ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ไม่ว่าจะตั้งวางอยู่ที่ไหนก็ถือว่าเป็นของสำคัญและจำเป็นกันทั้งนั้นแต่ถ้าเกิดถูกทำลายให้เสียหายแน่นอนว่าคุณน่าจะเคืองอยู่ไม่น้อยแต่จะทำอย่างไรดีเมื่อคนที่ทำลายข้าวของเหล่านั้นกลับเป็นลูกของคุณเองแถมบางทียังอาจจะลามปามไปทำลายข้าวของคนอื่นให้คุณต้องตามขอโทษขอโพยและรับผิดชอบกับความเสียหายกันแทบไม่ทัน
นิสัยแบบนี้จะปล่อยเอาไว้แล้วตามมารับผิดชอบเรื่อยๆ คงจะไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องอย่างแน่นอน แล้วจะรับมืออย่างไรดีเพราะบางครั้งคุณก็ไม่สามารถที่จะควบคุมลูกได้ตลอดเวลา เอาล่ะ! ปัญหานี้คือเรื่องราวเร่งด่วนที่ควรต้องรีบได้รับการแก้ไข…มาเริ่มกันเลยดีกว่า
มารู้สาเหตุของพฤติกรรมนี้กันก่อน
การทำลายข้าวของนั้นส่วนใหญ่แล้วจะมาจากอารมณ์โมโหของลูกนั่นเองซึ่งเขาอาจจะทำลายข้าวของที่อยู่ใกล้ๆ ตัวหรือของเล่นของเขาเองก็อาจจะโดนไปด้วยซึ่งจะเป็นสิ่งที่เรามักจะพบเห็นกันในเด็กหลายๆ คน แต่แน่นอนว่ามันก็ไม่ใช่สิ่งปกติที่จะนิ่งนอนใจกับมันได้อย่างแน่นอน
สาเหตุอาจจะมาจากหลายสาเหตุทั้งในส่วนของสมาธิของเด็กๆ ที่เขาอาจจะมีโอกาสเป็นโรคสมาธิสั้น หรือเกิดจากการเรียนรู้ซึมซับพฤติกรรมจากสิ่งรอบตัว รวมทั้งเกิดจากการเลี้ยงดูของคุณพ่อคุณแม่ไม่ว่าจะเป็นการโมโหร้ายแบบนี้ให้ลูกเห็นหรือการตามใจลูกมากจนเกินไปนั่นเอง ซึ่งทั้งหมดทำให้เขากลายเป็นเด็กที่ไม่รู้จักกับการรอคอยและรับไม่ได้เริ่มทำลายข้าวของเมื่อทุกอย่างไม่เป็นดังใจ
แล้วจะรับมือกันอย่างไรดี?
หลังจากที่ได้ลองทบทวนดูแล้วว่าสาเหตุของการชอบทำลายข้าวของของลูกนั้นน่าจะเกิดมาจากสาเหตุอะไรกัน…ที่นี้ก็มาถึงเวลารับมือกับมันอย่างถูกต้องแล้ว
- เริ่มจากให้พฤติกรรมรุนแรงต่างๆ ที่อยู่รอบตัวลูกอย่างเช่น ภาพยนตร์ ละคร สื่อต่างๆ เป็นต้นและรวมไปทั้งพฤติกรรมรุนแรงของคนภายในบ้านหายไปและห่างไกลจากการรับรู้ของลูกมากที่สุดเพื่อที่จะเป็นการป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบต่างๆ ของลูกนั่นเอง
และก็ควรป้อนข้อมูลรวมทั้งพยายามหาตัวอย่างของพฤติกรรมที่ดีและเหมาะสมมาไว้รอบๆ ตัวลูกให้เขาค่อยๆ ได้ซึมซับมันเข้าไปพร้อมกันคำสั่งสอนจากคุณพ่อคุณแม่ด้วย เด็กจะเลือกทำตามคนที่เขาอยู่ใกล้บ่อยที่สุดอยู่แล้ว - คุณพ่อคุณแม่ต้องควบคุมสติได้และใช้เหตุผลมาก่อนอารมณ์เสมอไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะเครียดกับเรื่องอื่นๆ หรือต้องการจะสั่งสอนลูกก็ตามควรจะให้เหตุผลเป็นตัวนำพฤติกรรมต่างๆ ที่กำลังจะตามมาเพื่อที่จะทำให้ลูกคุ้นชินกับสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ และเริ่มเรียนรู้ว่ามันถูกต้องนั่นเอง
การที่คุณพ่อคุณแม่สั่งสอนเขาด้วยอารมณ์ทีรุนแรงจะสร้างความกลัวให้ก่อตัวขึ้นในจิตใจของเขาทีละนิดและเริ่มไว้ใจพวกคุณน้อยลงพร้อมทั้งอาจจะระแวงมากขึ้นด้วย การพยายามอธิบายให้เขาเข้าใจสาเหตุของความผิดด้วยเหตุผลสิ่งที่คุณจะได้รับจากลูกก็คือเหตุผลเช่นเดียวกัน - หากลูกยังมีพฤติกรรมทำลายข้าวของรวมทั้งโมโหร้ายเกิดขึ้นอีกขอให้คุณพ่อคุณแม่เริ่มสอนให้เขาได้รู้จักกับคำว่า “ความรับผิดชอบ” ไม่ต้องโอ๋ ปลอบ หรือด่าทอ ขอให้หันไปสอนให้เขาเกิดความเข้าใจจะเป็นการดีกว่าอย่างแน่นอน
หากเขาทำมันแตกก็ต้องสอนให้เขาเก็บกวาด หากเขาทำมันพังหากพอจะซ่อมได้ก็ควรสอนให้เขาซ่อมมันด้วยตัวเองหรือถ้ามันยากเกินจะซ่อมและเสียก็ต้องสอนให้เขาเห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่เสียไป โดยอาจจะมีการลงโทษบ้างแต่จะต้องไม่ใช้ความรุนแรงจนเกินไป จากนั้นให้โอกาสเขาเพื่อให้ปรับปรุงและแก้ไขพร้อมทั้งมอบความเชื่อใจ ความไว้วางใจพร้อมทั้งความเข้าใจให้เขาไปด้วย
อะไรคือพฤติกรรมที่ไม่ดีแน่นอนว่าไม่มีคุณพ่อคุณแม่คนไหนอยากที่จะให้ลูกของตัวเองกระทำมันอย่างแน่นอนแต่ไม่ว่าจะอย่างไร ไม่ว่าลูกจะมีพฤติกรรมเหล่านี้หรือไม่ก็ตาม การคอยหมั่นอบรมสั่งสอนเขาด้วยความรักความเข้าใจอยู่เสมอนั้นสุดท้ายแล้วมันจะส่งผลที่สวยงามให้กับครอบครัวของคุณได้อย่างแน่นอน