึงแม้ว่าทารกยังไม่มีฟันขึ้นก็ตาม หลังกินนมควรเช็ดทำความสะอาดเหงือกทุกครั้ง ดังนั้น คงไม่ต้องพูดถึงเรื่องฟันซี่แรกซึ่งคุณพ่อคุณแม่ยิ่งต้องใส่ใจทำความสะอาดมากกว่าที่เคย และเมื่อโตขึ้น ลูกสามารถทานขนม หรือของหวานได้แล้ว เรายิ่งต้องควรใส่ใจลูกมากขึ้นไปอีก เรื่องของการ “เคลือบฟลูออไรด์” จึงมีส่วนสำคัญ แล้วเราควรพาลูกไปเคลือบฟลูออไรด์เมื่อไหร่ดี? วันนี้เรามีข้อมูลมาแนะนำค่ะ
สารบัญ
ฟลูออไรด์ คืออะไร
ฟลูออไรด์ นับเป็นแรธาตุชนิดหนึ่งที่มีประสิทธิภาพมากในการช่วยป้องกันฟันผุ พบได้ในธรรมชาติ ไม่ว่าจะในดิน หิน น้ำ โดยเฉพาะหากเป็นน้ำบาดาล รวมไปถึงในอาหาร อาทิ ใบชา, เนื้อสัตว์, ผัก และอาหารทะเล เป็นต้น
พฤติกรรมลูกที่ควรพาลูกไปเคลือบฟลูออไรด์
หากคุณพ่อคุณแม่มีลูกที่มีพฤติกรรมเหล่านี้ ได้เวลาแล้วที่จะต้องพาลูกไปเคลือบฟลูออไรด์ มีอะไรบ้าง ไปดูกัน
ทำความสะอาดฟันและช่องปากได้ไม่ทั่วถึง
บางครั้งแม้อาจจะเห็นว่าลูกเราก็แปรงฟันนานอยู่นะ แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกจะแปรงฟันหรือทำความสะอาดได้ทั่วถึง คุณพ่อคุณแม่ต้องเช็คช่องปากลูกน้อยทุกครั้งหลังที่ลูกแปรงฟันเองค่ะ
มีประวัติเสี่ยงต่ออาการฟันผุ
ได้แก่ มีพฤติกรรมที่ชอบทานอาหารหวาน, ขนมหวาน หรือน้ำอัดลมเป็นประจำ
วิธีการแปรงฟันที่ผิดวิธี
การแปรงฟันที่ผิดวิธี อาจส่งผลให้ยังมีเศษอาหารติดอยู่ตามซอกฟัน หรือร่องเหงือก เป็นเหตุให้ลูกน้อยฟันผุ หรืออาจเกิดอาการเหงือกอักเสบได้
ไม่ได้มีการพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
จริง ๆ แล้ว เรื่องของการพบทันตแพทย์ ควรกระทำทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แต่คนส่วนใหญ่ละเลย จะไปพบแพทย์อีกทีก็คือไม่ฟันผุ ก็อุดฟัน
เคลือบฟลูออไรด์ได้ตอนกี่ขวบ
คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกไปพบทันตแพทย์และเคลือบนฟลูออไรด์ได้เมื่ออายุได้ 6 ปี ขึ้นไปค่ะ ซึ่งหลังจากนี้แพทย์ก็เป็นผู้ให้คำแนะนำกับคุณพ่อคุณแม่ต่อไปค่ะ
ควรเคลือบฟลูออไรด์บ่อยแค่ไหน
- ควรพาลูกไปเคลือบฟลูออไรด์ทุก ๆ 6 เดือน หรือตามที่แพทย์นัดค่ะ
- หากพฤติกรรมลูกมีความเสี่ยงที่จะเกิดฟันผุ คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกน้อยไปเคลือบฟลูออไรด์ได้มากกว่า 2 ครั้ง ต่อ ปี หรือขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์อีกเช่นกันค่ะ
เคลือบฟลูออไรด์ มีกี่ประเภท เหมาะกับอายุเท่าไหร่
ทั่วไปแล้วฟลูออไรด์สำหรับเด็กจะมีอยู่ 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
ฟลูออไรด์แบบเจล (Fluoride Gel)
ทันตแพทย์จะบีบเนื้อครีมฟลูออไรด์แบบเจลลงไปในถาดเคลือบที่มีลักษณะโค้งตามรูปฟัน จากนั้นให้ลูกน้อยกัดไว้เป็นเวลาประมาณ 1-4 นาที ขึ้นอยู่กับประเภทของฟลูออไรด์ ระหว่างการเคลือบฟันนี้ก็จะมีที่ดูดน้ำลายใส่ในปากตลอดเวลาของการกัดถาดเคลือบ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กกลืนฟลูออไรด์ส่วนเกินลงไป สำหรับฟลูออไรด์ประเภทนี้เหมาะกับเด็กที่มีอายุมากกว่า 6 ปี ขึ้นไป หรือเด็กที่ให้ความร่วมมือในการเคลือบฟันเป็นอย่างดี
ฟลูออไรด์แบบวานิช (Fluoride Varnish)
เริ่มจากทันตแพทย์จะขัดฟันของลูกน้อยให้สะอาดก่อน พร้อมกับเช็ดฟันให้แห้ง จากนั้นจะใช้คัตต้อนบัดหรือแปรงเล็ก ๆ ทาฟลูออไรด์วานิชลงที่ผิวฟัน โดยจะทาทุกซี่ ทุกด้าน โดยจุดที่เริ่มมีรอยผุ แพทย์จะเน้นให้เป็นพิเศษ ฟลูออไรด์ประเภทนี้เหมาะกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี หรือเด็กเล็กที่ยังกลัว หรือไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับแพทย์ค่ะ
ข้อปฏิบัติหลังเคลือบฟลูออไรด์
หลังการเคลือบฟลูออไรด์แล้ว ยังมีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้
จะกลืนน้ำลาย หรือบ้วนทิ้งก็ได้
หลังเคลือบฟลูออไรด์แล้ว จะกลืนน้ำลายก็ได้ หรือหากต้องการบ้วนน้ำลายทิ้งควรทิ้งระยะเวลาที่ 30 นาทีขึ้นไปก่อน จึงจะสามารถบ้วนน้ำหรือดื่มน้ำได้
งดน้ำและอาหาร 30 นาที
หลังเคลือบฟลูออไรด์แล้ว ควรงดน้ำและอาหารเป็นเวลา 30 นาที เพื่อคงความเข้มข้นของฟลูออไรด์ไว้ที่ผิวฟันก่อน และฟลูออไรด์ก็จะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
กรณีเคลือบฟลูออไรด์วานิช
ควรเลี่ยงอาหารที่มีความแข็ง หรืออาหารที่ต้องเคี้ยว เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ทานหได้เฉพาะอาหารอ่อน หรือน้ำ พร้อมกับเลี่ยงการแปรงฟัน หรือใช้ไหมขัดฟัน ทั้งก่อนนอนและระหว่างวัน ซึ่งจะเริ่มแปรงฟันได้ก็คือ วันถัดไป
การเคลือบฟลูออไรด์ไม่มีความเจ็บแต่อย่างใดค่ะ เพียงแต่เสียงร้องของลูกน้อยมากกว่าที่ทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ใจสั่น การเคลือบฟลูออไรด์และการได้เข้าพบทันตแพทย์จะช่วยให้สุขภาพฟันและช่องปากของลูกน้อยมีสุขภาพดี ไม่ผุก่อนวัยอันควร อย่าลืมพาลูกน้อยไปพบทันตแพทย์กันนะคะ